วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น “ชีวิตในความเสี่ยงและทางรอด”

ชีวิตในความเสี่ยงและทางรอด

ชีวิตของสาธารณชนในปี 2017 และหลังจากนั้นจักมีความเสี่ยงภัยอันตรายสูงขึ้น แม้ชนชั้นผู้ปกครองก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยมากเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีความยากลำบากที่ต่างกันไป

ความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากหลักค้ำความมั่นคง ได้แก่ สินทรัพย์ความมั่งคั่งและอำนาจ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนเดิม

เกิดฟองสบู่สินทรัพย์และฟองสบู่อำนาจ หรืออำนาจที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ทั้งหมดพัฒนาไปสู่รัฐล้มเหลว แต่ก่อนจะกล่าวถึงฟองสบู่ทรัพย์สินความมั่งคั่งและรัฐล้มเหลว ควรกล่าวถึงมุมมองความเสี่ยงและทางออกของนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ 2 คน ซึ่งทฤษฎีของเขามีอิทธิพลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจในโลกตะวันตกอย่างสูง

ได้แก่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (1883-1946) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ

งานเด่นของเขาชื่อ “ทฤษฎีทั่วไปของการจ้างงาน ดอกเบี้ย และเงิน” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1936) ทฤษฎีการเงินของเขาได้นำมาใช้ยาวนานตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำ จนถึงทศวรรษที่ 1970 และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ 2008 จนถึงปัจจุบัน แต่กำลังถูกสั่นคลอน เนื่องจากไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจโลกได้อย่างแข็งแรง

อีกบุคคลหนึ่งคือ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (1883-1950) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดของสหรัฐ เชื้อสายออสเตรีย งานเขียนที่รู้จักดีชื่อ “ทุนนิยมสังคมนิยม และประชาธิปไตย” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1942)

เขาเป็นผู้เปิดมุมมองใหม่แก่ระบบทุนนิยม ทำให้เห็นพลังเคลื่อนไหวหลักของระบบพัฒนาการและการสร้างความเติบโต


การมองเศรษฐกิจ-การเมืองของชุมปีเตอร์และเคนส์

โดยธรรมชาติ ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีพลวัต การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และการเติบโตอยู่ตลอด แต่นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ของทุนนิยมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ อดัม สมิธ (1723-1790) จนถึงเคนส์ ที่แม้จะมองและอธิบายเศรษฐกิจทุนนิยมไปต่างๆ แต่ก็เห็นร่วมกันประการหนึ่ง ได้แก่ การเห็นว่าระบบทุนนั้นคงที่ และพยายามรักษาดุลยภาพและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจนี้ไว้ด้วยเครื่องมือและมาตรการหลายรูปแบบ

แต่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งที่เห็นเป็นตรงข้ามคือ ชุมปีเตอร์ ที่เห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบพลวัต ไม่สามารถวิเคราะห์แบบดุลยภาพได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนตัวเองไปโดยตลอด

พลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ “นวัตกรรม” กล่าวเชิงชนชั้นได้แก่ “ชนชั้นผู้ประกอบการ” ผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้ปฏิบัติสิ่งใหม่ หรือนำสิ่งเก่ามาปฏิบัติในแบบใหม่ สร้างวิธีการผลิตใหม่ เปิดตลาดใหม่ เปลี่ยนองค์กรทางเศรษฐกิจใหม่ เช่น กลุ่มบริษัท หรือบรรษัทใหญ่ และการตั้งบริษัทใหม่

นวัตกรรมหรือการเป็นผู้ประกอบการ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากการจ้างงานแบบเก่าและล้าสมัย สู่การจ้างงานแบบใหม่และมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่า เป็นแหล่งที่มาของกำไรและแหล่งงานของคนงาน ลูกจ้าง

แต่นวัตกรรมดังกล่าวเป็น “การทำลายที่สร้างสรรค์” มันทำให้เครื่องจักรและการลงทุนแบบเก่าล้าหลัง ขณะเดียวกันก็เร่งการสะสมทุนมากขึ้นโดยลำดับ

การสะสมทุนและประสิทธิภาพการผลิตคือทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องรักษาความสามารถการผลิตความมั่งคั่งไว้เสมอ ซึ่งก็คือการรักษาตำแหน่งงานในปัจจุบัน และสร้างงานในอนาคต ในกำไรจึงมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้สามารถธำรงธุรกิจนั้นต่อไปได้ เป็นค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ทั้งชุมปีเตอร์และเคนส์มีทัศนะตรงกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ทั้งสองให้ความสำคัญแก่กิจกรรมด้านการเงินสูง

เคนส์ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากชุมปีเตอร์ เห็นว่าเศรษฐกิจเชิงสัญลักษณ์ หรือการเงินเป็นของจริง และเศรษฐกิจที่เป็นจริงได้แก่ ภาคการผลิตสินค้าและบริการกลับต้องขึ้นต่อภาคการเงิน

เคนส์ยังเสนอต่อไปว่า กิจกรรมทางการเงิน ได้แก่ งบประมาณขาดดุล อัตราดอกเบี้ย ขนาดของสินเชื่อ และขนาดของเงินตราหมุนเวียน มีส่วนกำหนดอุปสงค์หรือความต้องการ หรือความเป็นไปทางเศรษฐกิจ

ส่วนชุมปีเตอร์เห็นแต่เพียงว่า ผู้ประกอบการด้านการเงินเป็นผู้ขับเคลื่อนและแบกรับความเสี่ยงของนวัตกรรม และเขาไม่เคยเห็นด้วยกับเคนส์ ที่ให้ความสำคัญของด้านการเงินอยู่เหนือนวัตกรรมในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่เคนส์เสนอในเรื่องการใช้นโยบายและมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นที่ถูกใจแก่ชนชั้นนายทุนมากกว่า

ทฤษฎีของเคนส์ได้ริเริ่มมาปฏิบัติในสหรัฐสมัยโครงการนิวดีลของประธานาธิบดีโรสเวลต์ (1933-1938) ครั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง

แต่แล้วเศรษฐกิจสหรัฐก็ทรุดตัวลงอีก เป็นเพราะการใช้จ่ายและการรัดเข็มขัดในสงครามโลกครั้งที่สองที่ช่วยให้สหรัฐและโลกพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปได้

ทฤษฎีของเคนส์ยังมีเสน่ห์สำหรับผู้คนทั่วไปอีกอย่างหนึ่งคือ การเสนอเรื่องดุลยภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ชุมปีเตอร์มองเห็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง การพัฒนา “การทำลายที่สร้างสรรค์” และความสำเร็จของระบบทุนที่นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสังคมนิยมในที่สุดซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ยาก

ขณะที่เขียนหนังสือที่กลั่นจากประสบการณ์ ความคิดและการศึกษาของเขาเกือบสี่สิบปี และมีชื่อเสียงที่สุดชื่อ “ทุนนิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตย” ชุมปีเตอร์ยังอยู่ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง (เทคโนโลยีสำคัญได้แก่ โทรศัพท์ หลอดไฟฟ้า เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องยนต์สันดาปภายใน วงจรเริ่มต้นระหว่าง 1870-1914 และส่งผลยาวนานจนถึงทศวรรษ 1960) ซึ่งยังมีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมได้อีกมาก

แต่เขาได้เห็นความเสื่อมถอยหลายด้านในระบบทุน แสดงออกที่ลัทธินาซีในเยอรมนี ลัทธิโรสเวลต์ในสหรัฐ

เขาเห็นว่าเผด็จการโรสเวลต์จะทำลายสหรัฐในทางใดทางหนึ่ง และนำสหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ที่เขาชิงชังมากที่สุด ได้แก่ ลัทธิสตาลินในสหภาพโซเวียต

ตัวชุมปีเตอร์เองได้รับอิทธิพลความคิดแบบสังคมนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะจาก คาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) แต่เขาศึกษามาร์กซ์เพื่อปฏิเสธมาร์กซ์และลัทธิคอมมิวนิสต์

เขาเห็นว่ามาร์กซ์มีความเข้าใจระบบทุนนิยมอย่างลึกซึ้งรอบด้าน แต่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงอธิบายพัฒนาการของระบบทุนนิยมผิดพลาดไป

ชุมปีเตอร์อธิบายพัฒนาการระบบทุนนิยมและการเกิดขึ้นของสังคมนิยมใหม่ ต่างกับลัทธิมาร์กซ์ สรุปได้คือ

(1) นวัตกรรมสร้างความมั่งคั่งเป็นอันมากในระบบ ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นคนงานดีขึ้น ไม่ได้เลวร้ายลงอย่างที่มาร์กซ์กล่าว

(2) นวัตกรรมสร้างกำไรให้แก่ชนชั้นผู้ประกอบการหรือนายทุน กำไรไม่ได้เกิดจากการขูดรีดการทำงานส่วนเกินของกรรมกรอย่างที่มาร์กซ์ว่าไว้

(3) นวัตกรรมเป็นการทำลายที่สร้างสรรค์ เป็นการนำการผลิต เครื่องจักร โรงงาน การบริหาร ฯลฯ ที่มีประสิทธิภาพกว่าเข้าแทนที่การผลิต ฯลฯ ที่ล้าหลังกว่า ในข้อนี้มาร์กซ์ได้กล่าวถึงไว้ในหลายแง่มุม มีมุมมองหนึ่งที่ควรกล่าวถึงได้แก่ การที่กระบวนโลกาภิวัตน์ทำลายรัฐชาติ ที่ได้กลายเป็นความขัดแย้งใหญ่อย่างหนึ่งในปัจจุบัน ความว่า

“เนื่องจากได้เปิดตลาดโลกขึ้น ชนชั้นนายทุนจึงทำให้การผลิตและการบริโภคของประเทศทั้งปวงมีลักษณะทั่วโลก ไม่ว่าพวกปฏิกิริยาจะเสียดายเพียงไรก็ตาม ชนชั้นนายทุนก็ยังขุดรากฐานแห่งชาติ อันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมออกเสีย อุตสาหกรรมแห่งชาติอันเก่าแก่ถูกทำลายไป หรือยังคงถูกทำลายอยู่ทุกวัน มันถูกอุตสาหกรรมใหม่กีดกันออกไป การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น ได้กลายเป็นปัญหาความเป็นความตายของประชาชาติอารยะทั้งปวงแล้ว” (ดู “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” โดย คาร์ล มาร์กซ์ และเฟรเดอริก เองเกลส์ เผยแพร่ครั้งแรกปี 1848 ใน thaisocialist.net)

(4) การปฏิบัติการเชิงผูกขาดเป็นสิ่งดี ช่วยยกมาตรฐานการครองชีพของผู้คนทั้งหลาย เนื่องจากบรรษัทใหญ่สามารถใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาและลงทุนขนาดใหญ่สร้างนวัตกรรมอยู่เสมอ

(5) การพัฒนาของระบบทุนมีลักษณะเป็นวงจร ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น เทคโนโลยีและเครื่องจักร ก็มีเวลาที่เก่า ล้าสมัย ต้องบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่ เรื่องวงจรเศรษฐกิจนี้มีผู้อื่นศึกษาไว้จำนวนมาก มาร์กซ์เองก็กล่าวถึงเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว คติพุทธกล่าวว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

(6) ในที่สุดระบบทุนนิยมก็จะเปลี่ยนสู่ระบบสังคมนิยม แต่การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดจากความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบทุนอย่างที่มาร์กซ์เห็น

นั่นคือเมื่อระบบทุนพัฒนาสู่ขั้นลัทธิบรรษัทหรือการผูกขาด ผู้ประกอบการถูกแปรเป็นผู้จัดการเชิงรัฐกิจ ปัญญาชนที่เป็นปรปักษ์กับทุนนิยมเพิ่มจำนวนขึ้น และความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเสื่อมถอย การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมนิยมจึงไม่ได้เกิดจากการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ หากเกิดจากชนชั้นผู้จัดการ ปัญญาชน สังคมนิยมไม่ใช่ “ความตาย” ของทุนนิยม หากแต่ว่าเป็น “ทางออก” ของระบบทุน สังคมนิยมสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยเป็นเพียงกระบวนการในการเลือกผู้นำ

ในแง่นี้ ชุมปีเตอร์มองข้ามชนชั้นคนงาน และให้ความสำคัญแก่กลุ่มมันสมอง ผู้ประกอบการที่เป็น “คนแห่งการกระทำ” (Man of Action) และการเปลี่ยนผ่านเป็นเชิงปฏิรูป

ขณะที่มาร์กซ์มองเห็นการเปลี่ยนผ่านในเชิงปฏิวัติ และเห็นว่าชนชั้นคนงานผู้ไร้สมบัติเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนใหญ่ครั้งนี้

(ดูหนังสือของ Joseph A. Schumpeter ชื่อ Capitalism, Socialism & Democracy เผยแพร่ครั้งแรกปี 1942 เริ่มเขียนปี 1938 ใน cnqzu.com และบทความของ Peter F. Drucker ชื่อ Schumpeter And Keynes เคยเผยแพร่ปี 1983 ใน forbes.com 2007 เป็นต้น)

 

ความคิดของชุมปีเตอร์นั้นมีจุดอ่อนอยู่ไม่น้อย เช่น การมองเห็นแต่ด้านบวกของภาคการเงินว่าช่วยขับเคลื่อนและรับความเสี่ยงของนวัตกรรม และมองข้ามการเงินแบบเก็งกำไรและแบบแชร์ลูกโซ่ ที่ทำให้เกิดวิกฤติระบบทุนนิยมรุนแรงได้ แต่ความคิดทฤษฎีของชุมปีเตอร์ยังคงมีความสำคัญจนถึงปัจจุบันอยู่สองประการ ได้แก่

(1) ความสำคัญของการมองระบบและการตั้งคำถาม ได้แก่ การมองระบบเชิงพลวัต มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จากนี้ก็ตั้งคำถามให้ถูกต้อง เช่น ไม่ตั้งคำถามว่า จะรักษาระบบให้ไปสู่ดุลยภาพและความมั่นคงได้อย่างไร และในสถานการณ์ที่ทั้งโลกประสบวิกฤติทั่วด้าน การตั้งคำถามว่าจะทำให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างไร ย่อมเป็นภัยแก่ตนเองและประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก

คำถามที่ควรตั้งสำหรับบุคคลทั่วไปก็คือ ตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประชาชาติจะอยู่รอดอย่างไร กระทั่งถามว่า อารยธรรมปัจจุบันและมนุษยชาติจะอยู่รอดได้หรือไม่ และอย่างไร

(2) ความสำคัญของนวัตกรรม หลังจากที่ใช้ทฤษฎีของเคนส์ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ 2008 ไม่ได้ผลตามคาด ก็ได้มีผู้หันมาใช้แนวคิดนวัตกรรมของชุมปีเตอร์เป็นทางออกกันมากขึ้น เช่น การเสนอเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่หรืออุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ การก้าวสู่ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ที่ฉลาด และการเชื่อมสิ่งทั้งหลายผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet of Things) อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น เป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแบบที่ชุมปีเตอร์กล่าวว่า “การทำลายที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างสูงต่อรูปแบบของรัฐบาลและบรรษัทใหญ่ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านบวกและลบ รวมทั้งด้านศีลธรรม และผู้ประกอบการทั้งหลายต้องกล้าก้าวเดินต่อไป

(ดูบทความของ Klaus Schwab ชื่อ The Fourth Industrial Revolution : what it means how to respond ใน weforum.org 14.01.2016)

 

ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมัชชาเศรษฐกิจโลก 2017 ก็ยังได้มีการสนทนาเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่อย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องความรุ่งเรืองของเครื่องจักรและการรับมือ

อนึ่ง การประชุมสุดยอดของกลุ่ม 20 (ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของโลก) ปี 2015 เห็นพ้องให้ประเทศสมาชิกพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลและสร้างความร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2016 และรัสเซียได้เป็นประเทศหนึ่งที่เอาการเอางานในด้านนี้ โดยมีแผนที่จะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในปี 2035 (ดูเอกสารชื่อ G 20 Digital Economy Development and Cooperation Initiatives ใน en.klemlin.ru 05.09.2016)

ประเทศไทยหลังจากที่กล่าวถึงเศรษฐกิจนวัตกรรมมาพักหนึ่ง ก็ได้สร้างโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการพัฒนาวิทยาการ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้แก่ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาควิชาการ (หรือชนชั้นปัญญาชน) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงฟองสบู่สินทรัพย์ความมั่งคั่ง รัฐล้มเหลว และอื่นๆ