เริ่มนับหนึ่งแก้ไข รธน. จับตาญัตติตั้ง 49 กมธ. ปชป.ชู “อภิสิทธิ์” คุมเกม พปชร.โดดขวางสุดตัว

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มนับหนึ่งหลังสภาเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2

ญัตติขอให้สภาตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอ คาดหมายว่าจะเข้าสภาวันที่ 13 พฤศจิกายน

ถือเป็นสัญญาณดี เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลกระตือรือร้นต่อการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย จากการร่วมเสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ไม่ว่าประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ

มีความเห็นหลากหลายจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เบื้องต้นกำหนดจำนวนไว้ที่ 49 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคณะรัฐมนตรี 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน ก็พอเห็นเค้าลาง ถึงมีสัญญาณเริ่มต้นที่ดี แต่ปลายทางไม่ง่าย

อุปสรรคในมุมแกนนำฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยมองว่า ถึงการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ขวากหนามใหญ่คือ

หากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือผู้มีอำนาจไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น การแก้ไขจึงจำเป็นต้องให้ทั้ง 2 ส่วนนี้เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ส.ว.เกรงว่าอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะหายไป ส่งผลต่อการสืบทอดอำนาจระยะยาว

นอกจากนี้ แม้ว่าพลังประชารัฐจะยื่นญัตติประกบไปกับพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็น่าจะเป็นการทำเพื่อหวังลดแรงเสียดทานจากสังคม

มากกว่าต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

 

พรรคประชาธิปัตย์ยังคงมองท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลในแง่ดีว่า

มีความชัดเจนอยู่แล้วในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภา การพูดคุยเรื่องนี้ภายในวิปรัฐบาลก็เป็นไปด้วยดี แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการลำพังโดยพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้

ต้องเป็นความเห็นร่วมของทั้งสภาไม่ว่าพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากการแก้ไขต้องใช้เสียงจำนวนมาก รวมทั้งเสียงของ ส.ว.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวว่า ส.ว.ยังไม่มีความพร้อมจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าฝ่าย ส.ส.จะแก้ไขในประเด็นใดและยังมองไม่เห็นถึงปัญหาของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญ ส.ว.มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความเรียบร้อยการเปลี่ยนผ่านประเทศในช่วง 5 ปี

“คณะกรรมาธิการการเมืองของวุฒิสภาเฝ้าติดตามประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญต่างๆ ของฝ่าย ส.ส.อยู่ แต่เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขในขณะนี้ ที่สำคัญประเด็นที่จะแก้ไขต้องเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่ใช่เรื่องการลิดรอนอำนาจ ส.ว. ถ้าเสนอมาแบบนี้ ส.ว.ไม่ร่วมมือด้วยแน่นอน เพราะขณะนี้ ส.ว.มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เรื่องหวงอำนาจแต่อย่างใด” นายเสรีระบุ

จากปัญหาดังกล่าว พรรคเพื่อไทยเสนอทางออกว่า อาจต้องหารือกับ ส.ว.ก่อนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนใดบ้าง มีความเป็นไปได้ที่อาจแก้บทเฉพาะกาลให้คงอำนาจของ ส.ว.ตามวาระ 5 ปี จากนั้นต้องหารือกันใหม่ว่าจะให้มีที่มาอย่างไร

เกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ มีความเห็นน่าสนใจจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ซึ่งกล่าวยอมรับว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งควรทำ เพียงแต่สิ่งแรกคืออย่าใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า

“เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาหรือไม่ หรือวุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน”

 

ก่อนลงลึกไปว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ควรแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นใด

มีสิ่งที่พรรคการเมืองหลักในฝ่ายรัฐบาลคือ พรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคประชาชาติเห็นตรงกันว่า ทุกอย่างควรเริ่มต้นที่หมวด 15 มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า

การเริ่มต้นกระบวนการที่หมวด 15 มาตรา 256 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขให้ทำได้ยาก หรือถึงขั้นทำไม่ได้เลย ก็จะเหมือนเป็นการสะเดาะกุญแจประตูบานแรกไปสู่ประชาธิปไตย

ตรงกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ซึ่งกล่าวยืนยันถึงแนวทางพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจำเป็นต้องเริ่มจากการเดินหน้าปลดล็อกมาตรา 256 ให้ได้ก่อน

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ในการประชุมสภาพิจารณาญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญฯ จะมีการพิจารณามาตรา 256 ที่กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่เริ่มต้นที่มาตรานี้ ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย

จากนั้นเมื่อได้วิธีการแก้ไขก็จะพูดคุยกันถึงวิธีการร่างข้อแก้ไข ว่าจะทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือทำโดยรัฐสภา

กับอีกประเด็นเริ่มส่อเค้าวุ่นวาย เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ต้องการช่วงชิงการนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการมีมติ 2 ข้อ ได้แก่

สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค นั่งเป็นประธาน กมธ.วิสามัญฯ ดังกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่แสดงอาการสกัดขัดขวาง อ้างว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของ กมธ.ว่ากันเองตามขั้นตอน ไม่ขอก้าวก่าย

ขณะที่วิปรัฐบาลยังแบ่งรับแบ่งสู้ ต่างจากพลังประชารัฐที่กระโดดขวางสุดตัว

ยืนยันตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนพรรคแกนนำรัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากเป็น กมธ.คณะใหญ่ การเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ ถึงจะทำได้ แต่ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคแกนนำรัฐบาล ต้องคำนึงถึงหลักมารยาท

 

เหตุที่พลังประชารัฐต้องเสียงแข็งเรื่องนี้

ทั้งที่ กมธ.นี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเท่านั้น อาจเป็นเพราะได้บทเรียนจากการยอมสละโควต้าประธานสภาให้กับนายชวน หลีกภัย

จนทำให้รัฐบาลและพลังประชารัฐไม่ได้เปรียบการเมืองในสภาอย่างที่คาดหวังไว้

และต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้นมีนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนได้รับสานต่อโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นนโยบายรัฐบาลได้สำเร็จ

สำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านยังกล้าๆ กลัวๆ กับการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ. เพราะถึงจะเหมาะสมในแง่คุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เคยเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคการเมือง

แต่ในแง่จุดยืนประชาธิปไตยยังเป็นปัญหา

ต่อให้ไม่นับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นายอภิสิทธิ์ก็เคยนำพรรค “บอยคอต” การเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง นำลูกพรรคเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหารปี 2557

ทั้งหมดนี้คือสัญญาณบ่งชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย แค่เริ่มต้นก้าวแรกก็ยาก

เว้นเสียแต่พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล ตลอดจน ส.ว. จะร่วมมือกันทำให้เป็นวาระแห่งชาติ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างบรรยากาศความร่วมมือกับภาคประชาชน เครือข่ายในสังคมทุกภาคส่วน ปลดล็อกทางออกให้กับประเทศ

ลดอคติ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลดการสร้างเงื่อนไข ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นเป้าหมายสูงสุด

ตามแนวทางนี้หากพรรคการเมืองใดยังทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง ไม่ให้ความร่วมมือ

เมื่อถึงเวลา ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินลงโทษเอง