มนัส สัตยารักษ์ | นายกฯ ควรพูดอย่างไร ในเรื่อง “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วผมแสดงความกังวลถึงเรื่องคำปราศรัยที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาไปใช้ในวาระการประชุมที่สหประชาชาติ ผมมีเหตุผลเพียงพอที่จะกังวลเนื่องจากเท่าที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า นายกฯ เป็นคนที่พูดตามใจโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาแต่อย่างไร

ผมเสนอทางแก้ไขไว้ด้วยการให้ทีมงานประกอบด้วยล่าม…อันดับแรกเป็นล่ามที่จะแปลความไม่จริงเป็นความจริง แล้วจึงให้ล่ามคนถัดมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ

ในกรณีที่พูดกับชาวต่างประเทศหรือในที่ประชุมสากล ไม่ว่าจะพูดเป็นภาษาไทยหรือเป็นภาษาอังกฤษก็ตาม ให้ล่ามแปลผู้ทำหน้าที่แปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับเข้าเครื่องถ่ายทอดไปทางหูฟัง ล่ามรายหลังนี้จะต้องมีความกล้าหาญ ไม่แปลตามที่นายกฯ พูดอย่างตรงตัว เมื่อนายกฯ พูดโดยควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จนขาดความรับผิดชอบ

ผมส่งข้อเสนอไปในต้นฉบับ “กาแฟโบราณ” ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางไปกล่าวปราศรัย แต่ไม่ทันกาลเพราะเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่นายกฯ ได้พูดไปแล้ว

(อันที่จริง ถึงจะทันกาลก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากนายกฯ หรือทีมงาน (ฮา))

ปมสำคัญของเรื่อง “สุขภาพถ้วนหน้า” ไม่ได้อยู่ที่คุณค่าของโครงการ ไม่ได้อยู่ในรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามโครงการ และไม่ได้อยู่ที่ข้อวิพากษ์ถึงข้อดีและข้อเสียของโครงการ หากแต่อยู่ที่ “ใคร” เป็นผู้คิดและทำต่างหาก

ในความรับรู้ของสังคมโลกต่างเห็นว่าเจ้าของ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” คือนายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น (ปี พ.ศ.2544) เพราะก่อนหน้านี้ผู้คิดโครงการได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี)

และนายกฯ ทักษิณ ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าคนคิดโครงการคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แต่สังคมส่วนใหญ่รับรู้ว่าทักษิณเป็นเจ้าของโครงการ

มาถึงยุค คสช.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีอคติกับนายทักษิณอยู่แล้ว เมื่อมีเสียงจากกระทรวงสาธารณสุขว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้งบประมาณของกระทรวงขาดแคลน พล.อ.ประยุทธ์รับลูกโดยพยายามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบเหมาจ่ายเป็นการให้ประชาชนร่วมจ่ายเงิน หรือเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากประชาชน อันเป็นการ “ยกเลิก” โครงการ และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า รัฐบาล คสช.ไม่รับรู้ปรัชญาของโครงการ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวข้างต้นถูกระงับไปเพราะรัฐบาล คสช.ชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าประชาชนไม่ยินยอมให้ปรับเปลี่ยนโครงการ

น่าเสียดายที่ถ้อยแถลงหรือปาฐกถาของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุมสหประชาติ หรือ UN พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กล่าวถึงส่วนนี้ รวมทั้งไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของทักษิณ ชินวัตร ผู้มีวิสัยทัศน์ ริเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 แต่อย่างใด

ผมเสิร์ช google พบถ้อยแถลงหรือปาฐกถาของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุมสหประชาชาติ กล่าวถึงความสำเร็จด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ครอบคลุมประชากรเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นการลงทุนด้านสุขภาพ เป็นการลงทุนทั้งปัจจุบันและอนาคต

ประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง ยั่งยืน เป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้จริง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ ซึ่งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ

1. ความเท่าเทียม รัฐบาลได้พัฒนาระบบสาธารณสุขให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเขาถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง…ฯลฯ

2. ประสิทธิภาพ รัฐบาลมุ่งเสริมประสิทธิภาพของระบบฯ โดยจัดสรรงบประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของกองทุน สำหรับสร้างเสริมสุขภาพ เพิ่มการใช้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น

3. การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ มีความยั่งยืน คือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในทุกระดับ

สรุป ไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และจะร่วมมือกับทุกหุ้นส่วนเพื่อขับเคลื่อน ให้ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

ในความเห็นของผู้เขียน นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงหรือปาฐกถาต่อมวลสมาชิกสหประชาชาติได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีที่ติ ทำให้ภาพลักษณ์ของนายกฯ ดีขึ้นเต็มร้อย แม้ว่า “หลักการพื้นฐาน 3 ประการ” เป็นหลักการที่รัฐบาลไทยทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 แล้วก็ตาม

ข้อความที่ปวารณาตัว “แบ่งปันความรู้และประสบการณ์” ให้แก่ประเทศต่างๆ นั้น เป็นการแสดงความใจกว้างของรัฐบาลไทยที่น่ายกย่อง

หากนายกฯ ได้เอ่ยถึงชื่อของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เจ้าของความคิด นายทักษิณ ชินวัตร ผู้จัดตั้งโครงการ และ นพ.สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ผู้ดำเนินโครงการ นายกฯ ก็จะได้ชื่อว่าใจกว้างโดยแท้จริง และอาจจะได้แรงใจสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศก็ได้

ประชาชนทั่วไป (รวมทั้งผม) คงไม่ได้ติดตามข่าว “โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า” อย่างต่อเนื่อง จึงไม่ทราบสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา แสดงอาการโกรธในการพูดต่อหน้าแขกชาวต่างชาติที่เอเชีย โซไซตี้ ทำนองว่า ตัวเองเป็นผู้บริหารต้องใช้กูเกิล แต่ประชาชนไม่ค่อยเปิดดู เลยเป็นปัญหาเพราะประชาชนไม่รู้จักเรียนรู้

ผมเดาว่า นายกฯ คงโกรธที่ประชาชนไม่ใช้กูเกิลดูเนื้อหาคำพูดที่นายกฯ พูดถึงโครงการประกันสุขภาพฯ ที่สหประชาชาติ ซึ่งได้รับคำยกย่องอย่างมาก

แต่ในความเป็นจริงนั้น คนไทยใช้กูเกิลมากที่สุด การพูดของนายกฯ ที่เอเชีย โซไซตี้ จึงกลายเป็นการพูดผิด เป็นการพูดดูถูกคนไทยว่าโง่

แต่ก่อนหน้านี้กูเกิลมีแต่ข้อความโจมตีว่า “รัฐบาลเคลมผลงานโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทั้งๆ ที่ตัวเองพยายามยกเลิกโดยอ้างว่าเป็นภาระต่องบประมาณ”

นายกฯ คงรู้ตัวว่าพลาดไปแล้วเมื่อพูดถึงการใช้กูเกิลของคนไทย หลังจากนั้นจึงออกมาแก้ตัวว่า “ผมไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่ได้ใช้กูเกิล หรือใช้กูเกิลไม่เป็น แต่มีคนไปบิดเบือน …

“…ผมเพียงแต่บอกว่า หากต้องการรู้เรื่องราวสถานกาณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ให้เปิดกูเกิลดู”

แต่สายเสียแล้ว… ภาพเชิงบวกของนายกรัฐมนตรี-หายไปก่อนแล้ว!