เกิดเหตุยิงกันในศาลจันทบุรี 2 ทนาย 1 ตำรวจใหญ่มือลั่นไก ดับรวม 3 ราย

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ในห้องพิจารณาคดีภายในศาลจังหวัดจันทบุรี ได้เกิดการยิงกันระหว่างการพิจารณาคดีพิพาทมรดกที่ดิน จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยเวลาต่อมา ทราบชื่อเบื้องต้นคือ 1.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. อายุ 61 ปี ทนายความ และ 2.นายวิจัย สุขรมย์ อายุ 51 ปี บาดเจ็บสาหัส 3 ราย ซึ่งหนึ่งใน 3 ผู้บาดเจ็บคือ พล.ต.ต.ธานินทร์ จันทราทิพย์ อดีตจเรตำรวจเกษียณราชการ อายุ 67 ปี และเป็นผู้ใช้ปืนก่อเหตุยิงทนายและคู่ความ ล่าสุด พล.ต.ต.ธานินทร์ ได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

พล.ต.ต.จรัล จิตเจือจุน รอง ผบช.ภ.2 ได้แถลงผลการสอบสวนเบื้องต้นว่า ผู้ก่อเหตุได้ลงมือยิงทนายและคู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สืบเนื่องจากคดีฟ้องแพ่งที่ดินกันมานานกว่า 10 ปี ครั้งนี้แตกสาขาเป็นคดีอาญาข้อหาฟ้องเท็จ

จากการตรวจสอบอาวุธที่ พล.ต.ต.ธานินทร์ใช้ในการก่อเหตุครั้งนี้เป็นอาวุธปืนพกสั้น ปืนกล็อก 22.40 จำนวน 1 กระบอก โดยพล.ต.ต.ธานินทร์ใช้ปืนยิงใส่คู่กรณี ก่อนถูกตำรวจศาลยิงบาดเจ็บภายหลังก่อเหตุ และได้เสียชีวิตระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ด้านทางคณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.จรัล พล.ต.ต.เสถียร พร้อมกำลังตำรวจวิทยาการ กองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัด สืบสวน สภ.เมืองจันทบุรี อยู่ระหว่างการประชุมรวบรวมและประเมินสถานการณ์ ชนวนเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงกันภายในศาล ทั้งเรื่องการที่ผู้ก่อเหตุพกพาอาวุธปืนผ่านจุดตรวจจับเข้าไปภายในศาลได้อย่างไร ซึ่งจะมีการแถลงความชัดเจนอีกครั้ง

ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยรัดกุมบริเวณศาลว่า จากเหตุที่เกิดที่ผ่านมา เรากำลังตรวจสอบให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อมาตรการความเข้มงวดรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลที่รัดกุม โดยการดูแลความเรียบร้อยในศาลมีด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนผู้ต้องขังจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากกรมราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลความปลอดภัยบริเวณศาล และในส่วนของศาลเองมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จัดสรรการจ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งไม่มีอาวุธประจำกายจะดูแลความเรียบร้อยทั่วไปบริเวณศาล ซึ่งปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัดนั้นก็มีแต่เราก็ขอบคุณทั้งที่ราชทัณฑ์ และ สตช. ร่วมจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างไรก็ดีส่วนนี้ก็ต้องประสานความร่วมมือทุกส่วนต่อไป

“ในส่วนของศาลนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมก็กำลังพัฒนาระบบเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล (COURT MARSHAL) ซึ่งปัจจุบันนี้มีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย โดยในปี 2563 เราจะคัดเลือกบุคคลให้ได้อย่างน้อย 300 คนเพื่อที่จะนำอัตรากำลังในส่วนนี้ที่ศาลจัดดำเนินการเอง กระจายไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล ประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย ก็จะเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาก่อนเหตุต่างๆ เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูล และศึกษาประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ของศาลต่างๆ แล้วเพื่อเตรียมจะจัดระบบให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล (COURT MARSHAL) ของศาลเอง ไปประจำการตามศาลพื้นที่ต่างๆ ซึ่งระหว่างที่ยังได้อัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลครบจำนวนเราจะจัดกำลังเท่าที่กระจายไปยังศาลภูมิภาคเท่าที่จำเป็นก่อน โดยภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้จะได้ผลสรุปแล้วต่อไปก็จะทราบว่าจะต้องจัดสรรอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชลในศาลใดบ้าง จำนวนเท่าใด และจะให้มีการหมุนเวียนประจำการอย่างไรบ้าง” นายสราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างร่วมครม.สัญจรที่จ.กาญจนบุรี ว่า อาวุธที่ใช้เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ในศาล จึงเป็นเรื่องของมาตรการการป้องกันรักษาความปลอดภัยภายในศาล ซึ่งทำให้เรามองย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ศาลจังหวัดชลบุรี ที่มีผู้ต้องขังหลบหนี โดยจะต้องมีมาตรการในการป้องกันควบคุมดูแลผู้ต้องขัง และยังไม่ทันไรก็มาเกิดเหตุที่ศาลจังหวัดจันทบุรี แล้วก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทบทวนดูมาตรการรักษาความปลอดภัย ไม่ใช่จะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แย่งปืน แล้วไปยิงเอาบุคคลสำคัญในศาลขึ้นมาก็จะเสียหายหนักขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องมีการทบทวนมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในศาล ต้องได้รับการสังคายนากัน โดยอาจจะมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ศาล และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน อย่างที่เป็นคู่กรณีกันแล้วแย่งอาวุธจากตำรวจ

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการสังคายนานั้นดำเนินการกันอยู่แล้ว แม้ว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับตรงนั้นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรีบทบทวน เพราะเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันระหว่างศาลจังหวัดชลบุรีกับศาลจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ เรื่องการโอนย้ายตำรวจมาเป็นส่วนหนึ่งของศาลนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ก็ว่ากันไป” นายสมศักดิ์กล่าว