มุกดา สุวรรณชาติ : ประชาธิปไตยแบบ 70:30 บรรลุเป้าหมายแล้ว จะปรองดองแบบไหนดี (1)

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA
AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

19 กันยายน 2549 รัฐประหาร เพราะอยากปรองดอง?
ได้ประชาธิปไตยแบบ 50:50

คมช. อ้างว่า ที่ทำรัฐประหารเพื่อหยุดการแตกแยกของสังคมไทยและกำจัดรัฐบาลทุนนิยมที่โกงกิน ยอมถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม

ถอยหนึ่งก้าวเพื่อข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง

ถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้การเมืองไทยก้าวไปสู่ธรรมาภิบาล มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ และคุณธรรม

ขั้นที่ 1 รัฐประหารโค่นทักษิณยึดอำนาจรัฐไว้ ผลักดันทักษิณให้ออกนอกประเทศ

ขั้นที่ 2 ยึดทรัพย์ทักษิณเพื่อตัดกำลังเงินและดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ทักษิณกลับมาเล่นการเมือง

ขั้นที่ 3 ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามกรรมการบริหารและนักการเมืองเล่นการเมือง 5 ปี เพื่อตัดกำลังคน และสลายองค์กร รอรับนักการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว

ขั้นที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่เป็นฝ่ายคณะรัฐประหาร

ผลการปฏิบัติจริงทำได้ 3 ขั้น

แม้ฉีกรัฐธรรมนูญเดิม 2540 ร่างใหม่ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 สามารถคัดสรร ส.ว. ได้ครึ่งหนึ่ง แต่ยังแพ้ในเกมเลือกตั้ง

พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบไป เปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน

นักการเมืองตัวเก่งของพรรคถูกตัดชื่อทางการเมืองไป 111 คน

ฝ่ายคณะรัฐประหารกุมอำนาจหมดทุกด้านและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง

แต่พรรคทักษิณในชื่อของพรรคพลังประชาชนกลับชนะการเลือกตั้ง

การรัฐประหารก็ทำประเทศถอยหลังไป 3 ก้าว (ถอยแล้ว ถอยเลยไม่เคยกลับมาที่เดิม) เมื่อบันไดขั้นที่ 4 ไม่สำเร็จ

จึงมีคำกล่าวว่า…เสียของ เพราะหลังการเลือกตั้ง ประชาชนก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชนที่แปลงกายมาจากไทยรักไทย การชิงอำนาจซ้ำจึงต้องเกิดขึ้น

เมื่อประเมินจากอำนาจทุกชนิด แม้ชนะเลือกตั้ง แต่ก็มีอำนาจเพียงครึ่งเดียว ทักษิณจึงกลับมาไทยได้เดี๋ยวเดียว ก็ต้องออกไป และรัฐบาลเลือกตั้งก็อยู่ได้ไม่นาน

อำนาจที่ก้ำกึ่งแบบ 50:50 นี้ไม่เพียงปกครองไม่ได้…รัฐบาลอาจถูกล้มได้ตลอดเวลา

 

การชิงอำนาจซ้ำ 2551
และแนวทางประชาธิปไตย 70/30

ปี2551 ภายหลังตั้งรัฐบาลของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ไม่กี่เดือน พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล แกนนำชูธงปลุกมวลชน “ร่วมสร้างการเมืองใหม่” พร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการเมืองแบบระบบรัฐสภาว่าไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติได้

การเมืองใหม่ ได้กลายเป็นวาทกรรมที่ใช้โจมตีระบบรัฐสภาของนักเลือกตั้ง ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที ช่วงที่กาบัตร

“การเมืองใหม่” ในความหมายของพันธมิตรฯ ซึ่ง สุริยะใส กตะศิลา อธิบายว่า เป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนจนในเมือง คนจนในชนบท ชนเผ่าชายขอบ พ่อค้าวาณิช นักธุรกิจชนชั้นกลาง ผู้หญิง คนพิการ คนด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น

ความสำคัญจึงไม่ใช่แค่สัดส่วนหรือที่นั่งในอำนาจนิติบัญญัติ (ส.ส.-ส.ว.) จะต้องมีองค์ประกอบและหลักประกันที่หลากหลายเท่านั้น ในขณะเดียวกันอำนาจบริหารก็ต้องมีพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นในระดับที่แน่นอนเช่นกัน (ปัจจุบัน อาจมีสภาปฏิรูป, กรรมการยุทธศาสตร์)

เมื่อใช้อำนาจ คมช. และรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วยังแพ้เลือกตั้ง ข้อเสนอของแกนนำพันธมิตรฯ จึงประมาณสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจว่าควรมีสัดส่วน 70:30 คือ มาจากการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นร้อยละ 70 และมาโดยวิธีการเลือกตั้งร้อยละ 30

มีเสียงคัดค้านแนวคิดนี้ดังไปทั่ว แล้วระยะหนึ่ง ทุกคนก็ลืมๆ กันไป มีเรื่องใหม่มาให้ถกเถียง แต่ในความเป็นจริง การรุกคืบของกลุ่มอำนาจเก่าเดินต่อเนื่อง

AFP PHOTO / SAEED KHAN

ตุลาการภิวัฒน์ 2551…
ไม่ปรองดอง…ยิ่งแตกแยก

ในประวัติศาสตร์การเมืองของเราทั่วไปแล้วจะไม่เห็นอำนาจตุลาการมายุ่งกับการเมืองเพราะต้องการให้เป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นกลาง

เดือนสิงหาคม 2549 ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป

ปรากฏว่า หลังจากรัฐประหาร กันยายน 2549 ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะพวกตุลาการทั้งหลายได้รับโอกาสให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เต็มที่

ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น”

ซึ่งคนทั้งโลกก็ได้เห็นการปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช จากกรณีสอนทำอาหารทางโทรทัศน์ การยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการพรรค ฯลฯ

มีคนบอกว่ายังดีกว่าใช้กำลังทำรัฐประหารซ้ำ เพราะม็อบก็ทำจนถึงขนาดยึดสนามบินแล้ว ตุลาการภิวัฒน์แบบสุกเอาเผากิน ถือเป็นทางออก

ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จ แต่ไม่ใช่บันไดขึ้นบ้าน เป็นบันไดที่ท่าน้ำสำหรับลงคลอง คือแพ้เลือกตั้ง แต่ยังได้เป็นรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เหมือนกับเป็นการประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่ารัฐบาลนี้มาจากไหน ใครสนับสนุน หลังจากการปกครองสองปี ถ้ารวมรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ รวมเวลาประมาณ 3 ปี ประชาชนจึงพบว่า การยอมถอยสามก้าวเพื่อหวังจะก้าวไปข้างหน้าพบสิ่งที่ดีกว่ากลับไม่เป็นไปตามนั้น สังคมไทยยิ่งแตกแยกกว่าเดิม

รัฐบาลผสม 3 อำนาจ…จากตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร และการเลือกตั้ง มีสภา มีผู้บริหาร แต่ก็ถูกทวงอำนาจคืนโดยการชุมนุมประท้วงของประชาชนคนเสื้อแดง จบลงที่มีการสลายการชุมนุมประท้วงด้วยอาวุธ มีคนตาย บาดเจ็บ ติดคุก สังคมไทยยิ่งแตกแยกกว่าเดิม

AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL

พรรคการเมืองใหม่ และการเลือกตั้ง 2554

พันธมิตรฯ รู้ว่า ถ้าจะช่วงชิงอำนาจรัฐ ต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง จึงตั้ง…พรรคการเมืองใหม่…ขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดยมี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว และ นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคการเมืองใหม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งครั้งแรก คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2553 โดยส่งผู้สมัคร ส.ก. ลงทั้งหมด 40 เขต จาก 61 เขตเลือกตั้ง และผู้สมัคร ส.ข. 22 เขตเลือกตั้ง จำนวน 150 คน

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจริง พรรคการเมืองใหม่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยแม้สักที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น ส.ก. หรือ ส.ข.

แรงกดดันทางการเมืองหลังปราบคนเสื้อแดง เมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 โดยใช้รัฐธรรมนูญ 2550 พวกพรรคการเมืองเก่าอย่างพลังประชาชน ชาติไทย ต้องถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง กรรมการพรรค แต่พรรคเก่าอย่าง ปชป. ไม่โดนยุบ

จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า “เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพรรคการเมืองใหม่ที่จะเป็นผู้นำในรัฐบาลผสม ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีความแตกต่างอะไรระหว่างการเมืองแบบเก่าซึ่งมีการซื้อขายเสียง สาดโคลน และการเมืองที่ใช้เงิน

แกนนำพันธมิตรฯ รายหนึ่งทำนายว่าพรรคการเมืองใหม่จะได้ที่นั่งถึง 30 ที่ในการเลือกตั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ สุริยะใสวิเคราะห์ว่า พรรคการเมืองใหม่คาดหวังว่าจะได้ 20 ที่นั่ง นักวิเคราะห์การเมืองบอกว่าไม่เกิน 10 ประชาธิปัตย์ดูจะไม่กังวลใจกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ คาดการณ์ว่าพรรคการเมืองใหม่อาจจะได้ประมาณ 7-8 ที่นั่งในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งใช้ฐานเปอร์เซ็นต์คะแนน และจะไม่ได้ที่นั่งจากระบบเขต

พรรคการเมืองใหม่ไม่ผ่านด่านความคิดและอำนาจ แตกกันก่อน จึงไม่ได้เป็นตัวแปรใดๆ ในการเลือกตั้ง 2554

AFP PHOTO / STR

ผลการเลือกตั้ง 2554
คนส่วนใหญ่แบ่งข้างชัดเจน

ผลการเลือกตั้ง 2554 ประชาธิปไตย 4 วินาที ทำหน้าที่อีกครั้ง มีบางคนมาถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งไม่ทันเวลา ถึงกับร้องไห้โฮ คนลงคะแนนคิด ถกเถียง และตัดสินใจเลือกมาเป็นเดือนแล้ว การยึดอำนาจ 2549 และการชิงอำนาจ 2551 การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับ 2550 และอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบ ไม่มีผลให้ประชาชนเปลี่ยนใจ

เพื่อไทยชนะได้เสียงเกินครึ่ง 265 (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 (11.43 ล้านเสียง) พรรคการเมืองใหม่ ไม่ได้ ส.ส. สำหรับบางคน คือ…เสียของ ยิ่งเป็นการย้ำว่าแนวทาง…สรรหา 70 ให้ประชาชนเลือก 30…ต้องเดินหน้าต่อไป

ดังนั้น รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องบริหารและปกครองในแบบมีอำนาจครึ่งเดียว จะต้องถูกล้ม ซึ่งใครๆ ก็มองว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีทางอยู่นานกว่านายกฯ สมัคร ถ้าอยู่ถึง 6 เดือนก็เก่งแล้ว

ผลการเลือกตั้ง 2554 คือเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ก็ยังมีคนไม่ยอมรับ นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ความขัดแย้งขยายไปถึงชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เรื่องทักษิณ แต่เป็นความพยายามที่จะรวบอำนาจ และไม่ให้ประชาชนตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตยอีกแล้ว

ดังนั้น แผนบันได 4 ขั้นภาค 2 จึงเริ่มอีกครั้ง แล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร (ต่อฉบับหน้า)

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT