วิเคราะห์ | กลเกมเหนือเมฆ ส่ง “ธนาธร” เข้าสภา นำทัพชำแหละ พ.ร.บ.งบฯ-ฟากรัฐบาลสกัด

จบไปแล้วกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ปิดท้ายด้วยเหตุผลโชว์หล่อจากประธานวิปฝ่ายค้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า “จะโหวตให้ผ่าน ก็ทำใจไม่ได้ แต่ถ้าโหวตให้ตก ใจไม่ด้านพอ ใจไม่แกร่งพอ เพราะนึกถึงชาวบ้าน แต่ถ้าไม่ทำตามที่ฝ่ายค้านเสนอแนะ วาระ 2-3 มาว่ากันอีกที”

ถ้าเจาะลงไปดูที่พรรคอนาคตใหม่ ศึกอภิปรายครั้งนี้ไม่ธรรมดา ในแง่ดีคือเป็นไปตามคาดหมายทั้งคุณภาพการอภิปราย จนได้รับการชื่นชมจากนายกฯ และฝั่งรัฐบาล ก่อกำเนิดเกิดดาวสภารุ่นใหม่อีกหลายคน โชว์ความสด อัดแน่นข้อมูล นำเสนอปัญหาเชิงสถิติโดยใช้กราฟิกรูปแบบใหม่ สะท้อนปัญหาได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม

นั่นคือความไม่ธรรมดาแบบแรก

ส่วนความไม่ธรรมดาอีกด้าน เป็นเรื่องไม่ค่อยน่ายินดีสักเท่าไหร่ เพราะศึกอภิปรายครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่เจอกับปรากฏการณ์งูเห่า โหวตสวนมติพรรค โดยไม่ได้รับการชี้แจงมาก่อน

ยิ่งนับการโหวตร่าง พ.ร.ก.โอนย้ายของกองทัพ ลามมาจนถึงการขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรค และตั้งกรรมการสอบคนที่งดออกเสียง ก็ยิ่งชัดในปัญหาความไม่เป็นเอกภาพอย่างชัดเจนของคนส่วนหนึ่งในพรรค

หลังจากการโหวตเรียบร้อย ในขั้นของการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีกำหนดสัดส่วนจำนวนจากฝ่ายต่างๆ

ประกอบด้วย จากคณะรัฐมนตรี 15 คน พรรคการเมือง 49 คน แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 25 คน ฝ่ายรัฐบาล 24 คน คือ พรรคเพื่อไทย 13 คน พรรคพลังประชารัฐ 12 คน พรรคอนาคตใหม่ 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ 5 คน พรรคภูมิใจไทย 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน

ตรงจุดนี้อนาคตใหม่ก็สร้างเซอร์ไพรส์อีก เพราะจัดเอาธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นผู้นำทีมผู้ชำนาญการของพรรคเข้ามาร่วมชำแหละร่างกฎหมายดังกล่าว

เพราะธนาธรคือเบอร์หนึ่งของพรรค จะบอกว่าเป็นผู้นำการสร้างปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ผิด ตั้งพรรคได้เพียง 1 ปี ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนไม่เคยมีใครเป็น ส.ส.มาก่อน ยังสามารถกวาดคะแนนได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด ก่อนจะถูกร้องเรื่องหุ้นสื่อ และถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้เพียงเข้ามากล่าวลาในสภาเพียงไม่กี่วินาที ท่ามกลางการขัดขวางอย่างหนักจากพรรคฝ่ายรัฐบาล

กรณีนี้อนาคตใหม่ใช้ช่องว่างเรื่องโควต้าของพรรค เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญแค่ห้ามธนาธรทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา แต่การเป็น กมธ.วิสามัญของสภาไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ก็สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ ชื่อของธนาธรจึงถูกเสนอขึ้นมา สร้างความฮือฮาไม่น้อย

ก่อนหน้านี้แม้นายธนาธรจะไม่ได้เข้าสภาด้วยการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ก็คอยมาติดตามกำกับดูแลลูกพรรคผ่านจอทีวีนอกห้องประชุมบ่อยครั้ง

จากนี้ไปนายธนาธรก็จะได้กลับเข้าสภาอีกครั้ง เป็นเวลาร่วม 3 เดือน เพื่อเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการงบประมาณ

สําหรับในชั้นแปรญัตติของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านวาระแรกไปแล้วนั้น จะเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตราไปจนถึงวันที่ 3 มกราคมปีหน้า

จากนั้นวันที่ 8-9 มกราคม 2563 จึงเป็นการอภิปรายในวาระ 2-3 เพื่อลงมติว่าเห็นชอบทั้งฉบับหรือไม่

ในขั้นนี้ก็ต้องลุ้นหน่อย เพราะพรรคฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า ที่งดออกเสียงวาระหนึ่ง เพื่อที่ต้องการไปแก้ไขในวาระ 2 และ 3 หากไม่ได้รับการตอบสนองก็จะโหวตคว่ำ

ซึ่งมีผลหากรัฐบาลแพ้ก็ถึงขั้นต้องลาออกรับผิดชอบ แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลชนะ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในขั้นของวุฒิสภาในวันที่ 20 มกราคม ถึงช่วงนี้รัฐบาลก็อุ่นใจได้ โดยกระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 27 มกราคม ก่อนที่รัฐบาลจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

แม้วาระแรกจะผ่านมาได้อย่างลุ้นๆ แต่เงินงบประมาณก้อนนี้ก็น่าสนใจ กรณีของบฯ กลาง ที่มีถึง 5.18 แสนล้านบาท จัดเป็นการตั้งงบฯ กลางที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ถูกฝ่ายค้านวิจารณ์หนัก คล้ายกับการขอเช็คเปล่าจากประชาชน เพื่อไปใช้อะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

โดยเฉพาะที่น่าจับตาคือถูกใช้ไปกับงบฯ กลาโหม หรือที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการทหาร ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ปี2563 งบฯ กระทรวงกลาโหม 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 6,226,867,000 บาท กองทัพบกจะมีงบประมาณเป็น 2 เท่า มากกว่ากองทัพเรือและกองทัพอากาศ

นอกจากนี้ ยังถูกจับตาเรื่องรับซื้ออาวุธกว่า 20 โครงการ วงเงินมหาศาลหลักหมื่นล้าน แต่กลับไม่มีการแจกแจงรายละเอียด รวมถึงงบฯ ผูกพัน ปี 2562-2569 ที่ถูกตั้งไว้สูงถึง 8.7 หมื่นล้าน ที่เปรียบเหมือนการสร้างหนี้ไว้ล่วงหน้า พล.ท.พงศกร รอดชมภู จากอนาคตใหม่ ใช้คำว่าราชาเงินผ่อน ทำให้หน่วยอื่นสูญเสียโอกาสในการนำงบประมาณในอนาคตไปใช้

ขณะที่พรรณิการ์ วานิช โฆษกของพรรค ก็อธิบายเจาะไปที่งบฯ ความมั่นคงในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เน้นการปราบปรามมากเกินไป ด้านสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม การข่าว มีเพียงเล็กน้อย จึงห่วงว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ความสงบอย่างยั่งยืน

ต้องจับตาว่าท่าทีของธนาธรและลูกพรรคจะเข้าไปจัดการกับงบประมาณส่วนนี้อย่างไร

อย่าลืมว่าอนาคตใหม่เป็นฝ่ายตรงข้ามเบอร์ต้นๆ ของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งใช้กลไกของกองทัพเข้ามามีอำนาจ และอนาคตใหม่ประกาศมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะหั่นงบฯ กองทัพ รีดไขมันกระทรวงกลาโหม

ในส่วนทีมงานของอนาคตใหม่ที่เข้าไปเป็น กมธ.ก็ไม่ธรรมดา หากไม่นับธนาธร 5 ใน 7 คนเป็น ส.ส.ของพรรค มีความชำนาญเชิงเทคนิค ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน นโยบายสาธารณะ โชว์วิสัยทัศน์มาแล้วในเวทีอภิปรายหลายครั้ง สร้างเสียงฮือฮาในโลกออนไลน์

อีก 1 คนเป็นนายตำรวจ ที่เข้าใจเรื่องความมั่นคงกับการเมือง และคนสุดท้ายคือ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองการปกครองท้องถิ่น การคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ แม้จะเคยขึ้นเวที กปปส. วิจารณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อน แต่หลัง คสช.ยึดอำนาจ เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาวิจารณ์การรวมศูนย์อำนาจในรัฐยุค คสช.อย่างหนัก คาดว่าผลงานเข้าตา ได้รับเชิญชวนให้ไปร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณางบฯ ในโควต้าของพรรคอนาคตใหม่ ดูเรื่องการกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่น

ธนาธรประกาศถึงภารกิจการนั่งเป็น กมธ.พิจารณางบฯ ว่าจะเดินหน้าลดงบฯ ดำเนินการแล้วเพิ่มงบฯ การลงทุน เปลี่ยนจากงบประมาณและการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางไปเป็นงบประมาณและการตัดสินใจที่ท้องถิ่น ปรับการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เป็นการลงทุนเพื่อคนทุกคน และลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์

นอกจากทีมอนาคตใหม่แล้ว ทางฝั่งเพื่อไทยก็ไม่เบา ยังไปดึงเอานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เบอร์ 1 เรื่องร้องเรียนเข้ามานั่ง กมธ.ด้วย ฝั่งรัฐบาลจึงต้องรอบคอบมากกว่าเดิม มิฉะนั้นอาจจะไม่จบแค่ในวงพิจารณา อาจลามไปถึงการร้องเรียนองค์กรอิสระภายนอกก็เป็นได้

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็จัดนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง พรรคเพื่อไทย ซึ่งนับว่าเป็นมือดีด้านการจัดงบประมาณอีกคน

แต่ก็มีการพยายามจะสกัดไม่ให้นายธนาธรเข้าไปนั่งเป็น กมธ. จากพลังประชารัฐ ที่เห็นว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติ จะไปนั่งในฐานะ ส.ส.ก็ไม่ได้ ขอศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไปนั่งในฐานะคนนอกก็ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ขาดจากการเป็น ส.ส.

ล่าสุด ระดับสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับทำหนังสือถึงชวน หลีกภัย ให้ใช้อำนาจตัดสินกรณีนี้

นี่คือเกมในการบีบให้ธนาธรต้องลาออกจาก ส.ส.นั่นเอง

สามเดือนต่อจากนี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่า ภายใต้การนำของธนาธร จะสามารถจัดการกับงบฯ กองทัพ ตัดลดส่วนที่อนาคตใหม่มองว่าเป็นปัญหาได้มากน้อยเพียงใด

รวมถึงต้องจับตาดูว่า เรือเหล็กปริ่มน้ำลำนี้จะเป็นอย่างไร

ถ้าไม่ผ่านวาระ 3 ตามคำขู่ของฝ่ายค้าน รัฐบาลก็จำเป็นต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

ยกเว้นเกิดเหตุการณ์พลิกผัน มีผู้แทนฯ จากฝ่ายค้านไปโหวตให้ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เรือเหล็กลำนี้ก็จะอยู่รอดปลอดภัย