ไม่เหลืออะไรให้หวัง ?

รัฐบาลหลังเลือกตั้งที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นด้วยการประกาศ “ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน” พร้อม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ฟังดูโอ่อ่าอลังการไม่น้อย

ขณะ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ให้ความหมายของธงนำประเทศไปปักไว้ที่ความรุ่งเรือง มี “แผนปฏิรูปประเทศ” เป็นรูปแบบปฏิบัติการเพื่อขยับการพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรืองนั้น

อย่างไรก็ตามที่เห็นและเป็นไปตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เริ่มทำงานก่อให้เกิดคำถามมาตลอดว่า มีผลงานอะไรที่สะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้มีความรู้ความสามารถที่จะนำไปไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองนั้น

กระทั่งการอธิบายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศให้ประชาชนเกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกัน มีภาพชัดว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ด้วยวิธีไหน

ยังไม่มีใครที่มีความสามารถพอที่จะอธิบายให้เห็นภาพเพื่อให้เกิดความเข้าใจนั้นได้

ขณะที่ความเป็นไปคือ ปัญหาของประเทศในแต่ละด้านดูจะมีอาการ “ฝีแตก” คือส่งผลในทางเลวร้ายเห็นได้ชัดอยู่ทั่ว

การเมืองยังเป็นเรื่องของการไล่ล้างความเห็นต่างไม่หยุดหย่อน

เศรษฐกิจหนักหนาสาหัส ปรับลดการเติบโต จีดีพี ส่งออกทรุด ถูกสหรัฐตัดจีเอสพี ขณะที่การทำมาหากินของคนระดับล่างถูกจัดระเบียบอย่างหนัก

สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นแค่แจกเงิน ด้วยระบบที่ทำให้ที่สุดแล้วไหลเข้าสู่ทุนใหญ่เป็นกอบเป็นกำ

เรื่องราวที่เป็นไปเช่นนี้ รัฐบาลอาจจะคิดว่า ประชาชนไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับสภาพไร้ความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ

ทว่าผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง” ดูจะเป็นคำตอบว่าประชาชนไม่ได้โง่เง่าอย่างที่คิด

ในคำถามที่ว่า “ตั้งแต่หลังเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน คิดว่าระดับความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยเป็นอย่างไร ร้อยละ 44.85 ตอบว่า เพิ่มขึ้น, ร้อยละ 36.71 ตอบว่าเท่าเดิม มีแค่ร้อยละ 14.53 เท่านั้นที่ตอบว่าลดลง โดยร้อยละ 3.35 ตอบว่าไม่มีความขัดแย้งแล้ว

ความแตกแยก ขัดแย้งและไล่ล้างทำลายเป็นเหตุใหญ่ขัดขวางการพัฒนาชาติ

ถึงอย่างไรรัฐบาลย่อมมีหน้าที่หาทางคลี่คลาย แต่ในความรู้สึกประชาชน ดูไม่มีความหวังจากความสามารถของผู้บริหารประเทศ

เมื่อถามถึงระดับความกังวลว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะส่งต่อการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 21.43 มีความกังวลมาก, ร้อยละ 33.14 ค่อนข้างกังวล ขณะที่ร้อยละ 20.51 ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 24.09 ไม่กังวล

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงออกในทุกที่ที่มีโอกาสสะท้อนถึงความมั่นใจอย่างสูงยิ่งในความรู้ความสามารถของคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีความมั่นใจแค่ไหน

หากความมั่นใจนั้นสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนย่อมเป็นปัญหา

ด้วยไม่ว่าจะมีอำนาจยิ่งใหญ่แค่ไหน ควบคุมให้ประเทศอยู่ในบงการได้ยาวนานเพียงใด

อำนาจและการควบคุมที่ไม่ช่วยคลายให้ความกังวลหมดไปจากใจประชาชน ด้วยผลงานที่สร้างความเชื่อในเรื่องความสามารถได้

จะมีประโยชน์อะไร