สุรชาติ บำรุงสุข | หมดเวลาซื้ออาวุธแบบเก่า! บทเรียน 14 กันยายน 2019

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อข้าพเจ้าถามผู้เชี่ยวชาญค้าอาวุธของเพนตากอนว่าพวกเขากลัวอะไร คำตอบไม่ใช่หุ่นยนต์สงครามของรัสเซีย แต่เป็นโดรนเชิงพาณิชย์ราคาถูก [ดังนั้น] เรากำลังอยู่ในโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาวุธที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองโดยอิสระ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากโลกที่กองทัพที่ก้าวหน้าเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างอาวุธเหล่านี้ได้”

Paul Scharre, Army of None (2018)

เหตุการณ์การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียด้วยโดรนในช่วงตีสามเศษของวันที่ 14 กันยายน 2019 กลายเป็นความท้าทายสำหรับนักการทหารทั่วโลก

ระบบอาวุธสมรรถนะสูงที่ถูกซื้อเข้าประจำการเพื่อการป้องกันประเทศ กลับไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันอย่างที่คาด

หรือกล่าวสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ระบบอาวุธ “ราคาแพง” กลับไม่สามารถรับมือกับการโจมตีของอาวุธ “ราคาถูก” ได้

สถานการณ์จริงในวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบแพตทริออต (The Patriot surface-to-air missiles) ซึ่งเป็นระบบอาวุธสมรรถนะสูง ที่ซาอุดีอาระเบียซื้อจากสหรัฐอเมริกาด้วยราคามหาศาลนั้น ไม่สามารถทำลายโดรนที่บินเข้ามาโจมตีบ่อน้ำมันที่ Khurais และ Abqaiq ได้เลย

จนไม่น่าเชื่อว่าโดรนที่เป็นอาวุธราคาถูก และไม่ได้มีระดับเทคโนโลยีสูงกลับสร้างอำนาจการทำลายเป้าหมายอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

โดยเฉพาะการใช้โดรนในการโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ที่ระบบการป้องกันแบบเก่าอาจจะไม่สามารถปกป้องได้ทั้งหมด

ข้อคิด

โดรน (drone) หรือในชื่อเดิมที่เรียกกันคือ “อากาศยานไร้คนขับ” (unmanned aerial vehicles หรือชื่อย่อที่คุ้นเคยกันคือ UAVs) ที่ในชีวิตสังคมพลเรือนอาจจะเป็นดังของเล่น โดยเฉพาะการใช้ถ่ายภาพทางอากาศ

แต่ในทางทหาร โดรนโดยทั่วไปใช้ในภารกิจของการลาดตระเวนทางอากาศ และต่อมาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 โดรนถูกนำมาใช้ในการล่าสังหาร

จนในวันนี้ภารกิจของโดรน

ขยายเป็นการโจมตีทางอากาศดังเหตุการณ์ในวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

การโจมตีครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบอาวุธราคาถูกและเทคโนโลยีต่ำสามารถสร้างผลตอบแทนทางทหารในการโจมตีได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันระบบอาวุธราคาแพงและเทคโนโลยีสูงกลับไม่สามารถทำหน้าที่ที่ถูกออกแบบไว้

ในด้านหนึ่ง เราอาจตอบด้วยสมรรถนะของแพตทริออตว่า ระบบป้องกันทางอากาศชุดนี้ไม่ได้ออกแบบเพื่อป้องกันโดรน

แต่ใช้เพื่อป้องกันการโจมตีของเครื่องบินรบข้าศึก หรือการโจมตีด้วยจรวด ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีการบินในระดับสูง

แต่โดรนบินในระดับต่ำ ทำให้เรดาร์ของระบบป้องกันทางอากาศไม่สามารถตรวจจับได้

ลักษณะเช่นนี้ทำให้โดรนกลายเป็นอาวุธที่สามารถหลบการจับจากเรดาร์ของข้าศึก

กลุ่มฮูติซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน น่าจะเห็นประโยชน์จากขีดความสามารถเช่นนี้ จึงใช้โดรนในภารกิจโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบีย

และกลุ่มนี้เคยใช้โดรนโจมตีสนามบินพลเรือนทางตอนใต้ของประเทศมาก่อนแล้วในวันที่ 2 กรกฎาคม แม้จะไม่ก่อความเสียหายขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นเหมือน “การซ้อมรบ” ที่พิสูจน์ว่า โดรนสามารถใช้ในภารกิจโจมตีเป้าหมายที่สำคัญของข้าศึกได้

การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันด้วยโดรนส่งผลกระทบทางยุทธศาสตร์อย่างมาก เพราะการโจมตีดังกล่าวทำให้การผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียชะงักลงเกือบครึ่งหนึ่ง

กล่าวคือ อำนาจการผลิตลดลง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอำนาจการผลิตทั้งหมด 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกระทบประมาณร้อยละ 5 ของการผลิตน้ำมันของโลก และบ่อน้ำมันที่ Abqaiq นั้น ถือเป็นบ่อน้ำมันที่สำคัญที่สุดของประเทศ หรือบ่อนี้เป็นดัง “หัวใจ” ของซาอุดีอาระเบีย และเป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลก

รัฐบาลริยาดตระหนักดีว่าบ่อน้ำมันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะที่ Abqaiq ซึ่งจะมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และมีระบบระวังป้องกันอย่างดี

การโจมตีที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในการป้องกัน แม้จะมีระบบป้องกันทางอากาศสมรรถนะสูง แต่ก็พิสูจน์จากสถานการณ์จริงว่า การป้องกันโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตน้ำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ซึ่งการป้องกันในเรื่องนี้อาจจะต้องคิดทบทวนใหม่ แม้กระทั่งในระดับของการป้องกันคลังน้ำมัน ตลอดรวมถึงสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์จากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ที่อาจจะใช้โดรนเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุต่อเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างง่ายๆ

ข้อทบทวน

การโจมตีทางอากาศของโดรนครั้งนี้ ไม่แต่เพียงทำให้บรรดา “นักอาวุธนิยม” ที่เชื่อมั่นแนวทางในการแก้ปัญหาทางทหารด้วยการซื้ออาวุธสมรรถนะสูงและราคาแพง อาจจะต้องคิดทบทวนใหม่หมด

เพราะการลงทุนด้วยการซื้ออาวุธราคาแพงอย่างไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าอาวุธทั้งหลายที่ซื้อเป็นจำนวนมากด้วยมูลค่ามหาศาลจากงบประมาณของประเทศนั้น จะใช้เพื่อตอบโต้/ป้องกันภัยคุกคามแบบใด

การลงทุนจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง อาจจะทำให้ทำเนียบกำลังรบของประเทศมีอาวุธใหม่เพิ่มขึ้น แต่อาจจะมิได้มีนัยที่บ่งชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภัยคุกคามแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาลและผู้นำทหารควรจะต้องตระหนักว่า สงครามได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากความเชื่อและความคุ้นเคยของพวกเขาไปอย่างมาก ความคุ้นชินกับสงครามในแบบเก่าจะไม่ช่วยให้เกิดขีดความสามารถในการป้องกันประเทศแต่อย่างใด

การโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียสะท้อนให้เห็นว่า ภัยคุกคามในเบื้องต้นอาจจะไม่ได้ถูกยกระดับขึ้น หากแต่เห็นได้ชัดว่ารูปแบบของภัยคุกคามเปลี่ยนไปจากความคุ้นเคย แต่เดิมอาจจะมองว่าการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันอาจจะมาจากจรวดหรือเครื่องบินรบ แต่เมื่อการโจมตีเกิดจากโดรนแล้ว เห็นได้ทันทีว่า ระบบป้องกันทางอากาศของซาอุดีอาระเบียกลับไม่สามารถรับมือได้จริง และนอกจากระบบป้องกันจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้จริงแล้ว สิ่งสำคัญมากกว่าก็คือ นักการทหารของซาอุดีอาระเบียอาจจะมองไม่เห็นถึงภัยคุกคามของโดรน แม้จะเคยเกิดเหตุโจมตีสนามบินมาแล้วก็ตาม

เมื่อขาดวิสัยทัศน์ที่มองไม่เห็นถึงการมาของภัยคุกคามแบบใหม่ ระบบป้องกันแบบเดิมที่แม้จะมีสมรรถนะสูงก็ด้อยค่าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบไม่สามารถทำหน้าที่ตามความต้องการได้จริง

ข้อเตือนใจ

การคิดแต่จะซื้อยุทโธปกรณ์ในแบบ “นักช้อปปิ้ง” ที่ถูกครอบงำด้วย “ลัทธิบริโภคอาวุธนิยม” และไม่เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของสงคราม อาจจะไม่นำไปสู่อะไรเลย เว้นแต่จะทำให้ “ธุรกิจอาวุธ” ในประเทศนั้นเฟื่องฟูมากขึ้นจากการใช้งบประมาณทหารแบบ “ไร้วิสัยทัศน์”

การจัดหาเช่นนี้นอกจากจะไม่ตอบสนองต่อการป้องกันประเทศแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดการซื้ออาวุธแบบไม่มีจุดจบในตัวเอง บนพื้นฐานความเชื่อว่า “ประเทศยิ่งมีอาวุธมาก ยิ่งปลอดภัยมาก” ซึ่งพิสูจน์มาในหลายกรณีแล้วว่า ไม่จริง

โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ จนกลายเป็นปัญหา “arms scandal” ที่เกิดในหลายๆ ประเทศ

สถานการณ์ในวันที่ 14 กันยายน ชี้ให้เห็นอย่างน่าสนใจว่า ระบบอาวุธสมรรถนะสูงราคาแพงที่เป็นความคาดหวังในการป้องกันประเทศนั้น อาจจะไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีของอาวุธเทคโนโลยีต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบอาวุธ “ไฮเทคราคาแพง” ด้อยค่าลงอย่างน่าเสียดาย ดังกรณีของระบบป้องกันทางอากาศแบบแพตทริออตที่ทันสมัย เมื่อต้องเผชิญกับการโจมตีของโดรน ที่เป็นอาวุธ “โลว์เทคราคาถูก” และมีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้

การโจมตีครั้งนี้พิสูจน์ด้วยการทำลายขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของรัฐเป้าหมายลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง… ราคาของโดรนที่ใช้ในการโจมตีเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าที่สูญเสียจากการโจมตีที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นทำให้ต้องคิดเรื่อง “เศรษฐศาสตร์การสงคราม” ใหม่ จนอาจสรุปว่า “อาวุธราคาถูกสามารถก่อความเสียหายราคาแพงได้”…

สงครามไม่ได้รบชนะด้วยอาวุธราคาแพงเท่านั้น

ข้อกังวล

ความน่ากลัวมากขึ้นก็คือ หากผู้ก่อการร้ายจะเปิดการโจมตีเมือง หรือโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้วยโดรน ซึ่งจะทำให้ “สงครามอสมมาตรของโดรน” (asymmetric drone warfare) เป็นอีกปัญหาที่สำคัญในอนาคต

นอกจากนี้ อาจคาดได้ว่า ความสำเร็จในการโจมตีบ่อน้ำมันของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ จะกลายเป็นตัวแบบให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเลียนแบบการเปิดการโจมตีด้วยโดรนในอนาคตเช่นกันด้วย ผลเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีความยากลำบากในการระวังป้องกันการก่อการร้ายในเมืองมากขึ้น

หรือในอีกด้านโดรนติดอาวุธในอนาคตจะเป็นผลจากการลอกเลียนแบบเหตุการณ์โจมตีซาอุดีอาระเบียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความคุ้มค่าจากปฏิบัติการ

และยังเลียนแบบจากความสำเร็จของโลกตะวันตกหลังจากปฏิบัติการของสหรัฐในอัฟกานิสถานและในอิรัก ที่มีการใช้โดรนอย่างกว้างขวาง

ดังจะเห็นได้ว่าโดรนกลายเป็นอุปกรณ์หลักทางทหารที่ใช้ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มในปัจจุบันให้ความสนใจกับการใช้โดรนมากขึ้น

ดังนั้น การก่อการร้ายด้วยโดรนจะเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มก่อการร้ายเองก็พยายามอย่างมากที่จะลดความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีของโดรน พวกเขายอมรับว่าปฏิบัติการของโดรนมีประสิทธิภาพอย่างมากในการล่าสังหารและโจมตี ถึงกับอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ต้องออกจดหมายเตือนภัยจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของสหรัฐที่จะติดตามและสังหารนักรบของกลุ่มอัลกออิดะฮ์

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นความพยายามของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ที่ศึกษาเรื่องของโดรน ทั้งในความหมายของการใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็หามาตรการในการป้องกันการโจมตีของโดรนด้วย โดยเฉพาะการล่าสังหารจากโดรน

สำหรับกลุ่มติดอาวุธแล้ว โดรนกำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการก่อการร้าย ฝ่ายตะวันตกเองจึงพยายามอย่างมากที่จะแสวงหามาตรการในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วยโดรน

ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง

ข้อพิจารณา

ตัวอย่างที่เริ่มชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในการใช้ปฏิบัติการโดรน เกิดในเดือนตุลาคม 2016 เมื่อกลุ่มรัฐอิสลามได้ใช้โดรนติดระเบิดในการสังหารนักรบชาวเคิร์ดสองนาย และยังทำให้หน่วยรบพิเศษของฝรั่งเศสบาดเจ็บอีกสองนายด้วย

ตัวอย่างของปฏิบัติการ เช่น กลุ่มนี้ยังใช้โดรนในการลวง ด้วยการปล่อยให้โดรนถูกยิงตก แต่เป็นโดรนที่ติดระเบิด และเมื่อนักรบชาวเคิร์ดนำโดรนดังกล่าวกลับไปยังฐานที่มั่นของตน นักรบของฝ่ายรัฐอิสลามก็จะระเบิดโดรนดังกล่าว

หรือกลุ่มฮูติที่เป็นผู้อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีบ่อน้ำมันในวันที่ 14 กันยายน ได้เคยใช้โดรนโจมตีสนามบินพลเรือน Abha ในภาคใต้ของซาอุดีอาระเบีย (อยู่ใกล้กับพรมแดนของเยเมน) มาแล้วในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่ก่อความเสียหายใหญ่ แต่ก็ทำให้พลเรือนบาดเจ็บ 9 คน (การโจมตีสองครั้งก่อนหน้านี้จะใช้จรวด)

ก่อนการโจมตีบ่อน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงของสหภาพยุโรป (The EU Security Commission) ได้แสดงความกังวลว่า เมืองในยุโรปอาจถูกก่อการร้ายด้วยโดรน (ดูใน DW Website, 3 สิงหาคม 2019) โดยเฉพาะการใช้โดรนเพื่อก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ (คือใช้โดรนทำ biological attack) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นความน่ากลัวอย่างมาก

ต่อมาในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา มีการจับกุมบุคคลที่เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลามที่เป็น “หมาป่าตัวเดียว” และวางแผนก่อเหตุด้วยโดรน

เชื่อว่าเขาเตรียมการโจมตีค่ายทหารในอังกฤษ ซึ่งหากกรณีนี้เกิดจริง จะเป็น “หมาป่าที่ใช้โดรน” เป็นกรณีแรกของการก่อการร้าย (ดูใน BBC News, 18 กันยายน 2019)

ดังนั้น หากพิจารณาเรื่องภัยคุกคามจะเห็นได้ในสองบริบทคือ โดรนในฐานะเครื่องมือสงครามของรัฐ ดังเช่นที่สหรัฐใช้ในอัฟกานิสถานและอิรัก และโดรนที่เป็นเครื่องมือใหม่ของการก่อการร้าย ซึ่งทำให้การรับมือกับ “สงครามอสมมาตรของโดรน” มีความยุ่งยากมากขึ้น

ความสำเร็จของการโจมตีในวันที่ 14 กันยายน กำลังกลายเป็นตัวแบบล่าสุดของ “สงครามโดรน” ให้ทั้งกับรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐด้วย!