จัตวา กลิ่นสุนทร : งานศิลป์ร่วมสมัย ของ “กมล” สู่การถือกำเนิด “บ้านศิลปินแห่งชาติ”

หอศิลป์ร่วมสมัย ของ “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ 2540 เลขที่ 111/1 (ซอยราษฎร์ร่วมเจริญ/วงเวียนใหญ่/ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพฯ (จบ)

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางท้าทายบนแผงหนังสือ ถัดไปอีก 3 วัน ตรงกับวันครบรอบ 46 ปีเหตุการณ์ (วันมหาวิปโยค) “14 ตุลาคม พ.ศ.2516”

ผ่านเลยเหตุการณ์ “6 ตุลาคม พ.ศ.2519” มาได้เพียง 8 วัน แต่ห่างกัน 3 ปี มี “คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันอย่างโหดร้ายทารุณ” และคนไทยอีกนั่นแหละเป็นผู้ปลุกระดมพร้อมป้ายสีฝ่ายถูกกระทำว่าเป็น “คอมมิวนิสต์ “ต่างชาติ

รำลึกถึง “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์” มาทุกครั้งทุกหนจากความทรงจำพร้อมความเจ็บปวด เมื่อวันเวลาวนมาถึง เพราะบังเอิญได้เข้าไปสัมผัสทั้ง 2 เหตุการณ์ แต่ต่างเวลาต่างอารมณ์กัน ขณะยังอยู่ในวัยเพิ่งเริ่มต้นอาชีพ “สื่อมวลชน” ซึ่งมีสำนักงานอยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุ ตามที่ได้เคยเล่ารายละเอียดเท่าที่ได้พบเห็นมาทุกๆ ปี

เรื่องอันโหดร้ายทารุณเยี่ยงนี้คงจะลืมเลือนไม่ได้ ปรากฏภาพชัดเจนทุกครั้งเมื่อเวลาเดินทางมาถึงในแต่ละปี

ยิ่งกว่านั้นเมื่อวันเวลาผ่านไปยาวนานทำให้ความรู้ความเข้าใจค่อยๆ กระจ่างมากขึ้นอีกว่า

สิ่งที่ได้ผ่านพบเห็นนั้นมันเกิดมาจากเพราะความเห็นอันแตกต่าง หรือเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจเพียงเท่านั้นเองหรือ?

 

เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าค้นหาความจริงกันต่อไปเรื่อยๆ สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน รุ่นต่อๆ ไป ซึ่งคงมิได้ไร้เดียงสาเหมือน (ผม) เมื่อตอนวันเดือนปี ที่เกิดเหตุการณ์ครั้งกระนั้น

อาจจะต้องค้นคว้าขุดคุ้ยแสวงหาให้ละเอียดลึกซึ้งเพื่อสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์ และเก็บบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประเทศนี้

บางทีเหตุการณ์ดังกล่าวก็มิได้ลึกซึ้งเกินกว่าจะปะติดปะต่อจนชัดเจนขึ้นว่ามันเป็นเพียงเรื่องของความนิยมในระบอบการปกครองอันแตกต่าง หรือเพราะเหตุผลใดที่ทำให้สาวเข้าไปไม่ถึง ขณะเดียวกันขออย่าให้มันหมุนวนมาเกิดขึ้นอีกเท่านั้น?

เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงกรีดร้อง เปลวไฟ นักศึกษาชาย-หญิง บาดเจ็บล้มตาย ได้พบเห็นกระทั่งฝังจิตฝังใจเป็นภาพจำติดอยู่ในใจตั้งแต่วัยหนุ่มแน่นจนถึงวันเวลาเปลี่ยนเป็นผู้สูงวัย

ตรงนั้น เป็นบริเวณนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถบทุ่งพระเมรุ หรือท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ซึ่งได้ซึมซับรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีทั้งร้ายในประวัติศาสตร์ไว้อย่างเงียบเชียบตลอดมา และ (ครั้งหนึ่ง) บริเวณนั้นมีคนตาย มีคนถูกแขวนคอกับต้นมะขาม มีเด็กผู้หญิงถูก “เชือกผูกคอ” ลากไปบนสนามหญ้า และมี “คนถูกเผา” ด้วยยางรถยนต์วางซ้อนทับกันท่ามกลางสายฝนบนถนนราชดำเนิน ไม่ห่างจากรูปปั้นแม่ธรณีบีบมวยผม

ส่วนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เช้าตรู่ “วันที่ 6 ตุลาคม 2519” จนถึงสายๆ บ่ายเย็นที่ผ่านเลยมา 43 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามฟุตบอล ย่อมได้รู้ได้เห็นกันโดยทั่วไปพร้อมกับการเก็บบันทึก และถูกเผยแพร่ไปสู่สายตาคนบนโลกนี้แล้ว

 

เช้าวันนั้น (ผม) เข้าไปภายในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ได้แต่เห็นเหตุการณ์อยู่ด้านนอกรั้วมหาวิยาลัย ก่อนล่าถอยกลับมาตั้งหลักไม่ห่างไกลที่เกิดเหตุนักเพื่อหลีกหนีความบ้าคลั่งของผู้คนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ และกำลังสนุกกับการเข่นฆ่าทารุณ ตั้งใจเอาไว้ว่าปีต่อๆ ไปถ้ายังได้ขีดเขียนอยู่ตรงนี้ ก็จะเขียนรำลึกถึง (ซ้ำๆ) อีก

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศของเราอีก

คนรุ่นใหม่ที่เกิดเติบโตตามกันมาคงต้องการเห็น “ประชาธิปไตย” มากกว่าระบอบอื่น

ต้องการผู้บริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ต้องการผู้บริหารประเทศที่ไม่ได้ “รับเลือก” มาจากประชาชน เที่ยวมาทำท่าเป็นนายประชาชน

คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

คงมีแต่คนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ (ส่วนตัว) เท่านั้นที่ยังยืนยันสนับสนุนเชิดชูคนโง่ให้ได้อำนาจบริหารประเทศต่อไป

ในที่สุดสิ่งที่ไม่ต้องการเห็นอีกแล้ว อาจกลับมาใหม่ก็ได้

 

ผมกับกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (2540) เป็นคนในวัยเดียวกัน เคยเดินผ่านสถาบันเดียวกันด้วยซ้ำเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น ก่อนจะแยกย้ายกันไปตามเส้นทางที่ตนเองชอบพอ ในระยะแรกๆ มิได้สนิทสนมกันอย่างเช่นปัจจุบัน แต่เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงวันก่อนๆ ก็พอจะเห็นและจดจำความแน่วแน่มุ่งมั่นในการศึกษาเล่าเรียนในระยะแรกๆ พร้อมการทำงานศิลปะอย่างหนักชนิดไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย ไม่มีวันหยุดก่อนเดินตามความฝันสู่การศึกษาศิลปะยังสหรัฐ

กมลเดินทางสู่สหรัฐปี พ.ศ.2512 ศึกษาเล่าเรียนใช้ชีวิตเป็น “ศิลปินร่วมสมัย” เป็นอาจารย์สอน และบรรยายเรื่องศิลปะร่วมสมัย ดังที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ได้อยู่ในประเทศระหว่างเกิดเหตุการณ์อันโหดร้ายเมื่อเดือนตุลาคมทั้งสองครั้ง คือวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ขณะการสื่อสารในยุคสมัยนั้นยังไม่เหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ถึงจะได้รับรู้รับทราบจึงไม่รวดเร็วทันใจได้เห็นทุกแง่ทุกมุม รวมทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังในเวลาดังกล่าว

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ใช้ชีวิตบนเส้นทางสายศิลปะอย่างมีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัย ของประเทศเราอย่างยิ่ง

พยายามปลูกฝังเชื่อมต่อศิลปินสองซีกโลกให้ร่วมสมัย ด้วยการนำศิลปินชั้นนำของประเทศไปเปิดนิทรรศการศิลปะในสหรัฐ โดยเฉพาะในนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California, USA) มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

กมลเป็นศิลปินในแนวทางศิลปะร่วมสมัยที่มีพื้นฐานเป็นไทยและตะวันออก เช่นเดียวกับศิลปินสมัยใหม่รุ่นก่อนๆ ที่ศึกษาศิลปะสากล และของไทยซึ่งได้รับหลายสิ่งหลายอย่างจากทั้งสองด้านเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทั้งที่เป็นแบบของตนเองขณะอยู่ในประเทศไทย

และเมื่อไปศึกษาต่อสหรัฐจึงสร้างผลงานสื่อถึงจิตวิญญาณของไทยตะวันออกไปผสมผสานกับตะวันตกอันเป็นชีวิตจริงที่ปักหลักอยู่สหรัฐ ผลงานจึงออกมาผสมผสานกันระหว่างสองซีกโลก ตะวันออกกับตะวันตก มีความแตกต่างจากศิลปินอเมริกัน และนานาชาติ

 

กว่า 4 ทศวรรษในสหรัฐเขาทำงานหนักทุกด้านจนประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจทางชื่อเสียง สภาพฐานะ โดยเฉพาะเรื่องศิลปะ เป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยไม่ทิ้งความรับผิดชอบด้านครอบครัว อุทิศตนเป็นจิตอาสาสำหรับงานบริการสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาเป็นคนเยือกเย็น เรียบง่ายในการใช้ชีวิต

ไม่เคยมีอารมณ์โกรธให้เห็นสักครั้งเท่าที่ได้รู้จักกันมานานหลายสิบปี

โดยเฉพาะกับศิลปินไทย คนไทยที่เดินทางสู่นครลอสแองเจลิส (Los Angeles) จะได้รับการต้อนรับอย่างเต็มที่ทั้งสถานที่พัก และอำนวยความสะดวกต่างๆ แบบประทับใจในหมู่คนไทยเป็นอย่างดี

สำหรับศิลปินไทย นักศึกษาศิลปะ ครูผู้สอนศิลปะนั้นได้รับการต้อนรับมาอย่างยาวนานก่อนจะเกิดรูปแบบโครงการมีหลักการกฎเกณฑ์อย่างปัจจุบัน และได้รับการสนับสนุนจาก “กระทรวงวัฒนธรรม”

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาจะได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540

ทำให้ต้องเดินทางไปกลับสหรัฐ-ไทย-สหรัฐ ปีละ 3-4 ครั้งเพื่อปฏิบัติงาน ดำเนินงานโครงการต่างๆ จำนวนมากในเมืองไทยจนเกินที่จะกล่าวได้ทั้งหมดในรอบ 20 กว่าปี

 

“ศิลปินแห่งชาติ” ท่านนี้ได้รับ “ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์” จากมหาวิทยาลัยของประเทศไทยจำนวนถึง 11 สถาบัน รวม 11 ใบ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา, กับอีก 7 มหาวิทยาลัย

เขาทำงานหนักจนประสบความสำเร็จมากมาย มีบ้านพักในสหรัฐ 3 หลังในย่านใกล้เมือง Beverly Hill เลขที่ 838-840 N.San Vicente BLVD. West Hollywood California 90069 USA ในนคร Los Angeles (2 หลัง) และเมือง Chatsworth เลขที่ 10120 Casaha Ave Chatsworth California 91311 USA ที่เป็นศูนย์รวมใช้เป็นที่พักอาศัยของยุวศิลปิน ศิลปิน ครู อาจารย์ และคณะศิลปิน ศิลปินแห่งชาติ ขณะเดินทางไปยังสหรัฐ

ในวัย 75 ปีกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังคงเดินอยู่บนเส้นทางศิลป์ของตนเองอย่างมีความสุข–”

“หอศิลป์ร่วมสมัย” ของ “กมล ทัศนาญชลี” หรือ “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ติดกับบ้านเกิด (ฝั่งธนบุรี) กรุงเทพฯ ต่อจากหอศิลป์ 2 ชั้นเดิม ด้วยทุนทรัพย์จำนวนมาก เป็นอาคาร 3 ชั้น เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และประวัติศาสตร์การเป็น “ศิลปิน” ตั้งแต่เยาว์วัยถึงปัจจุบัน

“บ้านศิลปินแห่งชาติ” จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการปลายเดือนมกราคม ปี 2563