มุกดา สุวรรณชาติ : ผู้มีอำนาจ อยู่สบาย… ประชาชนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

มุกดา สุวรรณชาติ

การรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยแต่งตั้ง ส.ว.เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจและควบคุมผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด

หลังรัฐประหารกันยายน 2549 เวลาไม่ถึงปี วันที่ 24 สิงหาคม 2550 ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ 2550 เป็นการเริ่มยุคที่ระบบตุลาการภิวัฒน์มีอำนาจมากมาย จนเป็นที่หวั่นเกรงของนักการเมืองยิ่งกว่ากำลังทางทหารเสียอีก

ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจกับบทบาทของตัวแทนในการใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งสภา, รัฐบาล และตุลาการ

หลังเลือกตั้ง ปลายปี 2550 สังคมไทยปั่นป่วน ความขัดแย้งสูงมาก ประชาชนถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง มีทั้งเหลืองและแดง แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่ฝ่ายยึดอำนาจต้องการ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกพรรคทักษิณเหมือนเดิม

ในที่สุดก็มีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้ง คราวนี้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ฉบับ 2560 …หนักกว่าเดิม

การมีรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐที่มีมาตรฐานคือ มีกฎหมาย, มีสภา, มีรัฐบาล และมีศาล

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เขียนทั้งสิ้น เพียงแต่จะแอบแฝงหรือเปิดเผย องค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้เสมอ

ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้น ส.ส.จึงมาเลือกฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี

รธน.2550 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ส.ส.เท่านั้นที่เลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ 2560 มี ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด 250 คน กลายเป็นเสียงตัดสินทางการเมืองมากที่สุด ส.ว.ชุดแรกทั้ง 250 คน มาจากระบบการคัดเลือกของ คสช.ทั้งสิ้น ประชาชนไม่มีโอกาสเลือก ส.ว.อีกแล้ว

ที่สำคัญ ส.ว.แต่งตั้งสามารถเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ได้

 

250 ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช.
มีอำนาจมากกว่า ส.ส.เลือกตั้ง

อํานาจหน้าที่ตามปกติ คือการกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ที่ล้นเกิน ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ได้เลือก เช่น

1. เลือกนายกรัฐมนตรีได้

อำนาจของ ส.ว.ที่ คสช.ได้วางเส้นสืบทอดอำนาจเอาไว้ คือให้อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.2560 ทั้ง 250 คน มาจากระบบการคัดเลือกของ คสช.ทั้งสิ้น ดังนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีก็เลือกอย่างเป็นระเบียบ ตามจัดตั้ง แบบที่เห็นในสภา

2. เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้…

ส.ว.มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายคนที่ถูกสรรหาเข้าไป แต่ไม่ผ่าน ก็ต้องสรรหาไปให้เลือกใหม่

3. เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด

ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก ดังนั้น ส.ว. 250 คนจึงเป็นด่านสุดท้ายที่ตัดสินว่าผู้ที่ถูกสรรหามาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ จะได้เป็นหรือไม่

คณะกรรมการ กกต.ทั้ง 7 คน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้ง 3 คน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน

กรรมการสิทธิมนุษยชน ทั้ง 7 คน

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้ง 7 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

และยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ

4. กล่าวหาถอดถอน ป.ป.ช.ได้

มาตรา 236 กำหนดว่า ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.เข้าชื่อกันจำนวนมากกว่า 150 คน (1 ใน 5 ของทั้งสองสภา) กล่าวหาถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยยื่นเรื่องให้แก่ประธานรัฐสภาให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ แบบนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องกลัว ส.ว.

5. ตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายได้

มาตรา 150 กำหนดว่า ส.ว.มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ที่รัฐมนตรีนั้นรับผิดชอบ โดยที่จะถามเป็นหนังสือหรือถามด้วยวาจาก็ได้ กรณีที่ถามด้วยวาจา ส.ว.มีสิทธิถามได้โดยที่ไม่ต้องทำการแจ้งล่วงหน้า

มาตรา 153 กำหนดว่า ส.ว.จำนวนมากกว่า 84 คน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด สามารถเปิดอภิปรายในวุฒิสภา เพื่อให้รัฐมนตรีชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ

6. ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน สามารถยับยั้งไม่ให้แก้ไข รธน.ได้

มาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ลองคิดดูกันเองว่า ส.ว.เขาจะยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตนเองหรือไม่

7. ควบคุมนโยบายและการทำงานของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

มาตรา 270 กำหนดว่า ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนขึ้นในยุคของ คสช.

สรุปว่า ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่มีอำนาจเท่ากับ ส.ว.แต่งตั้ง

คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกเลย กลับมีอำนาจที่สามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ สามารถตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กรรมการองค์กรต่างๆ ได้

ส.ว.และผู้มีอำนาจทุกองค์กรที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหารจำเป็นต้องคล้อยตามอำนาจ จึงมีผลต่อระบบยุติธรรม ที่จะอยู่ได้ อยู่เป็น อยู่ไม่เป็น ไม่ให้อยู่ หรือถูกจับไปอยู่ในคุก

 

การรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เกือบยี่สิบครั้ง จนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีผู้ล้มล้างประชาธิปไตยคนไหนได้รับการลงโทษ… กฎหมายความมั่นคงมาตรา 113 ไม่เคยได้ใช้

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ของจริงคือคนทำรัฐประหารไม่เพียงไม่ถูกลงโทษ ทุกคนมีอำนาจและร่ำรวย

มีแต่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการกลับเป็นผู้ได้รับโทษเสียเอง ไม่ต้องย้อนไปถึงยุค ส.ส.อุทัย พิมพ์ใจชน ฟ้องจอมพลถนอมที่ทำรัฐประหาร แต่ถูกตัดสินให้ติดคุก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ไอลอว์รายงานว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนว่า จ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลยในคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. (คดีของจ่าสิบเอกอภิชาต เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันหลังการรัฐประหาร เขาไปร่วมประท้วงการรัฐประหารที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยยืนถือป้ายเขียนข้อความ “ไม่รับอำนาจเถื่อน” ระหว่างยืนถือป้ายประท้วง จ่าสิบเอกอภิชาตถูกทหารจับในที่เกิดเหตุและถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก คดียืดเยื้อมาจนถึงศาลฎีกาและเพิ่งตัดสินไปเมื่อ 4-5 วันนี้

ถึงตอนนี้แม้เวลาเปลี่ยนไป แต่คนฉีกรัฐธรรมนูญและทำรัฐประหารยังคงไม่ผิด คนต่อต้านผิด

ถ้าจะอยู่แบบมีกล้วยกิน และมีเกียรติ ก็ต้องเชียร์คณะรัฐประหาร

เราจึงเห็นพวกที่อยากอยู่สบาย ล้วนยอมรับใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร

พวกที่อยู่เป็นก็ต้องสู้บ้างหลบบ้าง

พวกที่กล้าปะทะตรงหน้า มีไม่กี่คน

คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกนี้อยู่ไม่เป็น แต่คนพวกนี้มีมาตั้งแต่ยุคที่ชู 3 นิ้วนอกสภา วันนี้พัฒนาเข้ามามีเสียงในสภาแล้ว

 

ยึดอำนาจรัฐด้วยรัฐธรรมนูญได้แล้ว
คงไม่ยอมให้แก้ง่ายๆ

เพราะรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจ รักษาอำนาจ และสืบทอดอำนาจ การยึดอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาวิธีการจากยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ เช่น ในการรัฐประหาร 2549 และ 2557 มาเป็นการยึดอำนาจด้วยการใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างเอง ใช้ปกครองเอง และได้สร้างปัญหาขึ้นแล้ว ทันทีที่มีการเลือกตั้งมีนาคม 2562

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้สั่งการให้ร่างขึ้น

คสช.คัดผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่พอรู้ช่องของกฎหมายและรู้จุดมุ่งหมายของการร่าง รธน. เพื่ออุดช่องโหว่ของการเข้าสู่อำนาจรัฐ ไม่ให้พลาดอีก เหมือนครั้งที่ใช้ฉบับ 2550 ที่แพ้เลือกตั้ง ทั้ง 2550 และ 2554

หัวหน้าทีมผู้วางแผนร่างจึงต้องรู้จุดที่เป็นปมของอำนาจว่าอยู่ที่ไหน ร่างรอบแรกไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้องล้มทิ้ง ร่างใหม่ ก็ยังไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้ จึงต้องเติมคำถามพ่วงเพื่อจะสืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

หัวใจของ รธน.2560 คือ ทำให้เสียงประชาชนไม่ใช่ส่วนชี้ขาดในอำนาจทั้งสามฝ่าย ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ผู้สืบทอดอำนาจเป็นผู้กำหนด ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ ชี้ถูกผิด ยุติธรรม ดังนั้น อย่าไปฝันเรื่องที่จะฟ้องร้องเอาความผิดกับกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าคดีใด

ถ้าไม่แก้ รธน.2560 คนที่ประชาชนเลือกไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล ไม่มีทางหาคนเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ นโยบายแจกเงิน หรือโยนทานออนไลน์ แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เด็กใหม่ไม่มีงานทำ คนเก่าถูกเลิกจ้าง ชาวบ้านจะลำบากไปอีกนาน

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ ส.ว.ยอมแก้ไข ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญให้ตรงจุดที่เป็นปัญหา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กระบวนการทางรัฐสภาล้วนๆ แต่ต้องใช้การเมืองเข้ามาช่วย