ต่างประเทศอินโดจีน : การกลับมาของปัญหากล้วย

ปัญหาเรื่องไร่กล้วยของนักธุรกิจจีนในประเทศลาว เคยนำเสนอให้เห็นปัญหากันไปบ้างแล้วในอดีต แต่ต้องกลับมาเล่าสู่กันฟังใหม่อีกครั้ง หลังจากสถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ย่ำแย่ลง

ย้อนกลับไปในตอนต้นทศวรรษ 2000 จีนต้องการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านอาเซียนให้แนบแน่นมากขึ้น จึงจัดทำโครงการ “โกอิ้ง เอาต์” ขึ้น

ภายใต้โครงการดังกล่าว ส่งผลให้มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีการเกษตรหลั่งไหลสู่ลาวและชาติอาเซียนอื่นๆ เป้าหมายเพื่อเพิ่ม “ขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตร” สู่จีน

ผลลัพธ์หนึ่งของโครงการริเริ่มดังกล่าวทำให้พื้นที่จังหวัด (แขวง) ชายแดนและจังหวัดต่อเนื่องทางตอนเหนือของลาว กลายเป็นแหล่งลงทุนของนักธุรกิจจีน เข้ามาทำไร่กล้วยหอมกันเป็นจำนวนมาก

ระหว่างปี 2011 เรื่อยมาจนถึง 2017 พื้นที่ไร่กล้วยจีนในลาวขยายออกไปตามลำดับ จนครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 11,000 เฮกตาร์ หรือกว่า 68,700 ไร่ สร้างงานให้กับครอบครัวชาวลาวในชนบทมากมาย ช่วยให้ชีวิตคนเหล่านั้นมั่นคงขึ้น การศึกษาดีขึ้น

พร้อมกันนั้นก็นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่สืบเนื่องจากไร่กล้วย ซึ่งใช้ทั้งยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าเชื้อรา และฮอร์โมน เต็มพิกัด ส่งผลทั้งต่อคนงานโดยตรงและต่อชุมชนทั้งหลายเมื่อสารเคมีอันตรายเหล่านั้นปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

จากการเก็บข้อมูลแสดงให้เห็นว่า คนงานพ่นยาในไร่กล้วย 63 เปอร์เซ็นต์ล้มป่วยในช่วง 6 เดือนหลังจากเข้าทำงาน อาการมีตั้งแต่ปวดหัว, วิงเวียน มึนงง, เรื่อยไปจนถึงเลือดออกภายใน ปนออกมากับปัสสาวะ

สตรีมีครรภ์ได้รับผลกระทบสูงสุด หลายคนมีภาวะ “น้ำเดิน” ก่อนกำหนด หลายคนคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดหลายคนพิกลพิการแต่กำเนิด

 

ทางการลาวตัดสินใจดำเนินมาตรการปิดไร่กล้วยหลายแห่งที่มีปัญหา ห้ามการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ในปี 2017 เพื่อยับยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมและการก่อปัญหาสุขภาพ

ระหว่างปี 2017-2018 มูลค่าการส่งออกกล้วยของลาวตกวูบ จาก 168 ล้านดอลลาร์เหลือเพียง 112 ล้านดอลลาร์ แขวงบ่อแก้วได้รับผลกระทบสูงสุด ปริมาณส่งออกกล้วยเทียบกันปีต่อปีลดลง 180 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018

รัฐบาลใจแข็งอยู่ได้แค่ถึงปลายปี 2018 ก็ยกเลิกการห้าม อนุญาตให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกกล้วยอีกครั้ง พร้อมกับต่อสัญญาเดิมออกไป ภายใต้ข้อแม้ว่า ทุกไร่ต้องดำเนินการตามแนวการปฏิบัติที่ดีสำหรับพืชเกษตร (จีเอพี) ขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) โดยผู้ปลูกต้องออกใบรับรองว่าดำเนินการตามจีเอพีในการใช้สารเคมี

“ไชน่า ไดอะล็อก” เอ็นจีโอ ติดตามตรวจสอบพบว่า จากการสำรวจไร่กล้วยทั้งหลายพบทั้งการเผาทำลายภาชนะพลาสติกและพบขวดสารเคมีทิ้งเกลื่อนเป็นขยะไว้ใกล้กับไร่กล้วยทุกที่ รวมทั้งขวดบรรจุคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอด

ข้อสรุปของ “ไชน่า ไดอะล็อก” ก็คือ ที่ผ่านมา ไม่มีไร่กล้วยแห่งใดดำเนินการได้ตามมาตรฐานจีเอพีเลยแม้แต่รายเดียว

“รัฐบาลลาวไม่มีทั้งประสบการณ์ ไม่มีทั้งวิธีการใดๆ ที่จะตรวจสอบ เฝ้าระวังให้ไร่กล้วยทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรฐานของจีเอพีได้” คือสาเหตุสำคัญที่เป็นที่มาของความล้มเหลวดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ในระดับท้องถิ่น มีบุคลากรจำกัดมาก เพียงแค่รับเรื่อง พิจารณา แล้วให้ความเห็นชอบในการลงทุนเปิดไร่กล้วย ก็เป็นงานเต็มมือแล้ว ไม่เหลือใครไว้ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบอีกเลย

เมื่อตรวจสอบไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าใครละเมิด ใครไม่ละเมิด การลงโทษจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่รายเดียว

ที่สำคัญก็คือ ไร่กล้วยขยายออกไปอีกแล้ว

นั่นหมายความว่า ถ้าการใช้สารเคมียังคงระดับเดิม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขในพื้นที่ไร่กล้วยจะยิ่งขยายวงเลวร้ายออกไปมากกว่าเดิมแล้ว