วิรัตน์ แสงทองคำ : บทสรุปปี 2562 ธุรกิจใหญ่ แห่เข้าตลาดหุ้น

เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี ธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทยแสดงความมั่นใจ “ตลาดหุ้น”

ที่น่าสังเกต ปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งใช้เวลาพอสมควร กว่าจะได้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (10 กรกฎาคม 2562)

เปิดฉากโดยกิจการในเครือทีซีซี-บริษัท แอสเสท เวิรด์ฯ ใช้เวลาเป็นไปตามกระบวนการอย่างกระชับประมาณ 4 เดือน จากวันที่ยื่นเอกสาร (Filling) จนถึงขั้นตอนเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น (10 ตุลาคม 2562)

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (อักษรย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ) บริษัทพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลนำเสนอว่าด้วยลักษณะธุรกิจอย่างคร่าวๆ ระบุว่า AWC ถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ มีโรงแรมเปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนา 5 แห่ง และว่าได้เซ็นสัญญาซื้อโรงแรมอีก 12 แห่ง เพื่อพัฒนาในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

กลุ่มทีซีซี (ภายใต้การนำของเจริญ สิริวัฒนภักดี) กับตลาดหุ้นไทย อาจกล่าวได้ว่ากรณีบริษัท แอสเสท เวิรด์ฯ ถือเป็นกรณีแรกตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปี 2540

กรณีแรกซึ่งดำเนินการเองเพื่อนำกิจการในเครือข่ายทีซีซีเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากความพยายามครั้งสำคัญครั้งหนึ่งประสบความล้มเหลว ในกรณีบริษัทไทย เบฟเวอเรจ ในราวปี 2548 ด้วยเผชิญกระแสต้านอย่างหนัก อันเนื่องมาจากลักษณะธุรกิจ จนต้องหันเหนำบริษัทไปเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน

อันที่จริงกลุ่มทีซีซีมีกิจการในเครือข่าย เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเกือบๆ 10 แห่ง แต่ทั้งนี้ล้วนเป็นกิจการซึ่งได้มาภายหลังด้วยการเข้าครอบงำ (takeover) กิจการในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing

 

ตามมาอย่างกระชั้นชิด โดยกิจการในเครือบุญรอดบริวเวอรี่-บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมาถึงวันจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นทางการเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่เพิ่งผ่านมา

สำหรับธุรกิจครอบครัวในสังคมไทยซึ่งก่อตั้งมานานจะเข้าใกล้ศตวรรษแล้ว คงมีเพียงบุญรอดบริวเวอรี่กับตระกูลภิรมย์ภักดี เป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ อยู่กับธุรกิจดั้งเดิมและขยายตัวอย่างช้าๆ ตลอดหลายทศวรรษ เพิ่งจะขยับขยายเชิงรุกอย่างจริงจัง และแตกต่างเมื่อไม่นานมานี้เอง

ราวๆ ปี 2556-2557 ช่วงคาบเกี่ยวสังคมไทยกำลังเผชิญความผันแปรทางการเมืองอย่างมากช่วงหนึ่ง ประจวบกับช่วงเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษ บุญรอดบริวเวอรี่ ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง (22 พฤษภาคม 2557) บุญรอดบริวเวอรี่ได้ก่อตั้งบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ธุรกิจอื่น เน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

แทบจะทันที บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็นไปตามแผนการเช่นรายใหญ่นิยม เข้าซื้อกิจการซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือที่เรียกกันว่า Backdoor Listing เช่นกัน

แม้ว่าบุญรอดบริวเวอรี่คงฐานะบริษัทนอกตลาดหุ้นอย่างเคร่งครัด ทว่าก่อนหน้านั้นมีส่วนอยู่บางระดับในฐานะผู้ถือหุ้นกิจการอื่นๆ เช่น บริษัทฝาจีบ (ก่อตั้งปี 2511 เข้าตลาดหุ้นปี 2520) ร่วมทุนกับ Toyo Seikan Group แห่งญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายฝาสำหรับปิดผนึกภาชนะประเภทขวด กับอีกกรณีเพิ่งเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2561 บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์กล๊าส ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และยา

ด้วยปรากฏการณ์สิงห์ เอสเตท มุมมองเกี่ยวกับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท เดินแผนเชิงรุกอย่างมาก ดำเนินแผนการลงทุน ซื้อกิจการเพื่อขยายสินทรัพย์อย่างรวดเร็ว พิจารณาเฉพาะสินทรัพย์เติบโตกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561)

สิงห์ เอสเตท เป็นมหากาพย์ใหม่ของบุญรอดบริวเวอรี่อย่างแท้จริง ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีอย่างเต็มที่ เป็นธุรกิจซึ่งอ่อนไหวกับสถานการณ์อย่างมากด้วย นับเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายใหม่ มีทั้งธุรกิจอาคารสำนักงานพื้นที่กว่า 125,000 ตารางเมตร ที่พักอาศัยมากกว่า 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบๆ 45,000 ล้านบาท กับธุรกิจโรงแรมเกือบๆ 40 แห่ง มีจำนวนห้องมากกว่า 45,000 ห้อง

ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกข้างต้นมาจากแผนการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ ทั้งจากกิจการดั้งเดิมของคนในตระกูลภิรมย์ภักดี ลงทุนใหม่ เข้าถือหุ้นข้างมากในกิจการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ตลาดหุ้น ร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก อย่าง Hongkong Land (ในเครือข่าย Jardine Matheson)

รวมทั้งร่วมทุนเข้าซื้อกิจการโรงแรมในสกอตแลนด์ถึง 29 แห่ง (ปี 2559) ด้วยเงินลงทุน (เฉพาะฝ่ายสิงห์ฯ) 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเกือบๆ 5,000 ล้านบาท)

ไปจนถึงลงทุนในเครือข่ายโรงแรมระดับโลก (ปี 2561) Outrigger (เครือข่ายโรงแรมกำเนิดบนเกาะฮาวาย ขยายตัวมาหมู่เกาะแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย) ด้วยจำนวนเงินถึง 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 7,000 ล้านบาท)

จนมาถึงแผนการล่าสุด จากถ้อยแถลงของผู้บริหาร ด้วยแผนการขยายธุรกิจโรงแรมเชิงรุกยิ่งขึ้น “หากยังอยู่ภายใต้สิงห์เอสเตท การเติบโตอาจจะไม่เร็วมากนัก” จึงดำเนินแผนการนำธุรกิจโรงแรม ซึ่งแยกออกต่างหาก เพื่อเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือ เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ที่กล่าวถึงข้างต้น

 

กลุ่มเซ็นทรัลได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ-บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุด เดินตามแผนเข้าตลาดหุ้นเช่นกัน

จากถ้อยแถลงต่อตลาดหุ้นไทย (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ในวันซึ่งผู้คนพุ่งกระแสสนใจทางการเมือง (อภิปรายนโยบายรัฐบาลใหม่) สะท้อนแผนการใหญ่ผ่านบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท (26 กรกฎาคม 2562)

“อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น… เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน… ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Central Retail) ตามหนังสือแจ้งจาก Central Retail ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 53.83 …เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจ…”

ข้างต้นเป็นไปตามกระบวนการนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ Central Retail เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนั้นได้ยื่นเอกสารและข้อมูลเป็นทางการ (filling) ตามขั้นตอนเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (1 ตุลาคม 2562)

กลุ่มเซ็นทรัลกับตลาดหุ้นไทยเปิดฉากขึ้นเมื่อบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2533 ช่วงเดียวกับบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS (ขณะนั้นเป็นกิจการร่วมทุน) เว้นวรรคมาระยะหนึ่ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN จึงตามมาในปี 2538 กรณีเซ็นทรัล รีเทล จึงเป็นกรณีล่าสุด สำคัญที่สุด ห่างกันเกือบๆ 25 ปีเลยทีเดียว

ส่วนกรณีเอสซีจีแพคเกจจิ้งเพิ่งผ่านขั้นตอนแรกเริ่ม เพิ่งผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ยังมีกระบวนการอีกมากพอสมควร แต่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ (บางเรื่องราวเกี่ยวกับเอสซีจีแพคเกจจิ้งนำเสนอโดยละเอียดไว้ตอนก่อนๆ)

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษขณะนี้ อยู่ที่ราคาหุ้นของ AWC และ SHR