จรัญ มะลูลีม : สาธารณรัฐตุรกี เออร์ดูอัน กุลเลน และรัฐประหารล่ม (2)

จรัญ มะลูลีม

เออร์ดูอัน (ต่อ)

เขาผลักดันให้ตุรกีเป็นประเทศหนึ่งใน 10 ของโลกที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในงานฉลองครบรอบร้อยปีของสาธารณรัฐใน ค.ศ.2013 เขาได้นำเสนอโครงการสาธารณูปโภคที่มีความทะเยอทะยาน รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงและอุโมงค์ใต้ดินบอสฟอรัส

อย่างไรก็ตาม สำนักประธานาธิบดีที่มีมูลค่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐที่ประกอบไปด้วยห้องจำนวน 11,150 ห้องถูกมองว่าเป็นการใช้เงินจำนวนมากแบบขาดรสนิยม และสิ้นเปลืองและพยายามรวบอำนาจ

พรรค AKP ของเขาถูกวิจารณ์ว่ามีความเป็นอนุรักษนิยมในสังคม อันเป็นจุดแตกหักกับทหาร ซึ่งถือกันว่าเป็นคู่ปรปักษ์ที่ยึดค่านิยมตามแบบรัฐฆราวาสนิยมหรืออาณาจักรนิยม

เออร์ดูอันทำให้ตุรกีต้องเผชิญกับการคุกคามและความรุนแรงด้วยระเบิดหลายครั้ง เมื่อรัฐบาลของเขาเข้าโจมตีกบฏชาวเคิร์ดทางตอนใต้ของตุรกี และ IS ในซีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของเหตุการณ์ เออร์ดูอัน ผู้เข้มแข็ง ซึ่งในอดีตเป็นผู้ห้ามการเดินขบวนตามท้องถนนและการใช้โซเชียลมีเดีย ได้กลับมาใช้การทวิตเตอร์เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาออกมาที่ท้องถนนเพื่อรวมกันกวาดล้างภัยคุกคามของการรัฐประหารที่เกิดขึ้น

ดังได้กล่าวมาแล้วเออร์ดูอันได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างรูปแบบแห่งแนวคิดอิสลามกับประชาธิปไตยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

เมื่อไม่นานมานี้พรรค AKP ของเออร์ดูอันต้องเผชิญกับวิกฤตทางการทูต ทำให้นโยบายที่เขาได้ประกาศออกมาว่าด้วย “ปัญหาเป็นศูนย์กับเพื่อนบ้าน” ไม่ได้รับการแก้ไข เขาต้องเผชิญกับการท้าทายใน ค.ศ.2017 เมื่อเขามีแผนพัฒนาสวนเกซี (Geze park) ขึ้นมาใหม่แต่ถูกประท้วงด้วยการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากตามท้องถนน

เออร์ดูอันได้ชื่อว่ามีถ้อยแถลงไม่ซ้ำแบบใครอย่างเช่นการประกาศว่าชาวมุสลิมเป็นผู้ค้นพบอเมริกาก่อนโคลัมบัสหรือการพูดว่าสตรีไม่เท่าเทียมกับบุรุษ หรือแม้แต่คำพูดที่ว่าเราจะกวาดล้างทวิตเตอร์ ฯลฯ

จนถึงเวลานี้เออร์ดูอันได้ใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษในฐานะนักการเมืองตุรกีผู้ทรงอำนาจต่อจากบิดาของตุรกี มุสฏอฟา เคมาล อะตาเติร์ก

พฤติกรรมของเออร์ดูอันหลังการรัฐประหารล่มเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.2016 เต็มไปด้วยการตอบรับที่ขาดความเหมาะสม

ซึ่งไม่ได้เป็นที่แปลกใจแต่อย่างใด

พฤติกรรมที่ออกไปในทางรวมศูนย์อำนาจปัจจุบันในรัฐบาลของเขาได้รับการตักเตือนจากหลายกลุ่มก้อนที่หวาดเกรงว่าเขาจะถือเอาโอกาสการรัฐประหารล่มครั้งนี้ไล่ล่าศัตรูและผู้วิพากษ์ตัวเขาแบบเหมารวม

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ซึ่งยังหาหลักฐานอย่างชัดเจนไม่ได้ก็คือการอ้างว่า ฟัฏตุลลอฮ์ กุลเลน นักการศาสนาคนสำคัญของตุรกีซึ่งเนรเทศตัวเองไปอยู่สหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารล่มดังกล่าว

แม้ยังหาหลักฐานอะไรได้ไม่ชัดเจนนัก แต่รัฐบาลก็จับกุมคนหลากหลายอาชีพไปแล้วราว 58,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนกุลเลน

กลุ่มก้อนของนักหนังสือพิมพ์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันไม่ให้รายงานหรือวิพากษ์ประธานาธิบดี

มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาสามเดือนทำให้เออร์ดูอันสามารถรวบอำนาจมาไว้กับตนเองได้อย่างเต็มที่

คำสั่งแรกของประธานาธิบดีก็คือการปิดสถาบันที่มีความเชื่อมโยงกับกุลเลนเพื่อนเก่าของเขาที่เคยร่วมงานกันมาเคียงบ่าเคียงไหล่ ก่อนที่จะแตกกันอันเนื่องมาจากความไม่ลงรอยว่าด้วยแนวคิดทางการเมือง การปกครองและการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะเดียวกันที่เออร์ดูอันและกุลเลนมีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายคือการยึดมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลาม แม้ว่าการตีความในการนำเอาศาสนาอิสลามมาใช้ในทางสังคมและการเมืองจะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็ตาม

จนถึงเวลานี้ความผูกพันจากการเป็นมิตรร่วมอุดมการณ์ที่ทั้งสองมีให้ต่อกันได้กลับกลายมาเป็นศัตรูอย่างชัดเจนโดยเออร์ดูอันตามล้างตามผลาญผู้นิยมกุลเลนอย่างหนัก

ปัจจุบันชาวตุรกีอาจจะมีความแปลกใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพวกเขาได้ออกมาพูดว่านี่หรือคือระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาต้องการจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เมื่อพวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตออกไปที่ท้องถนนของกรุงอังการาเมืองหลวงในวันที่ 15 และ 16 กรกฎาคม เพื่อจะยืนเคียงข้างรัฐบาลและตอบโต้ผู้ก่อรัฐประหาร

รัฐประหารล่มครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้เออร์ดูอันต้องหันมาหาเหตุผลเพราะเหตุใดทหารจึงลุกขึ้นมาก่อรัฐประหาร และต้องหาทางแก้ไขระบบที่เป็นจุดอ่อนของตัวเอง โดยเฉพาะความมั่นคงที่ค่อนข้างจะล้มเหลวในการสกัดกั้นมิให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องในตุรกีได้

เป็นโอกาสของเขาที่จะทำให้สถาบันประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งและหันกลับมามองนโยบายที่เริ่มมีลักษณะเป็นเผด็จการของเขา และปรองดองกับกลุ่มผู้นิยมการปกครองแบบอาณาจักรนิยม (Secularism) ของตุรกี ซึ่งถือเป็นนิกายของตุรกีสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มนิยมเคมาล (Kemalist) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหารของตุรกีหลังจากอาณาจักรออตโตมานถึงกาลอวสาน

ในทางกลับกัน เออร์ดูอันได้ใช้การเมืองของเมืองหลวง ซึ่งเขาได้ชัยชนะมานั้นเป็นหนทางที่จะขจัดศัตรูออกไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการก็ตาม

การปลดข้าราชการ นักวิชาการ นักกฎหมายในสังคมซึ่งความนิยมในระบอบประชาธิปไตยกำลังเพิ่มขึ้น ตลอดไปจนถึงประวัติศาสตร์การต่อต้านผู้ประท้วงที่มีให้เห็น จะยิ่งเชิญชวนให้ประชาชนไม่พอใจการกระทำดังกล่าว

ประการต่อมา การล้อมปราบผู้ที่คิดว่าเป็นศัตรูกับตนเองที่ยังขาดหลักฐานเป็นการทำลายจุดยืนของตุรกีในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะประธานาธิบดีที่รอดพ้นจากการรัฐประหารแต่ต้องกลับกลายมาเป็นชายผู้เข้มแข็งที่มีแต่เรื่องของการล้างแค้น

แม้แต่พันธมิตรของเออร์ดูอันในประเทศตะวันตกก็ยังขอให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย การที่ตัวเขาตอบโต้โครงสร้างการบัญชาการทางทหาร และการทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับทหารก็อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้เช่นกัน

แม้ว่าทหารจะเข้ามาครองอำนาจได้ใน ค.ศ.1980 แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน และที่ผ่านมารัฐบาลทหารทุกรัฐบาลในตุรกีจำเป็นต้องมอบอำนาจให้ผู้นำรัฐบาลพลเรือนมาแล้วก็ตาม