คุยกับทูต ‘วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้’ | โปแลนด์…แดนแห่งประวัติศาสตร์และโอกาสในการลงทุน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี โปแลนด์จะมีการเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพแห่งชาติหรือวันชาติ ครบรอบการฟื้นฟูอธิปไตยของโปแลนด์ในฐานะสาธารณรัฐที่สองในปี 1918 จากจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย และจักรวรรดิรัสเซีย หลังจากการแบ่งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้โปแลนด์เสียเอกราชเป็นเวลา 123 ปีจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เมื่อการล่มสลายของจักรวรรดิใกล้เคียงทำให้เกิดประเทศใหม่ขึ้น

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยโปแลนด์มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 1972

ปัจจุบัน นายวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ (His Excellency Mr. Waldemar Dubaniowski) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาวและในโอกาสที่จะมีการเฉลิมฉลองวันชาติโปแลนด์ที่ใกล้จะถึงนี้ เอกอัครราชทูต วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ ได้ปลีกเวลามาสนทนากับคอลัมน์ “คุยกับทูต” นับเป็นวาระที่สาม

“โปแลนด์เป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรปที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่มีความทันสมัยอย่างมีชีวิตชีวาและมีความปลอดภัย ทั้งตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใจกลางทวีปยุโรปที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตสูง โปแลนด์จึงเป็นดินแดนแห่งโอกาส”

โปแลนด์ได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2004 กลายเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเป็นฐานการผลิตและกระจายไปทั่วสหภาพยุโรป ชาวโปแลนด์ได้ครองตำแหน่งสำคัญในสหภาพยุโรป

“อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ นายโดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) เข้าดำรงตำแหน่งประธานสภายุโรป (European Council) ตั้งแต่ปี 2014 (สิ้นสุด 30 พ.ย. 2019)” “คณะกรรมาธิการยุโรปได้มอบพอร์ตผลงานที่สำคัญทางการเกษตรให้แก่ Janusz Wojciechowski จากโปแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกที่ยาวนานของรัฐสภายุโรปในคณะกรรมการเกษตร”

การเติบโตทางเศรษฐกิจของโปแลนด์

“เศรษฐกิจของโปแลนด์เป็นแชมป์ยุโรปมาหลายปีแล้ว ในปี 2018 การเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นถึง5.1% ตามมาด้วย 4.8% ในปี2017 ตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน โปแลนด์ได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องสูงกว่า 4% ต่อปี ซึ่งทำให้ประเทศประสบความสำเร็จอยู่ในสถานะมีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและใหญ่เป็นอันดับเจ็ดในสหภาพยุโรป โดยในปีที่แล้วมี GDP ถึง 550 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวนประชากร 38 ล้านคน จากการรู้จักปรับตัวและมีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับการพิสูจน์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เมื่อเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก”

“ตามการคาดการณ์ขององค์กรทางเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก โปแลนด์จะยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและมั่นคงในปีต่อ ๆ ไปให้ทันกับประเทศในยุโรปตะวันตกที่พัฒนาแล้วได้มากที่สุด” ท่านทูตชึ้แจง

“นักลงทุนต่างชาติยอมรับว่าโปแลนด์เป็นตลาดที่น่าลงทุน โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในปี 2018 จำนวน 14 พันล้านเหรียญสหรัฐและเพิ่มขึ้น 51%”

ความสัมพันธ์ไทยกับโปแลนด์ทางด้านการค้า

“การค้าและการลงทุนถือเป็นสองเสาหลักในความสัมพันธ์ของไทยและโปแลนด์ การลงทุนล่าสุดของไทยในโปแลนด์รวมถึงการซื้อหุ้นในบริษัทสัตว์ปีก SuperDrob โดย CP Foods ของประเทศไทยและการเข้าซื้อกิจการโรงงาน PET (Polyethylene Terephthalate) โดยกลุ่มไทย Indorama Ventures ในอีกด้านหนึ่ง ไทยเป็นที่ตั้งของการลงทุนของบริษัทจากโปแลนด์ เช่น Comarch ซึ่งวางระบบไอทีในธนาคารใหญ่และบริษัทโทรคมนาคม รวมทั้ง Mercator Medical ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในตลาดถุงมือทางการแพทย์”

เป็นที่กล่าวกันว่า ชาวโปแลนด์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่ดีเยี่ยม ช่างโปแลนด์จัดว่าเป็น “ช่างซ่อมที่ดีที่สุด” พวกเขาสามารถเปลี่ยนมือเป็นช่างอะไรก็ได้ หากคุณจ้างช่างไฟฟ้าชาวโปแลนด์ เขาก็สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของระบบไฮดรอลิกได้สำเร็จ

“ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศนำไปสู่การเปิดตลาดเกษตรไทยสำหรับการนำเข้าแอปเปิ้ลจากโปแลนด์ซึ่งจะพบได้ในร้านค้าต่าง ๆในไม่ช้านี้ ในฐานะผู้ผลิตแอปเปิ้ลรายใหญ่อันดับสี่ของโลก โปแลนด์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุดในราคาที่แข่งขันได้ นี่เป็นกรณีในสหภาพยุโรปที่สินค้าเกษตรโปแลนด์ได้รับการยอมรับและกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ”

“ด้านนวัตกรรม โปแลนด์อยู่ในอันดับที่ 39 (จาก 126) ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก(The World’s Most Innovative Countries 2019) และเป็นศูนย์กลางในการสร้างวีดีโอเกมที่ประสบความสำเร็จ รวมถึง CD Projekt Red (ผู้พัฒนา The Witcher series และ Cyberpunk 2077), Techland (The Dead Island series และ parkour zombie spin-off, Dying Light), Flying Wild Hog (เบื้องหลังการฟื้นคืนชีพที่ได้รับการยกย่องอย่างมากของ Shadow Warrior)”

อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเปียโนของโลก ซึ่งท่านทูตกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

“นอกจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 แล้ว โปแลนด์ยังเป็นบ้านเกิดของนักดนตรียอดอัจฉริยะอย่าง เฟรเดอริก โชแปง (Frederic Chopin) และมารี สกวอดอฟสกา-กูว์รี (Maria Sklodowska-Curie) รวมทั้งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโชแปงระหว่างประเทศ (Chopin International Competition) ทุก ๆ 5 ปี ซึ่งในปี 2020 โปแลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโชแปงนานาชาติครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคมถึง 23 ตุลาคม 2020 ซึ่งจะเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของ Chopin ทั่วโลก”

วันสากลเพื่อรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงบนพื้นฐานของศาสนาหรือความเชื่อ “เนื่องจากโปแลนด์มีประเพณียาวนานหลายศตวรรษ ในด้านเสรีภาพของการนับถือศาสนา เราจึงเข้าใจถึงความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นวันสากลเพื่อระลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมให้เป็นวันรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงบนพื้นฐานของศาสนาหรือความเชื่อ (International Day Commemorating the Victims of Acts of Violence Based on Religion or Belie) อันเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของโปแลนด์ และด้วยแผนการเสริมสร้างบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศให้แข็งแกร่ง โปแลนด์จึงได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์”

การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการดนตรีและศิลปวัฒนธรรม

“สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ร่วมกับ Polish Radio จัดงานคอนเสิร์ตเปียโน Court to Common: from Thai classical to Thai folk music โดย อ. ณัฐ ยนตรรักษ์ และคณะนักแสดงจากสถาบันคริสเตียนนิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยพายัพ ณ Lutoslawski Concert Studio, Polish Radio ณ กรุงวอร์ซอ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-โปแลนด์ด้านการดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ที่ได้นำศิลปะลิเกไทยมาผสมผสานกับดนตรีได้อย่างดียิ่ง”

ด้านการศึกษาในโปแลนด์ ท่านทูตเล่าว่า

“โปแลนด์เป็นประเทศที่การศึกษามีความสำคัญ ด้วยมหาวิทยาลัยกว่า 200 แห่งมีโปรแกรมมากกว่า

800 โปรแกรมที่ดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ โปแลนด์ ได้กลายมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญของนักศึกษาต่างชาติ ที่อยากไปเรียนต่อยุโรป เพราะมีสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่มีคุณภาพสูง เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติอย่างสมบูรณ์และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก”

โปแลนด์ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“เราให้การสนับสนุนโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล บ้านเปิงเคลิ่ง จ.ตาก ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย – พม่า 15 กม.โดยพิจารณาจากสถานที่ซึ่งอยู่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ เราได้ให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนด้านสาธารณูปโภคอย่างยั่งยืนเพื่อสามารถพึ่งพาแหล่งอาหารได้ด้วยตนเอง เช่น เครื่องกรองน้ำ แปลงผัก บ่อเลี้ยงปลา และเล้าไก่”

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย โดยเอกอัครราชทูตวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ ร่วมกับโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง)โดย ดร.สิปปนนท์ มั่งอะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ร่วมลงนามในความร่วมมือพัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพ

“ในปี 2019 ความช่วยเหลือจากโปแลนด์ก้าวไปอีกขั้นในการพัฒนาด้านการศึกษาโดยจัดทำหนังสือภาษาไทยสำหรับนักเรียนท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งมูลนิธิภาษาไทยสำหรับนักเรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งโทรทัศน์และเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้”

“สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด โปแลนด์ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างห้องสมุดโรงเรียนอุปกรณ์และหนังสือ นักเรียนที่ใช้ห้องสมุดที่เพิ่งเปิดใหม่จะได้รับโอกาสเพลิดเพลินไปกับวรรณกรรมเด็กโปแลนด์ Maps และ Bees ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์โปแลนด์ Two sisters”

“ความช่วยเหลือของโปแลนด์ ในการให้ความร่วมมือกับโครงการ Clear Cambodia supported School, Water and Sanitation (SWASH) สำหรับโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในกัมพูชาสามแห่ง”

“ส่วนในประเทศเมียนมา โปแลนด์ในความร่วมมือกับหน่วยแพทย์โปแลนด์สนับสนุนกิจกรรมทางการแพทย์ โดยให้การฝึกอบรมเด็ก ๆ เกี่ยวกับสุขอนามัย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีและซี รวมทั้งให้คำปรึกษาและการรักษาทางการแพทย์ด้วย”

“โปแลนด์และไทยอาจเป็นเพื่อนเก่าแก่ต่อกันมา แต่จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมซึ่งกันและกันในรูปแบบใหม่ เราทั้งสองประเทศต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญ โปแลนด์อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูสำหรับเอกชนไทยเชื่อมต่อสู่ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และสหภาพยุโรปโดยรวม ในขณะที่ประเทศไทยอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการขยายธุรกิจของโปแลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“กลุ่มเอกชนจากไทยก็ได้เข้าไปลงทุนในโปแลนด์แล้ว โดยสามารถขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นและมีการตลาดที่เข้มข้นมากขึ้น”

“ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มร่ำรวยขึ้นจำนวน 67 ล้านคนแล้วยังเป็นสถานที่สำหรับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และการลงทุนที่มีศักยภาพอีกด้วย”

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติไทย (NIA) และองค์กรสตาร์ทอัพโปแลนด์ (startup Poland) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและการส่งเสริมสตาร์ทอัพในปีนี้ ผมมีความภาคภูมิใจที่ความร่วมมือกำลังเกิดขึ้นจริง ตัวอย่างล่าสุด คือการมีส่วนร่วมของตัวแทน NIA ในการประชุม Wolves Summit ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นที่เกิดขึ้นในกรุงวอร์ซอว์ (Warsaw) เมื่อเดือนที่ผ่านมา”

ท่านทูตโปแลนด์ กล่าวอำลาตอนท้ายว่า “โดยปกติวาระของการดำรงตำแหน่งในประเทศไทยราวสามถึงสี่ปี แต่บางครั้งอาจนานกว่านั้น จึงหวังว่า เมื่อผมหมดวาระที่นี่แล้ว ภาพของโปแลนด์ในประเทศไทยจะเห็นได้เด่นชัดมากขึ้น เพราะผมอยากให้คนไทยได้รู้จักในความสำเร็จของโปแลนด์ วัฒนธรรมโปแลนด์ และการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวโปแลนด์ เช่นเดียวกับคนไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอัธยาศัยไมตรีต่อการต้อนรับผู้มาเยือน”