อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเมืองเรื่อง GSP

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อตอนต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐอเมริกาประกาศตัด GSP ต่อประเทศไทย จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ การประกาศตัด GSP ต่อไทยเกิดขึ้นช่วงเวลาเดียวกันกับการรายงานของผู้แทนการค้าสหรัฐหรือ US Trade Representative (USTR) ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วย ได้เสนอเรื่อง การยกเลิกสารเคมีที่ก่อผลต่อภาคการเกษตรของทางการไทยว่า อาจก่อให้เกิดผลต่อการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรของสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย เช่น ถั่วเหลือง และอื่นๆ หรือไม่

เรื่องนี้นับว่าได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งทางการไทย กลุ่มเกษตรกรไทย

แต่ก็เป็นโอกาสให้นักการเมืองไทยหลายฝ่ายได้มีโอกาสแสดงตนทางการเมือง

มีการเสนอนโยบาย รวมทั้ง เล่น การเมือง

นั่นคือ การเมืองเชิงนโยบายกับเขาในครั้งนี้ด้วย หลังจากนักการเมืองไม่ได้มีบทบาทเชิงนโยบายมานาน

อย่างไรก็ตาม หลังฝุ่นตลบเจือจางลง ละครที่เล่นเริ่มลาโรงไปแล้ว เราควรมองเรื่อง GSP ให้ลึกและเห็นพัฒนาการเพื่อจะได้เข้าใจและวางนโยบายที่ถูกต้องของแต่ฝ่ายต่อไป

 

ข้อมูล

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า GSP คืออะไร

GSP ย่อมาจาก General of System of Preference หมายถึง สิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าบางรายการ เมื่อส่งสินค้าไปขายให้ประเทศผู้ให้สิทธิ

ส่วนการตัด GSP ของทางการสหรัฐอเมริกาคราวนี้ ตามรายงาน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย ระบุว่า สหรัฐอเมริกาจะประกาศ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือ GSP กับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการหรือราวร้อยละ 40 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดของไทยที่ใช้สิทธิ GSP ในปี พ.ศ.2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

ด้วยเหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล (1)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วพบว่า การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาไม่มากนักเพียง 1,279.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.6 ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา

มีการกระทบเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาสูง เช่น ปูแปรรูป ผลกระทบรองลงมาคือสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาสูง แต่มีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ เช่น ผลไม้กระป๋อง

หากดูในแง่บริษัทเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากรายงานของบริษัททิสโก้รายงานว่ากลุ่มที่ได้รับผลมากหากดูจากหุ้น 3 อุตสาหกรรมคือ กลุ่มเกษตร (AGRI) กลุ่มอาหาร (FOOD) และกลุ่มอิเล็กทรอนิค (ETRON) มีการจำแนกรายละเอียดอุตสาหกรรมและหุ้นของแต่ละกลุ่มตามรายงานดังนี้

หุ้นอาหารทะเลส่งออก ASIAN, CFRESH,CHOTI,CPF,SSF,TC และ TU

หุ้นซอสปรุงรสได้แก่ SAUCE

หุ้นผักและผลไม้ได้แก่ APURE,CM และ SFP

หุ้นน้ำผลไม้ได้แก่ MALEE, SAAPPE และ TIPC0

 

การเมืองเรื่อง GSP

หลังจากที่มีการประกาศยกเลิก GSP ต่อไทย มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ มากมายได้แก่ การเคลื่อนไหวของนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ทั้งนี้นับเป็นการเปิดเผยถึงกลไกการเมืองเรื่องนโยบายของนักการเมืองทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกาต่อเรื่องนี้

ด้วยปรากฏว่า รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ร่วมเจรจากับนายไมเคิล ฮีธอุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำไทย (เพราะขณะนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐคนใหม่ยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ) ได้เปิดเผยว่า “…การตัดสิทธิ จีเอสพี ยังไม่ถึงที่สุด…” (2)

รองนายกรัฐมนตรี สมคิดก็ได้นำเสนอกับนายไมเคิล ฮิธ เรื่องศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CMLVT) นั้นทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก แล้วสหรัฐอเมริกาไม่เข้ามาร่วมในศูนย์กลางนี้ เพราะจริงๆ สหรัฐอเมริกากำลังสนใจเรื่องศูนย์กลางนี้ เพียงแต่ว่า เวลานี้บังเอิญเป็นตอนที่ประกาศเรื่อง GSP พอดี

จึงเหมือนการสร้างแรงกดดันต่อทางการไทยซึ่งต้องการแสดงความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะการณ์ที่ทางการไทยควบคุมไม่ได้ อันเนื่องมาจากความผันผวนของผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน

อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกของไทย ซึ่งได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น

 

GSP เครื่องมือการค้าและกิจการระหว่างประเทศ

เรื่องการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกาต่อไทยไม่ใช่เรื่องใหม่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วหรือในช่วงทศวรรษ 2530 ช่วงรอยต่อของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทางการสหรัฐอเมริกาสมัยนั้นใช้ GSP เป็นเครื่องมือทางการค้าและกิจการระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเพื่อกดดันทางการไทยอย่างน้อย 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ ทางการสหรัฐอเมริกาต้องการบีบทางการและเอกชนไทยเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property-IP) ในขณะนั้น โดยการบีบบังคับให้ทางการไทยรับข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาให้ภาคเอกชนไทย ยอมรับเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา นั่นคือ ให้เอกชนไทยยอมจ่ายเงินเป็นค่าทรัพย์สินทางปัญญา

แต่ทางการไทยโดยเฉพาะที่ปรึกษารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ยินยอม อีกทั้งต่อรอง “ให้มีการยกเว้น” เรื่องการยอมรับทรัพย์สินทางปัญญา เอาไว้ นี่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและผลประโยชน์ที่สหรัฐอเมริกาต้องการ แต่หยิบยกเรื่อง GSP ขึ้นมากดดัน

ให้เข้าใจว่า เป้าหมายที่แท้จริงคือ ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา “เป็นการเลือกปฏิบัติ” ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชนและอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งหลายๆ กรณีเป็นการเลือกปฏิบัติกดดันประเทศคู่เจรจาโดยใช้เครื่องมือนี้ ซึ่งเป็นกลไกของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเสียด้วย

ประการที่สอง การกดดันในช่วงรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ยังเกี่ยวข้องกับบทบาทของไทยในช่วงของการก้าวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ (Peace process) ซึ่งเริ่มต้นจากปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา เป็นการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอินโดจีนสมัยนั้น

โดยทางการไทยสมัยนั้นแสดงบทบาทนำ มีการเจรจากับทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างลับๆ หลายครั้งหลายหนทั้งที่ปักกิ่ง พนมเปญและที่ประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทางการสหรัฐอเมริกาไม่เข้าใจและควบคุมไม่ได้ อีกทั้งไม่ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพในภูมิภาค

หรือพูดง่ายๆ ว่า กำลังมีสมการใหม่ ทางการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้นแต่สหรัฐอยู่นอกสมการใหม่นี้ สหรัฐอเมริกาจึงต้องใช้กลไกเรื่อง GSP เข้ามากดดันไทย ใช้กลไกที่มาจาก “ทำเนียบขาว” โดยตรงเป็นตัวขับเคลื่อน

 

หากย้อนกลับไปดูรายละเอียดของ GSP เราจะเห็นว่ามี เงื่อนไขอื่นๆ ปรากฏอยู่ด้วยนั่นคือ

-จะต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ

-มีการคุ้มครองแรงงานในระดับที่นานาชาติยอมรับ

-มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุสมผล

-รวมไปถึง หากประเทศที่มีการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ก็ต้องเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้ายสากลด้วย

เราควรกลับมาทบทวนว่า อะไรคือผลประโยชน์ที่สหรัฐอเมริกาต้องการ GSP ของทำเนียบขาวถูกนำมาใช้เพื่ออะไรในช่วงเวลานี้ เครื่องมือที่ยังใช้อยู่มากกว่าสามทศวรรษ และยังวางพร้อมนำมาใช้ทุกเมื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่น่าสนใจมาก

ลึกกว่าที่เราคิด

——————————————————————————————————————–
(1) “รายงานธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าประเทศไทย” ผู้จัดการออนไลน์ (30 ตุลาคม 2562)
(2) “สมคิดคุยกับไมเคิล ฮีธ” ผู้จัดการออนไลน์ (29 ตุลาคม 2562)