คำ ผกา | วิกฤตและวิปริต ในอำนาจของประชาชน

คำ ผกา

ฟังดูงมงายไหมที่จะบอกว่าประชาธิปไตยคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่มีหรือยังไม่เป็นประชาธิปไตย

เหตุที่ฉันต้องเขียนถึงความงมงายอันนี้ก็เพราะเล็งเห็นถึงความพยายามจะ “ก้าวไปข้างหน้า” ของสังคมไทยในหลายๆ ประเด็น

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

การพูดถึงความหลากหลายทางเพศ

การผลักดันกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ประเด็นสิ่งแวดล้อม การแบนสารพิษ สารเคมี ในการเกษตร

การแบนหลอดพลาสติก การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เลิกให้ถุงก๊อบแก๊บแก่ลูกค้า

มากไปกว่านั้น เรากำลังจะก้าวหน้าไปถึงขั้น ปีใหม่ปีนี้ รัฐมนตรีสักคนหนึ่งบอกว่า ตักบาตรพระปีหน้า ถุงพลาสติกในการทำบุญตักบาตรต้องเป็นศูนย์ เราต้องทำให้ได้

นี่ยังไม่นับการเก็บภาษีความหวาน ความเค็ม อันล้วนแล้วแต่เป็น “วาระ” ของสังคมประเทศโลกที่หนึ่งสุดๆ

แต่นี้ถ้าใครสักคน เช่นตัวฉันจะพูดว่า เฮ้ยประชาธิปไตยยังไม่มี เรื่องพวกนี้มันจะสำเร็จได้ไงวะ?

ก็ต้องมีคนบอกว่า เฮ้ย ขืนรอให้มีประชาธิปไตยก่อน ก็ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะ ไม่รู้ว่าภายในชาตินี้เราจะมีบุญได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยมันลงหลักปักฐานในสังคมหรือเปล่า แล้วจะให้รอเหรอ?

เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะในทะเลก็ปล่อยให้มันเน่าเฟะกันไป เพราะต้องรอให้ประชาธิปไตยเกิดก่อนแล้วค่อยมาขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้เหรอ?

ซึ่งที่พูดมาก็ถูกต้องทั้งหมด แต่ที่ผิดคือ การผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้าทางสังคมเหล่านี้ในหลายครั้งผลักดันไปโดยไม่พยายามจะฟื้นฟูสำนึกหรือวิธีคิดแบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน

หนักกว่านั้นคือ หวังแต่ผลลัพธ์ ไปผลักดัน พ.ร.บ.ชีวิตคู่ให้ผ่านในสภาของเผด็จการ โดยมองว่า ถ้าเป็นสภาประชาธิปไตย ไม่มีวันผ่านแน่ๆ ล็อบบี้เอากับรัฐบาลเผด็จการดีกว่า ง่ายดี

หรือชื่นชมว่า โอ้โห รัฐบาลเผด็จการนี่ดีจังเลย ห่วงปลาพะยูน รักสิ่งแวดล้อม ออกคำสั่งมาโครมเดียว แบนถุงพลาสติกได้ทั้งประเทศ – โห เจ๋งว่ะ

แต่ชีวิตมันไม่ง่ายอย่างนั้น

เช่น การที่เราต้องต่อสู้ให้มีการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิง ของเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน และอื่นๆ มันไม่ได้เกิดจากความใจดี ไม่ได้เกิดจากความสงสารว่า เฮ้ย ถ้าผู้หญิงผู้ชายแต่งงานกันได้ เราก็ต้องใจกว้างๆ ให้คนเพศเดียวกันได้แต่งด้วยสิ

แต่การผลักดันให้ผ่านกฎหมายเพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศต่างๆ นั้น เป็นการผลักดันที่มาจากฐานคิดที่ว่า มนุษย์เราเกิดมามีความเท่าเทียมกันมาแต่กำเนิด มีสิทธิ มีศักดิ์ มีศรีเสมอกัน

ดังนั้น เราจึงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเหมือนกัน เสียภาษีเหมือนกัน เป็นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐเหมือนกัน ดังนั้น “เพศ” จึงไม่ควรเป็นเงื่อนไขที่จะนำมากำหนดว่าคนนั้นทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในมิติของความรัก การแต่งงาน ชีวิตคู่ก็เช่นกัน

ในหลายสังคมบนโลกใบนี้ใช้เวลานานมากกว่าจะยอมรับว่า สิทธิแห่งความเป็น “คน” ว่าจะรวยจะจน จะเป็นขุนนาง จะเป็นชาวนา ก็เป็น “คน” เท่ากัน

จากนั้นใช้เวลาอีกนับร้อยปีกว่าผู้หญิงก็เป็น “คน” เหมือนกับผู้ชาย

และใช้เวลาอีกนานมากกว่า กว่าจะยอมรับว่าผู้หญิงนอกจากเป็นคน เป็นแม่ เป็นเมียแล้ว ยังเป็นพลเมืองของรัฐที่มีสิทธิในการเลือกตั้งเช่นเดียวกับผู้ชาย

จะเห็นว่ามันเป็นกระบวนกวนที่เริ่มจากการที่มีคนยกเลิกสิทธิที่มาจาก “ชาติกำเนิด” ว่าเป็นสิทธิที่เหนือกว่าคนอื่น

ประชาธิปไตยเริ่มต้นจากจุดนั้น และบนฐานของประชาธิปไตยที่ในแต่ละสังคมพยายามถ่างความเป็นประชาธิปไตยให้กว้างๆ ขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถโอบรับเอาคนทุกคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองได้ทั้งหมด โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา

และเมื่อเปิดกว้างแล้วก็ต้องต่อยอดให้กว้างขึ้นไปอีก เช่น กว้างไปถึงสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย สิทธิที่จะทำแท้ง สิทธิที่ขายตัว สิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงเพศ สิทธิที่จะตาย อันนำมาสู่การออกกฎหมายการุณยฆาตให้คนเลือกจบชีวิตของตนเองได้

เริ่มจาก เลือกตายได้ถ้าป่วยหนัก ก็สามารถขยายให้กลายเป็นเลือกตายได้ทั้งๆ ที่ไม่ป่วยก็ได้

ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตก็เช่นกัน

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูกรณีเหมืองทองอัครา ใช่ เหมืองทองส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่

แต่เราจะโอเคไหมถ้ารัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจพิเศษ กฎหมายพิเศษออกคำสั่งปิดเหมืองในบัดดล? ถ้าเราโอเค ก็แปลว่าเรายอมรับอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ

เมื่อเรายอมรับอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบสิ่งที่ตามมาคือ รัฐอาจจะใช้กฎหมายพิเศษตัวเดียวกันไปอนุญาตให้เปิดเหมืองอันส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในพื้นที่อื่นได้โดยที่เราไม่รู้

แต่ถึงเรารู้ เราจะบอกว่า “ไม่เป็นไร ไม่ใช่บ้านฉัน” – อย่างนั้นหรือ?

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงปัญหาและประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องทรัพยากร ป่า สิทธิในที่ดินทำกิน ไปจนถึงเรื่องจะตักบาตรอย่างไรให้ไม่มีถุงพลาสติกเลย มันก็ต้องเริ่มต้นจากการเชื่อมั่น และการมี “กระบวนการประชาธิปไตย” ตั้งแต่ต้นจนจบ

ถ้าจะมีการอนุญาตให้ทำเหมืองก็ต้องเริ่มต้นจากกระบวนการขออนุญาต การออกใบอนุญาต และการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่ ชาวบ้าน ท้องถิ่น และทุกกระบวนการต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

และหากจะมีการปิดเหมืองก็ต้องใช้ขั้นตอน กระบวนการในแบบเดียวกัน

ฉันไม่ได้บอกว่ากระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมันให้ผลเลิศ มันปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

แต่อย่างน้อยที่สุด มันทำให้เราหาคน “รับผิดชอบ” เจอ และถ้ากฎหมายเก่ามันห่วย มันเต็มไปด้วยช่องว่าง หรือรัฐบาลเก่าที่เคยออกกฎหมายไว้มีการหมกเม็ดเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมาย ในกระบวนการรัฐสภา ผลักดันให้ออกกฎหมายเพื่อให้เจ้าของพื้นที่ ชุมชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น

ถ้าสังคมแคร์เรื่องนี้จริงๆ ก็ต้องรู้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับ open data หรือการบังคับให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนทุกประการนั้นสำคัญขนาดไหน

และทั้งหมดนี้สังคมต้องตระหนักอีกว่าประเด็นขยะในทะเล เต่ากินถุงพลาสติก สารเคมีในการเกษตร พื้นที่ป่าที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ ป่าสงวนฯ กลายเป็นรีสอร์ตหรู หรือเป็นบ้านตากอากาศของคนใหญ่คนโต ขณะเดียวกันชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ดก็โดนจับ รวมไปถึงพื้นที่สีเขียวในเมือง ปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด

เราไม่อาจหิ้วถุงผ้าไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือใช้หลอดกระดาษดูดกาแฟเย็นแบรนด์ดังระดับโลกแล้วอิ่มเอมใจว่าได้ว่าได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อโลกใบนี้แล้ว ภารกิจฉันจบสิ้นแล้ว ฉันก็แค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ฉันเปลี่ยนโลกไม่ได้ ฉันก็เปลี่ยนที่พฤติกรรมตัวเอง

นี่ไง ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในโลกใบนี้ มันก็เริ่มต้นจากพลังของคนเล็กๆ ทั้งนั้นแหละ

ฟังอะไรมาแบบนี้แล้วฉันก็อยากจะตะโกนบอกดังๆ ว่า “ไม่ใช่โว้ย”

ปัญหาขยะทั้งสิ้นทั้งปวง ทั้งพลาสติกและไม่พลาสติกของเราเกิดจากเราขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับขยะ ตั้งแต่กระบวนการเก็บ คัดแยก รีไซเคิลและทำลาย

ทุกวันประเด็น “ขยะ” ในประเทศไทยยังเป็นพื้นที่อันเป็นเสมือนหลุมดำ มีใครรู้จริงๆ ว่า ขยะเมื่อออกจากบ้านเราไปแล้ว เดินทางไปสู่หนใดบ้าง?

มีใครบ้างอยู่ในระหว่างหนทางนั้น ระหว่างหนทางนั้น มีอำนาจรัฐ กฎหมาย อิทธิพล ผลประโยชน์อะไรบ้าง?

ถามว่าทำไมเราถึงไม่รู้? ก็เพราะการรู้เรื่องนี้ และพยายามเปลี่ยนแปลงที่ตัวระบบมันยากเกินไป แล้วลึกๆ เราไม่เห็นอยากรู้ การหนีความจริงด้วยการไปใช้ถุงผ้า และดูดหลอดดูดกระดาษมันง่ายกว่ากันเยอะ เหมือนที่เราไม่อยากปวดหัวว่า การแก้ปัญหาความยากจนที่ดีที่สุดคือการให้คนจนมี “อำนาจ” ในมือ ไปจัดการเรื่องแบบนั้นมันยากไป สู้หลับตาข้างหนึ่งแล้วใช้วิธีทำบุญ บริจาคทาน เลี้ยงอาหารคนไร้บ้าน ทำบุญที่บ้านเด็กกำพร้าดีกว่า ง่ายดี สบายใจ

ถ้าเราจะพูดเรื่องถุงผ้า จะพูดเรื่องขยะในทะเล เราต้องเริ่มต้นจากคำถามว่า ใครคือผู้มีสิทธิในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า แม่น้ำ

ทุกวันนี้ในขณะที่เราหิ้วถุงผ้าไปจ่ายกับข้าว เรารู้ไหมว่า เกิดอะไรกับแม่น้ำโขง

ทุกวันนี้ในขณะที่เราเพียรงดใช้หลอด หรือเพียรพยายามจะเอาผักบุ้งมาแทนหลอดดูด เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมยิ่งมีป่าสงวนฯ ป่าในเมืองไทยกลับเหลือน้อยลง

และเราสงสัยต่อไปหรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่มันเป็นแบบนี้ ทำไมเราถึงยอมให้เขาจัดการกับป่าไม้แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ทำไมเราถึงไว้ใจให้รัฐและราชการดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้โดยไม่นึกอยากเข้าไปตรวจสอบ ตั้งคำถามหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

กลับมาที่ความงมงายของฉัน ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาการศึกษา ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาความเสมอภาคทางเพศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสาธารณูปโภคไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ของสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาของการใช้ทรัพยากรส่วนมากไปสนองตัณหาและความโลภของคนส่วนน้อย ปัญหาพบเศษพลาสติกในท้องเต่าท้องปลา และทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ที่นับวันมีแต่จะแย่ลง และไม่เห็นวี่แววว่าจะมีอะไรดีขึ้น

แถมยังมีนายกฯ ทำหน้าระรื่นยื่นมินิฮาร์ทใส่ประชาชนอย่างเราให้เจ็บใจเล่น – ก็เพราะเราไม่มีประชาธิปไตย

ที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้เป็นประชาธิปไตยจำแลง

เพราะถ้าเรามีประชาธิปไตยของจริง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ หรือพูดให้สุดกว่านั้นคือ ใดๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารประเทศและงบประมาณ ไม่แม้แต่ควรจะได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนด้วยซ้ำ

การเลือกตั้งต้องไม่ใช่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (ประหลาด) อย่างที่เรามี เพราะมันไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน มีอย่างที่ไหน คนได้คะแนนสองหมื่น สามหมื่นได้เป็น ส.ส. แต่คนได้ห้าหมื่น หกหมื่นไม่ได้เป็น

นี่ไม่เรียกว่าเพี้ยนก็ต้องเรียกว่าบ้า

ถ้าเรามีประชาธิปไตยที่แท้จริง การปกครองของเราจะไม่เกิดการรวมศูนย์อำนาจมหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ ระบบราชการจะไม่เทอะทะอย่างที่เป็นอยู่

การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า การกระจายงบประมาณจะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

นั่นคือ เก็บภาษีทั้งประเทศแล้วเอามากระจุกที่รัฐบาลกลาง แล้วค่อยจ่ายกลับไปยังจังหวัดต่างๆ ตามที่ส่วนกลางเห็นว่าเหมาะสม

ถามว่าทำแบบนี้เมื่อไหร่ท้องถิ่นจะเติบโต แข็งแรง?

ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยจริง รัฐต้องไม่มีความลับกับประชาชน ไปทำอะไรที่ไหน งบฯ และโครงการทุกอย่างต้องขึ้นหน้าเว็บไซต์ให้ประชาชน ให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบได้ตลอดเวลา

หรือราชการต้องมีหน้าที่รายงานการทำงานให้ประชาชนรับทราบอย่างละเอียด เพราะประชาชนคือเจ้านาย ประชาชนคือผู้บังคับบัญชา

ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของแท้ต่างหาก ที่เราจะเข้าไปผลักดันเรื่องที่มันก้าวหน้าได้ เช่น เรื่องความเสมอภาคทางเพศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการรีไซเคิลขยะ เรื่องการลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติก เรื่องการแบนสารเคมีในการทำการเกษตร เพราะเรื่องพวกนี้มันจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของประชาชน

เช่น เราจะสามารถเอาปิ่นโตไปซื้อข้าวแกงได้ ถ้าบ้าน ที่ทำงาน และร้านข้าวแกงของเราอยู่ในละแวกเดียวกันหมด

และเราไปไหนมาไหนได้ด้วยการเดิน การปั่นจักรยานในระยะสั้น ไม่ใช่หิ้วปั่นโตข้าวแกงแล้วนั่งรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า ต่อรถกะป๊อ ต่อมอเตอร์ไซค์เข้าบ้าน

เราจะอุดหนุนร้านชำแบบรีฟิลได้ ถ้าเมืองเราเป็นเมืองที่ออกแบบผังเมืองให้เกิดย่านที่อยู่อาศัยที่ครบจบสมบูรณ์ในตัวเองเป็นย่านๆ ไป

ไม่ใช่อยู่บางแคแล้วต้องมาซื้อของชำรีฟิลที่รามคำแหง

รัฐจะออกแบบสาธารณูปโภคที่มี “คนส่วนใหญ่” เป็นโจทย์หลักได้อย่างไร คำตอบคือจะได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่เป็นใหญ่และมีอำนาจทางการเมืองในมือของตัวเองอย่างแท้จริง

ฉันไม่ได้บอกว่า เราต้องเลิกการรณรงค์เรื่องถุงผ้า เรื่องเพศ หรือเรื่องอะไรๆ ทั้งหมด

แต่ทุกๆ เรื่องของการรณรงค์เหล่านี้ต้องทำไปพร้อมกับการณรงค์ให้อำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนจริงๆ

นั่นคือ ณ ขณะนี้คนไทยทุกคนที่ห่วงใย ใส่ใจเรื่องสารพิษ เรื่องพลาสติก เรื่องเพศ ต้องลงมือรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย!

เพราะนี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด

ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาบนหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยแล้ว ปัญหาใดๆ ในประเทศนี้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข มีแต่การปะผุปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ

แบนสารพิษแล้วไปยังไงต่อก็ไม่มีใครตอบได้ ใช้ ม.44 ปิดเหมืองไปใครรับผิดชอบเรื่องเงินค่าปรับมหาศาล ก็ไม่มีใครตอบได้ ปิดไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยก็ยังปะทุอยู่ทุกจุด ไม่มีปัญหาใดได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ น้ำท่วมก็ยังมานั่งรับโทรศัพท์บริจาคเงิน

ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้เป็นเรื่องของบ้านทั้งหลังกำลังผุกร่อน ปลวกกิน เป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาแบบไม่มีฐานราก แต่เน้นติดไม้ฉลุก เชิงชาย ทาสีสวยๆ ตบตาคนไปวันๆ

และรัฐบาลชุดนี้ก็สานต่อวิธีการแก้ปัญหาแบบตบตาคน

นั่นคือแทนที่จะตัดสินซ่อมบ้าน โดยเริ่มที่การวางฐานรากหรือ foundations ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

แต่กลับใช้วิธีเอาทองคำเปลวมาแปะไว้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ให้ดูเหมือนหรูหรา ระยิบระยับ

คนไม่รู้เท่าทันก็มองไม่เห็นว่าบ้านจะพัง มัวแต่ไปนั่งดูผนังด้านที่เขาเอาทองเปลวแผ่นบางๆ มาแปะๆ ไว้ให้มลังเมลืองชั่วคราว

ไอ้เรื่องถุงผ้า ถุงพลาสติกอะไรนี่ก็เหมือนกัน บ้าบอเหมือนคนติดทองคำเปลวเล่นบนบ้านที่ปลวกกินไปทั้งหลัง

วาระแห่งชาติตอนนี้สำหรับคนที่ขับเคลื่อนในทุกประเด็นปัญหาของสังคมนี้คือ

ถ้าขับเคลื่อนเรื่องเพศก็ต้องขับเคลื่อนพร้อมเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

จะขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องเคลื่อนไปพร้อมกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

จะขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากร แม่น้ำ ป่า ภูเขา ก็ต้องเคลื่อนไปกับการผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ

และต้องเห็นว่านี่คือวิกฤต และเราก็ปล่อยเวลามาเนิ่นนานเกินไปแล้วด้วยซ้ำ และอย่าคิดว่าวิกฤตนี้จะมาไม่ถึงตัวเอง

คนที่ฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยก็คงไม่คิดมาก่อนหรอกว่า วันหนึ่งวิกฤตแห่งการที่อำนาจไม่อยู่ในมือประชาชนจะส่งผลที่ตัวเองและครอบครัว

ถ้าไม่คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว มันก็แค่ซื้อเวลาให้ปิดทองกันเล่นเท่านั้น

รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นคนที่ทั้งโง่ ทั้งอ่อนแอ

และไร้ซึ่งแม้แต่อำนาจที่จะต่อรองกับลมหายใจของตนเองในฐานะที่เป็นคน