ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (5)

ในตอนก่อนๆ เราได้บรรยายถึงการตีความเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสของนักประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไปแล้วสองประเด็น ได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะเด่นแยกเป็นเอกเทศออกจากการปฏิวัติอื่นๆ หรือไม่?

และการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติกระฎุมพีหรือการปฏิวัติประชาชน?

ในตอนนี้ จะกล่าวถึงประเด็นที่สาม คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์หรือการตัดตอนแตกหักทางประวัติศาสตร์?

 

ต่อประเด็นปัญหานี้ นักประวัติศาสตร์มีความเห็นแยกออกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรก เห็นว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่เหตุการณ์ที่ตัดขาดประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสออกเป็นสองท่อนอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้าม มันเป็นผลสืบเนื่องในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนาน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าปฏิวัติฝรั่งเศสได้พัฒนาและคลี่คลายไปตามจังหวะเวลาจนมาระเบิดเกิดขึ้นเอาเมื่อตอนปฏิวัติฝรั่งเศส

ฝ่ายที่สอง เห็นว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ หมุดหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ตัดตอนประวัติศาสตร์ให้แตกหักจากกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศสได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์และโครงสร้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากปราศจากการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้

ความเห็นของฝ่ายแรก นำโดย Alexis de Tocqueville เขาอธิบายไว้ใน L”Ancien R?gime et la R?volution (1856) ว่า ข้อเท็จจริงเหตุการณ์มากมายและมีอยู่ทั่วไปในระบบเก่าได้ตระเตรียมให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส

ในความเห็นของเขานั้น ปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในสองด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนรูปของโครงสร้างทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงความคิด

 

ในด้าน การเปลี่ยนรูปของโครงสร้างทางการเมือง การปฏิวัติฝรั่งเศสรับมรดกตกทอดมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพยายามจัดโครงสร้างการปกครองประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง สร้างเอกภาพในอาณาเขต เพิ่มอำนาจให้ราชการส่วนกลาง ลดอำนาจของจังหวัดต่างๆ ลดทอนเอกสิทธิ์ตามระบบศักดินา บั่นทอนอำนาจของขุนนาง ตลอดจนยกระดับให้พวกชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมาทัดเทียมเสมอกับชนชั้นขุนนาง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสได้รับมาทำต่อจนสำเร็จ

ในด้าน การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความคิดทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปฏิวัติ เริ่มสะสมและพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 รากเหง้าของภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนเมื่อเกิดปฏิวัติ แต่มันค่อยๆ บ่มเพาะก่อรูปขึ้นมาตามลำดับ

จนอาจกล่าวได้ว่า ความคิดในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองตามแบบปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น เป็นแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในความคิดของคนฝรั่งเศสจำนวนมากตั้งแต่สมัยระบบเก่าแล้ว

ความต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านโครงสร้างการปกครองและในด้านความคิดซึ่งบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจไม่ส่งผลลุกลามบานปลายจนเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ก็ได้ หากว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างดี

เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปรับตัวได้ช้าจนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติ 1789 จึงเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

จากความสืบเนื่องในทางประวัติศาสตร์จากระบบเก่าไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสนี้เอง ทำให้ Tocqueville สรุปว่า เอาเข้าจริงแล้ว การปฏิวัติฝรั่งเศสได้นำพาฝรั่งเศสออกจากสิ่งที่การปฏิวัติฝรั่งเศสกำลังเดินตาม

 

นอกจากโครงสร้างทางการปกครองและความคิดของผู้คนแล้ว นักประวัติศาสตร์ยังได้วิเคราะห์เหตุปัจจัยในทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย ดังที่เราทราบกันดีว่า ชนชั้นกระฎุมพีเป็นกำลังสำคัญใน “การเปิดฉาก” ปฏิวัติ ซึ่งหากพิจารณาสายธารทางประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าชนชั้นกระฎุมพี คือ ชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่โดยเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการขยายตัวของการแลกเปลี่ยนสินค้าและพาณิชยกรรม เมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น การค้าขายแลกเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นตาม ระบบการผลิตไม่ได้รับใช้ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการผลิตที่มุ่งต่อการค้าขายด้วย

ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเช่นนี้เอง ได้สร้างชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมา พวกเขามีอำนาจทางเศรษฐกิจ สะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สิน มีความรู้และศิลปะวิทยาการต่างๆ และขึ้นมามีบทบาทแข่งขันกับชนชั้นขุนนาง พระ และพวก aristocrat ดั้งเดิมที่ครอบครองที่ดินและอำนาจทางการเมืองบางส่วนเอาไว้

ความตึงเครียดระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นขุนนางนี้เอง เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ขึ้น

จากคำอธิบายเช่นนี้เอง ทำให้ไปสู่ข้อสรุปที่ว่า พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีส่วนสร้างการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมา

 

ในด้านวัฒนธรรมความคิดก็เช่นเดียวกัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความคิดหรือปรัชญาการเมืองที่มีผลต่อการเมืองในศตวรรษที่ 18 สืบเนื่องมาจากความคิดหรือปรัชญาในยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ที่เริ่มต้นความคิดรัฐสมัยใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปรัชญาแสงสว่าง

ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค ความมีเหตุมีผลของมนุษย์ การปลดปล่อยตนเองออกจากการครอบงำกดขี่

ความคิดทั้งหลายเหล่านี้ที่มุ่งสร้าง “มนุษย์แบบใหม่” (l”homme nouveau)

ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่างก็สืบทอดมาจากความคิดที่ฟูมฟักบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยระบบเก่าแล้ว