ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ยิงสลุตของไทย นำแบบแผนมาจากฝรั่ง หรืออินเดีย?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “ยิงสลุต” อย่างที่เราคุ้นๆ กันในภาษาไทยนั้น เป็นคำยืมมาจากภาษาอื่น ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ เห็นได้ง่ายๆ ว่า ในภาษาอังกฤษเรียกลักษณะการอย่างนี้ว่า “salute” (และในภาษาฝรั่งเศส “salut”) โดยมีรากมาจากภาษาละตินว่า “salutare” ซึ่งมีความหมายถึง การต้อนรับ หรือการแสดงความคำนับ ให้เกียรติกับใครคนใดคนหนึ่ง (คำนี้ยังมีรากในภาษาเดียวกันมาจากคำว่า “salus” หรือ “salut” ที่หมายถึง สุขภาพที่ดี, ความสุข หรือการต้อนรับขับสู้)

ดังนั้น ต่อให้ไม่ต้องค้นคว้าให้มากความก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า คำว่า “สลุต” ก็มาจากเสียง “salute” ของพวกฝรั่ง ที่ทำให้คนไทยรู้จักกับทั้งปืน และธรรมเนียมการยิงสลุตเพื่อเป็นเกียรติ หรือแสดงความคำนับนั่นเอง

แต่ในโลกก่อนที่จะรู้จักกับอะไรที่เรียกว่า “ปืน” นั้น ก็มีการ “สลุต” กันด้วยอาวุธ หรือเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินอื่นๆ กันแล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมามีธรรมเนียมอย่างนี้เอาเมื่อรู้จักการใช้ปืนแล้วเท่านั้น

 

ในยุโรปมีธรรมเนียมการคำนับโดยให้เกียรติอย่างสูง หรือแสดงความเคารพ ในทำนองเดียวกับการยิงสลุต มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคกลาง (หรือที่เคยถูกเรียกด้วยอคติว่า ยุคมืด โดยมีอายุอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่ 5-15 หรือตรงกับราว พ.ศ.1000-2000) อยู่หลายวิธีเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการยื่นปลายดาบชี้ลงต่ำไปที่เบื้องหน้า, ธรรมเนียมการแสดงอาวุธต่อผู้ที่ถูกคำนับ (แน่นอนว่าผมหมายถึงอาวุธที่พกติดตัว), ธรรมเนียมการลดใบเรือลงกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งใบ รวมไปถึงการวางไม้พาย สำหรับพวกทหารเรือ และโจรสลัด (ซึ่งหลายครั้งมักจะเป็นคนเดียวกัน สำหรับโลกเมื่อครั้งกระโน้น) เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ ในช่วงศตวรรษที่ 14 (ราว พ.ศ.1850-1950) คือช่วงปลายของยุคกลางนี้เอง ที่พวกยุโรปได้รู้จักกับ “ดินปืน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็แน่นอนด้วยว่า มีการยิงสลุตด้วย “ปืน” ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ หรือปืนไฟ ในการแสดงความเคารพ หรือคำนับเพื่อให้เกียรติอย่างสูงด้วย

และถึงแม้ว่าการใช้ปืนระดับพกติดตัวในการยิงสลุตนั้น จะมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้วก็ตาม แต่กว่าจะเริ่มมีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ก็เพิ่งจะเป็นในช่วงราวศตวรรษที่ 17 (ตรงกับราว พ.ศ.2150-2250) เท่านั้นเอง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวยุโรปเริ่มขยายการค้าโลกข้ามสมุทรกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ว่ากันว่า ธรรมเนียมการยิงสลุตด้วยปืนไฟ ก็แพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าโลกนี่เอง

โดยปกติแล้ว การยิงสลุตด้วยปืนไฟ มักจะยิงเป็นชุด ชุดละ 21 นัด (พวกฝรั่งจึงมีสำนวนเรียกการยิงสลุตว่า “21 guns” หรือ “21 guns salute” นั่นเอง) ไม่ใช่นึกจะยิงกี่นัดก็ได้ตามใจชอบ

ส่วนทำไมต้องยิงชุดละ 21 นัดนั้น ก็มีที่มาที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และจอดเรือเข้าฝั่งในสมัยดังกล่าวนั่นเอง

 

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า แต่เดิมนั้นเรือของพวกอังกฤษจะบรรทุกปืนใหญ่อยู่ลำละ 7 กระบอก และเมื่อเรือจะเข้าฝั่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เรือจะต้องยิงปืนออกทั้ง 7 กระบอก กระบอกละ 1 นัด เพื่อเป็นสัญญาณให้ป้อมบนฝั่งทราบจำนวนปืน (และเป็นการบอกเป็นนัยว่า “กูมาดี”)

(ส่วนที่ว่าทำไมบนเรือจะต้องมีปืน 7 กระบอกพอดิบพอดีเท่านั้น ยังเป็นคำถามที่ถกเถียงกันไม่จบ และคำอธิบายโดยมาก ก็ถูกลากเข้าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 7 ตามพระคัมภีร์ของชาวคริสต์ไปเสียหมด)

เมื่อเรือยิงปืนไปชุดหนึ่งแล้ว ก็มีธรรมเนียมว่า ฝ่ายป้อมที่บนฝั่งจะต้องยิงตอบคืนเป็นสามเท่าของจำนวนลูกกระสุนปืนที่เรือยิงออกมา ซึ่งก็ตรงกับ 21 นัด

ดังนั้น จึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า การยิงสลุต 21 นัด ได้กลายเป็นธรรมเนียมการต้อนรับขับสู้นับแต่บัดนั้น

ไม่ว่าทำไมบนเรือต้องมีปืนอยู่เพียง 7 กระบอกไม่ขาดไม่เกิน และทำไมป้อมบนฝั่งต้องยิงตอบกลับมาเป็นจำนวนสามเท่าของที่เรือยิงไปนั้นก็ตามที แต่ถ้าหากไม่ว่าจะฝั่งไหนยิงเกินจำนวน หรือขาดไปแม้แต่หนึ่งนัด นั่นก็ชวนให้ฝั่งตรงข้ามระแวงแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเลยแหละนะครับ

ดังนั้น จำนวนกระสุนที่ถูกยิงออกมาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้ายิงขาด หรือยิงเกิน ก็อาจจะเกิดสมรภูมิขนาดย่อมเอาง่ายๆ ไม่ใช่ว่าใครนึกจะยิงสลุตกี่นัด ก็ยิงกันไปตามแต่ใจจะสั่งมาซะที่ไหน?

แต่ก็แน่นอนด้วยว่า ธรรมเนียมเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาจนแตกต่างกันไปในที่ต่างๆ เช่น ในอินเดีย ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น ก็ได้พัฒนาธรรมเนียมการยิงสลุตจนซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยหากเป็นการยิงสลุตให้กับมหาราชา ก็ต้องยิงชุดละ 101 นัด ส่วนถ้าเป็นพระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เรื่อยไปจนถึงผู้ว่าราชการแผ่นดินนั้น ก็จะยิงสลุตชุดละ 31 นัด ส่วนชุดละ 21 นัดนั้น ก็ยังมีใช้อยู่เช่นกัน แต่จะใช้สำหรับหัวหน้าแคว้นเท่านั้น เป็นต้น

 

ในส่วนของไทยนั้น มีหลักฐานการยิงสลุตเก่าแก่ที่สุดอยู่ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) โดยในบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสนั้น กล่าวถึงเรือรบของฝ่ายฝรั่งเศสเองที่ชื่อว่า เลอโวตูร์ ได้เดินทางเข้ามาจนถึงป้อมวิชเยนทร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์) เมืองบางกอก

มองซิเออร์ (มิสเตอร์ ในภาษาฝรั่งเศส) คอนูแอล กัปตันเรือจึงได้มีใบบอกไปยังราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตเพื่อเป็นเกียรติให้แก่สยามจะขัดข้องไหม?

สมเด็จพระนารายณ์จึงรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม หรือมองซิเออร์ คอม เดอ ฟอร์แบง นายทหารชาวฝรั่งเศสที่เข้ามารับราชการกับราชสำนักอยุธยา และเป็นผู้รักษาป้อมอยู่ในขณะนั้นสั่งให้ยิงได้

ต่อมาทั้งในสมัยอยุธยายุคหลังสมเด็จพระนารายณ์, กรุงธนบุรี และต่อเนื่องมายังสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ไม่มีหลักฐานของธรรมเนียมการยิงสลุตเลย เป็นไปได้ว่า ธรรมเนียมนี้ถูกมองว่าเป็นฝรั่ง จึงไม่ได้มีรูปแบบข้อบังคับที่ชัดเจนนัก และคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ จึงไม่ได้ถูกบันทึกไว้

(มีคำอธิบายที่ว่า ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกในสมัยสมเด็จพระเพทราชา เพราะไม่โปรดปรานฝรั่ง แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เอง ก็ไม่ได้มีธรรมเนียมการยิงสลุตจนกัปตันชาวฝรั่งเศสต้องทำใบบอกไปขออนุญาตราชสำนักของอยุธยา และอยุธยาก็ให้ฟอร์แบง ซึ่งเป็นฝรั่งเศส เป็นผู้จัดการในเรื่องนี้ไม่ใช่หรือครับ?)

การยิงสลุตเพิ่งจะถูกกล่าวถึงในเอกสารของสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นการยิงสลุตเพื่อต้อนรับเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ราชทูตจากอังกฤษ ที่เข้ามาทำสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับสยาม เมื่อ พ.ศ.2398 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1

ดังนั้น ถ้าธรรมเนียมการยิงสลุตในครั้งนั้นจะถูกบันทึกไว้ก็ไม่แปลกอะไร และสุดท้ายก็ไม่ได้มีการออกกฎหมายเป็นธรรมเนียมการยิงสลุตอะไรที่ชัดเจนอยู่เหมือนเดิม

 

กฎหมายที่ว่าด้วยธรรมเนียมการยิงสลุตของสยาม เพิ่งจะมีในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการออก “ข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125” เมื่อ พ.ศ.2448 ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ได้แบ่งการยิงสลุตไว้เป็นสองประเภทคือ ยิงสลุตหลวง และยิงสลุตข้าราชการ

น่าเสียดายที่ผมหาต้นฉบับ ข้อบังคับที่ว่านี่มาอ่านเองกับตาไม่ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาจากกฎหมายที่ว่าด้วยการยิงสลุตฉบับต่อมาคือ “พระราชกำหนด การยิงสลุต ร.ศ.131” (พ.ศ.2455) ที่ได้เพิ่มเติมการยิงสลุตนานาชาติขึ้นมาอีกแบบ และได้จำแนกการยิงสลุตหลวงเพิ่มเติมเป็น 2 แบบคือ สลุตหลวงธรรมดา ยิงปืน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ ยิงปืน 101 นัด

ซึ่งชวนให้คิดถึงธรรมเนียมการยิงสลุตของอินเดียอย่างมหัศจรรย์

การยิงสลุตในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 (ซึ่งเคยเสด็จอินเดีย และนำสารพัดธรรมเนียมสมัยใหม่มาจากอินเดีย เช่น แนวคิดชุดราชประแตน ก็ได้ไอเดียมาจากตอนนั้น) อาจจะได้รับมาจากอินเดีย (ยิงสลุตหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 อาจจะยิง 101 นัด และยิงสลุตข้าราชการ อาจยิง 21 นัด ไม่อย่างนั้นจะแยกเป็นสองแบบไว้ทำไม? และถ้าสมัยรัชกาลที่ 6 ยังยิงเหมือนรัชกาลที่ 5 จะมีการออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ใหม่ทำไม?)

บางทีแบบแผนการยิงสลุตครั้งแรกของไทย อาจได้มาจากอินเดีย ไม่ใช่ฝรั่งเสียก็ได้หรือเปล่า?