วิเคราะห์ : อุณหภูมิโลกมีแต่ทำลายสถิติขึ้นเรื่อยๆ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

บรรดานักกีฬามักจะชอบใช้คำว่า “สถิติมีไว้ทำลาย” ฟังแล้วดูดี เห็นถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของนักกีฬาและเกิดการแข่งขันสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนคลับ แต่ในมิติของสิ่งแวดล้อม ณ วันนี้ คำว่า “สถิติมีไว้ทำลาย” มีความหมายในเชิงลบ เกิดความเสียหายร้ายแรงเป็นวงกว้าง

เมื่อเร็วๆ นี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่า ผลการตรวจสอบระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อปี 2561 พุ่งสูงขึ้นถึงขั้นทำลายสถิติที่บันทึกเอาไว้อีกครั้ง

ปีที่แล้วความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ วัดได้ 407.8 ส่วนในล้านส่วนหรือพีพีเอ็ม (part per million-ppm) เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งทศวรรษที่ผ่านมา และสูงกว่าของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 405.5 ppm

เมื่อเทียบกับสถิติก่อนยุคอุตสาหกรรมเมื่อ 239 ปีที่แล้ว สูงกว่า 147 เปอร์เซ็นต์

เครือข่ายเฝ้าระวังชั้นบรรยากาศโลก (Global Atmosphere Watch network) เก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศทั่วโลก ตั้งแต่พื้นที่สุดขอบฟ้า เช่น ขั้วโลกเหนือ บนเทือกเขาสูงและเกาะกลางทะเลอันเวิ้งว้างห่างไกลผู้คน พบข้อมูลล่าสุดความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาอีกเช่นกัน

เฉพาะปริมาณก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศ ปรากฏว่าเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 259%

ก๊าซมีเทนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศโลกกว่า 60% มาจากฝีมือของคนที่ทำเกษตร เช่น ปลูกข้าวและเลี้ยงปศุสัตว์

ส่วนก๊าซไนตรัสออกไซด์บางส่วนมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร มีความเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 123% เมื่อเทียบกับปริมาณไนตรัสออกไซด์ก่อนเกิดยุคอุตสาหกรรม

ปริมาณเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศขณะนี้ มีมากเกินกว่าธรรมชาติจะบำบัดชะล้างให้เจือจางหรือหมดไปในระยะเวลาอันสั้นๆ

ก๊าซเรือนกระจกจึงกลายเป็นเหมือนแผ่นกันความร้อนครอบโลกเอาไว้

นี่เป็นที่มาของปรากฏการณ์โลกร้อน

 

ก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น มีก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกเช่นกัน แต่ปริมาณความเข้มข้นมีน้อย สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งผืนป่า ผืนดินและน้ำทะเลช่วยซับดูดก๊าซเอาไว้ลดความเข้มข้นจนไม่เกิดผลร้าย

นายเปตเตรี ตาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกกับสื่อว่า จนถึงขณะนี้ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าการสะสมตัวของก๊าซเรือนกระจกจะลดลง ทั้งๆ ที่นานาชาติส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบและเซ็นข้อความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยกเว้นสหรัฐประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี)

ตามข้อตกลงปารีส นานาชาติต้องร่วมกันควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 ํc

นายตาลาสวิงวอนชาวโลกว่า ต้องหันมาลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นจริงเป็นจังกว่าที่เป็นมา

“ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในระดับนี้ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ 3-5 ล้านปีก่อน ในตอนนั้นอุณหภูมิโลกสูงกว่านี้ 2-3 ํc และระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบัน 10-20 เมตร” นายตาลาสอ้างอิงข้อมูล

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์จาก 153 ประเทศทั่วโลกจำนวนกว่า 11,000 คน ร่วมกันลงนามสนับสนุนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด รวมทั้งออกแถลงการณ์ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ” (Climate emergency)

เหล่านักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขาวิชาชี้ว่ามนุษยชาติจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากชนิดที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมนี้ได้ หากผู้คนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก หรือละเลิกกิจกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างถอนรากถอนโคนแบบถาวร

รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับดังกล่าว ตีพิมพ์ในวารสารไบโอไซแอนซ์ (Bioscience )เป็นที่มาของการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศในครั้งนี้

รายงานชิ้นดังกล่าวรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่ยาวนานกว่า 40 ปี ครอบคลุมตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางและหลากหลาย ตั้งแต่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์, สถิติการเติบโตของประชากรโลก, การแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า, ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลก, ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ รวมทั้งเศรษฐกิจพังพินาศเพราะสภาวะภูมิอากาศวิปริต

ดร.โทมัส เอ็ม. นิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แกนนำกลุ่มผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศบอกว่า นักวิทยาศาสตร์มีความรับผิดชอบทางศีลธรรม จำเป็นต้องออกมากระตุ้นเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงหายนภัย

“จากข้อมูลที่มีอยู่ ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หากไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา เช่น บางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป” ดร.นิวซัมกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ชี้ทางออกว่า ชาวโลกควรเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้พลังงานแทนที่จะใช้ฟอสซิลก็หันมาใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยและประหยัดกว่า หรือปลูกป่าใหม่ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ลดการกินเนื้อสัตว์หันมากินพืชผัก รวมถึงการคุมจำนวนประชากรโลกไม่ให้พุ่งกระฉูดไปมากกว่านี้

 

ในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ปี 2562 หรือเรียกสั้นๆ ว่า COP 25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระหว่างนี้ถึง 13 ธันวาคม มีตัวแทนจากทั่วโลกเกือบ 200 ประเทศรวมทั้งไทยเข้าประชุมด้วยนั้นจะมีการนำเสนอข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ข้อมูลจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพื่อหาทางออกให้โลกรอดพ้นจากหายนะที่รออยู่ข้างหน้า

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะถกหาหนทางช่วยเหลือชดเชยให้กับประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและผลจากภาวะโลกร้อนอื่นๆ อย่างไรด้วย

นายอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนก่อนการประชุม COP 25 ว่า บัดนี้ชาวโลกรู้สึกและสัมผัสได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากฝึมือของคนนั้น มีผลทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูง น้ำแข็งบนขั้วโลกละลาย สร้างความเสียหายให้ผู้คน พืชพันธุ์และสัตว์ทั้งหลายอย่างมากมาย

“ภาวะโลกร้อนผ่านจุดที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ชาวโลกต้องเร่งมือแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซพิษ” เลขาฯ ยูเอ็นย้ำอีก

สำหรับผลการประชุม COP 25 จะออกมาเป็นอย่างไร นานาชาติพร้อมกันลดก๊าซพิษอย่างจริงจังจริงใจแค่ไหน คงต้องตามไปดู