คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / เมื่อเทพต้องขึ้นศาล : สถานภาพ “บุคคล” ของเทพฮินดูในระบบกฎหมายอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เรื่องมัสยิดบาบรีที่เมืองอโยธยาจบลงด้วยการที่ศาลสูงสุดของอินเดียตัดสินให้ “รามลัลลา วิราชมัน” ได้ครอบครองที่ดินในจุดขัดแย้งรวม 2.77 เอเคอร์ และสามารถสร้างเทวสถานในที่ดินนั้นได้

รามลัลลานี่ไม่ใช่ใครที่ไหนครับแต่เป็น “เทวรูป” พระรามวัยเด็ก ซึ่งศาสนิกกลุ่มหนึ่งเชื่อกันว่าปรากฏขึ้นอย่างอัศจรรย์ในมัสยิดบาบรี และถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของสถานที่ประสูติของพระราม

อ่านมาถึงตอนนี้แล้วอาจงงว่าทำไมศาลถึงตัดสินให้ “เทวรูป” สามารถครอบครองที่ดินได้

เพราะในกฎหมายอินเดีย เทพเจ้าของฮินดูมีสถานะเป็น “บุคคล” ตามกฎหมายอย่างถูกต้องนะสิครับ

ระบบที่ให้เทพเจ้ามีสถานภาพบุคคลตามกฎหมาย (Juristic Person) นั้น ว่ากันว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย โดยถือว่าเทพเจ้ามีสิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สินและเทวสถาน โดยมีผู้จัดการทรัพย์สิน (The Shebait) เป็นผู้ดูแลแทนในรูปของกรรมการผู้ได้รับมอบหมาย (trustee)

ทั้งนี้ เข้าใจว่า อังกฤษอ้างถึงกฎหมายและธรรมเนียมฮินดูที่มีมาแต่เดิม กล่าวคือ ตั้งแต่สมัยโบราณ ตามระบบความเชื่อของฮินดูเอง เมื่อเทวาภิเษกเทวรูปแล้ว รูปเคารพนั้นจะไม่ได้เป็นเพียงก้อนหินดินทราย

แต่เป็น “ภควาน” คือเป็นเทพเจ้า

 

เชื่อกันว่าเทพเจ้าของฮินดูมีอารมณ์ความรู้สึก เจตจำนง และรู้คิด อันเป็นลักษณะของบุคคลเช่นเดียวกับมนุษย์ มีร้อนมีหนาวและต้องการการปรนนิบัติ

ดังนั้น นับตั้งแต่สมัยโบราณ กษัตริย์อินเดียจึงได้ยกที่ดิน ทรัพย์สินมีค่าและช้างม้าข้าไท ฯลฯ ถวายแก่เทพไว้ สมบัติเหล่านี้เป็นของเทพโดยตรง

แต่ผู้ปรนนิบัติทำหน้าที่ดูแลเท่านั้น ไม่อาจครอบครองทรัพย์สินเหล่านั้นได้เอง

แต่บุคคลตามกฎหมายนี้ไม่รวมเอาศาสนสถานและรูปเคารพของศาสนาอื่นๆ เช่น มัสยิด และโบสถ์คริสต์ รวมทั้งไม้กางเขนของพระเยซูครับ เพราะไม่อาจนับเป็น “บุคคล” ตามกฎหมายได้

เนื่องจากในหลักเทววิทยาของศาสนาเหล่านี้ (คือกลุ่มศาสนาอับบราฮัม อันได้แก่ ยูดาห์ คริสต์ อิสลาม) พระเจ้าไม่ได้สิงสถิตในรูปเคารพ

ทั้งนี้ พระบัญญัติสิบประการของยิวในข้อแรก “สูเจ้าจงอย่าบูชารูปเคารพ” นั้นบอกไว้ชัด รูปเคารพหรือศาสนสถานจึงไม่มีสถานภาพบุคคลโดยหลักของศาสนาเอง

ผิดกับฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่ “บูชารูปเคารพ” เชื่อว่ารูปเคารพทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นมีเทวานุภาพ มีชีวิต (เว้นแต่สำนักอารยสมาชหรือบางสำนักที่ไม่บูชารูปเคารพ เพราะตีความว่า ในสมัยพระเวทไม่มีการบูชารูปเคารพ) อีกทั้งในระบบกฎหมายอินเดียยังยอมรับว่า พระคัมภีร์ “คุรุครันถะสาหิพ” ของชาวสิกข์ โดยนับเป็นบุคคลตามกฎหมาย เนื่องจากพระศาสดาโควินทสิงห์ ได้กำหนดให้พระคัมภีร์เป็น “คุรุตลอดกาล” ของชาวสิกข์

ตามหลักกฎหมาย บุคคลมีสองลักษณะ คือ บุคคลตามธรรมชาติ (Natural Person) ซึ่งหมายถึงมนุษย์

และ บุคคลในทางกฎหมาย (Juristic Person/ Legal Person) ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าสิ่งใดสามารถเป็นบุคคลตามกฎหมายเพื่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ในทางคดีความ

เทพเจ้าฮินดู (ซึ่งมีตัวแทนเป็นเทวรูปต่างๆ) จะถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายของอินเดียได้นั้น มีเงื่อนไขที่สำคัญอยู่ เพราะมิใช่เทวรูปทุกองค์จะเป็นบุคคลตามกฎหมายได้

แต่เทวรูปที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นบุคคลต้องตั้งอยู่ในสถานที่อันเป็นสาธารณะและสาธารณชนเข้าถึงได้

อีกทั้งยังต้องผ่านพิธี “ปราณประติษฐา” หรือการเทวาภิเษกใส่ “ปราณ” ให้มีชีวิตขึ้นมาแล้วเท่านั้น

 

เมื่อมีสถานภาพบุคคลตามกฎหมายแล้ว เทพเจ้าจะมี “สิทธิ” บางอย่างตามกฎหมายด้วย

สิทธินั้นได้แก่

สิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สิน เทพเจ้ามีสิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินที่มุ่งเจาะจงถวายให้กับเทพเจ้าโดยเฉพาะ พราหมณ์ผู้บูชาหรือกรรมการมีหน้าที่เพียงพิทักษ์ดูแลทรัพย์สินนั้น ไม่สามารถอ้างความเป็นเจ้าของเหนือทรัพย์สินนั้นได้

อย่างที่สอง เมื่อมีสิทธิที่จะครอบครองทรัพย์สิน เทพเจ้าจึงมีสิทธิที่จะต้องเสียภาษีด้วย กล่าวคือ หากทรัพย์สินที่เทพเจ้าครอบครองนั้นก่อให้เกิดรายได้ เทพเจ้าก็มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย โดยกรรมการหรือผู้พิทักษ์ดำเนินการแทน

อันนี้น่าสนใจครับ คือกรณีของอินเดียซึ่งเป็นรัฐแบบฆราวาสวิสัย (อย่างน้อยก็ระบุในรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ฉบับเดียวไม่เคยโดนฉีกหรือรัฐประหารเลย) องค์กรทางศาสนาจึงมิได้เป็นองค์กรของรัฐ แต่ดำเนินการในรูปองค์กรเอกชน ซึ่งมีระบบระเบียบรวมทั้งการเสียภาษีให้รัฐด้วย

มันสนุกตรงที่แม้แต่เทพก็ไม่เว้นนี่แหละครับ เรียกว่าโดนกันทั่วหน้าทั้งสกลจักรวาล ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร

สาม เทพเจ้ามีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้อื่นและถูกฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย กรณีที่โด่งดังที่สุดคือกรณีพระรามลัลลาแห่งเมืองอโยธยา ที่ฟ้องร้องอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ขัดแย้งมัสยิดบาบรี

และผลก็ออกมาดังที่ผมเขียนไว้ในต้นบทความ

 

ส่วนกรณีการฟ้องร้องเทพเจ้านั้น มีกรณีที่โด่งดังคือ กรณีนายจันทนะ กุมาร สิงห์ อาชีพทนายความ ต้องการฟ้องร้องพระราม จากเหตุที่พระรามกระทำไม่ดีกับสีดา (คือให้ลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์และทอดทิ้ง) ตามที่ปรากฏในรามายณะ ต่อศาลสูงรัฐพิหาร ทว่าศาลพิจารณาไม่รับคำฟ้อง เพราะบอกว่ามันไม่ใช่กรณีจริงในทางปฏิบัติ (practical) เรื่องนี้จึงตกไป

นายจันทนะบอกว่า เขาไม่ได้ต่อต้านพระรามเพราะตนเองก็เป็นฮินดูเช่นเดียวกันกับผู้ศรัทธาอื่นๆ แต่เขาเห็นว่า กรณีการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อสตรีเป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยผ่าน แม้ว่าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นนานเพียงใดก็ตาม และแกบอกว่าจะหากรณีแบบนี้อีกจากคัมภีร์โบราณต่างๆ ท่ามกลางการต่อต้านของเพื่อนทนายและคนรอบข้าง

การที่เทพจะฟ้องร้องต่อศาลได้นั้น เทพคงไม่เสด็จมาที่ศาลจริงๆ แล้วตรัสบอกผู้พิพากษาได้ ดังนั้น ในกระบวนการยุติธรรมอินเดียจึงพิจารณาให้เทพเป็นผู้เยาว์ (minor) ซึ่งจะต้องมีผู้พิทักษ์ที่ทำหน้าที่ฟ้องร้องแทน

น่าสนใจว่า ใครจะมาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์หรือผู้จัดการเพื่อฟ้องรองแทนเทพเจ้า

กฎหมายอินเดียอนุญาตให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการของเทวสถานนั้นๆ ทำหน้าที่นี้ได้

แม้เทพฮินดูจะมีสิทธิบางอย่าง แต่กฎหมายอินเดียไม่ได้รับรองสิทธิบุคคลขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญให้เทพนะครับ

มีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างอยู่คือกรณีสพรีมาลาอันโด่งดัง

 

ผมเคยเขียนถึงกรณีนี้ไปแล้ว คือ วัดสพรีมาลาของพระสวามีอัยยัปปามีกฎห้ามไม่ให้ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ขึ้นไปยังเทวสถาน เนื่องจากเชื่อว่า องค์เทพอัยยัปปาต้องการถือโสด จึงไม่ประสงค์จะให้สตรีวัยเจริญพันธุ์คนใดขึ้นไป

ผมเคยเล่าเรื่องนี้ให้คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ฟัง ท่านหัวเราะเสียงดังแล้วบอกว่า “สงสัยกลัวเทพเงี่ยน” คือตรงประเด็นแบบผมหรือใครก็ไม่กล้าพูด เพราะกลัวคนนับถือเทพจะโกรธเอา (แต่เทพท่านคงไม่โกรธกระมัง)

แต่แล้วก็มีกลุ่มสตรีกลุ่มหนึ่งไปฟ้องศาลสูงอินเดีย ว่าเรื่องนี้เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ ศาลสูงสุดจึงยกเลิกกฎข้อห้ามนี้ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลท้องถิ่น และก็มีผู้หญิงขึ้นไปจริงๆ ท่ามกลางการประท้วงจากทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายสพรีมาลาจึงไปฟ้องศาลบ้าง โดยใช้หลักว่า หากนับเทพอัยยัปปาเป็นบุคคล กรณีที่ผู้หญิงขึ้นไปสพรีมาลาควรถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว (privacy) ของเทพอัยยัปปา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน

ปรากฏว่าศาลสูงสุดไม่รับรองสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอันนี้ของเทพครับ ถือว่าเทพมีสิทธิเพียงสามอย่างตามที่ผมพูดไว้ข้างต้นเท่านั้น

 

เรื่องนี้อาจฟังดูตลกสำหรับคนนอกวัฒนธรรมอินเดียอย่างเรา แต่ระบบศาลอินเดียพิจารณาสิ่งที่เป็นรากฐานความเชื่อในวัฒนธรรมอินเดียเองด้วย โดยเฉพาะในอินเดียซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายสูง และกฎหมายต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม เรื่องเล็กๆ อย่างความเชื่อเกี่ยวกับเทพจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ในอินเดีย

อีกทั้งเทพเจ้ายังมีบทบาทในชีวิตผู้คนอยู่มาก กระทบต่อหลายสิ่ง บทบาทเหล่านี้จึงกลายเป็นข้อพิจารณาที่จะละเลยไปไม่ได้ เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของรัฐและของสังคม

ใครอยากตามประเด็นนี้แบบสนุกๆ มีภาพยนตร์อินเดียเรื่อง OMG oh my God (2012) ว่าด้วยการฟ้องร้องเทพเจ้า สนุกมากทีเดียว

ในอินเดีย เพื่อความเป็นธรรม ศาลเทพจึงต้องมาเกี่ยวข้องกับศาลของมนุษย์

ส่วนในเมืองไทย เวลาพูดเรื่องความยุติธรรม คงพึ่งได้แต่ศาลเทพกระมัง

เวรกรรม