นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : บุกให้แหลก แหกตาดูโลก (ตอนแรก)

เพิ่งไปดูสารคดีเรื่อง Where to Invade Next มาครับ

สารคดีเรื่องนี้กำกับโดย Michael Moore ผู้กำกับชาวอเมริกันสุดแสบ ที่มักจะทำสารคดีวิพากษ์วิจารณ์สังคมอเมริกันและจับตาการทำงานที่อื้อฉาวของรัฐบาล

เขาเคยทำสารคดีเปิดโปง ขุดคุ้ย โจมตีนโยบายทางทหารและการทำงานของ George W. Bush มาแล้วในหนังเรื่อง Fahrenheit 9/11

เคยทำสารคดีวิพากษ์วิจารณ์การควบคุมการใช้อาวุธปืนจากเรื่อง Bowling for Columbine

เคยสืบสวนและจิกกัดระบบประกันสุขภาพของสหรัฐ และบริษัทยายักษ์ใหญ่จากเรื่อง Sicko

นอกจากนี้ยังเคยตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยม และหาเหตุผลของความเหลื่อมล้ำทางรายได้หลังเกิดวิกฤตทางการเงินของสหรัฐ ช่วงปี 2008 ในสารคดี Capitalism : A Love Story

หลังจากเล่นแต่เรื่องในประเทศจนเบื่อ และไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้นนัก มาคราวนี้มัวร์เริ่มออกเดินทางไปทั่วโลก ด้วยความคิดที่ว่า “ทำไมไม่ลองไปดูประเทศอื่นๆ บ้างล่ะว่าพวกเขามีอะไรดี แล้วก็ขโมยความคิดเหล่านั้นมาเสียเลย!”

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหนังชวนขำที่ว่า Where to Invade Next หรือชื่อไทยคือ “บุกให้แหลก แหกตาดูโลก!” ซึ่งในบ้านเราจัดฉายโดยกลุ่ม Documentary Club

เรื่องราวของสารคดีเริ่มต้นจากมัวร์เสียดสีชาติตัวเองที่มักจะเอาเงินไปลงทุนแต่นโยบายทางการทหาร (คล้ายๆ ประเทศใครก็ไม่รู้) และสูบทรัพยากรของประเทศที่ไปรุกราน ด้วยการทำทีว่าตัวเองเป็น “ทหารอเมริกัน” ที่กำลังจะไปบุกประเทศอื่นๆ พร้อมกับถือธงอเมริกันติดไปด้วย เมื่อได้คุยหรือรับรู้ถึงไอเดียเจ๋งๆ ของประเทศอื่นๆ แล้ว ก็จะทำการปักธงและยึดครองความคิดเหล่านั้นมาเสีย

อย่าเพิ่งคิดว่าไอเดียเจ๋งๆ นั้นจะเป็นเรื่องความคิดเชิงปัจเจกนะครับ เพราะสิ่งที่มัวร์พยายามจะสอดส่องคือ “คุณภาพชีวิต” ที่สร้างโดยรัฐ

พูดง่ายๆ ก็คือ หนังพาไปดูว่าประเทศดีๆ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนตัวเองอย่างไร

ไล่ตั้งแต่สวัสดิการพนักงาน ระบบประกันสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายกำจัดยาเสพติด สิทธิของสตรี สิทธิมนุษยชน กฎหมายลงโทษอาชญากร ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียน โดยส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่ประเทศในโซนยุโรปเป็นหลัก

ไอเดียเจ๋งๆ ที่มัวร์ไปยึดครองมาได้ก็เช่น

– การทำงานอย่างมีความสุขของแรงงานชาวอิตาเลียน (ลาได้มากกว่า 4 สัปดาห์ต่อปี ลาคลอดได้ 5 เดือนพร้อมกับได้รับค่าจ้าง)

– นักศึกษาทุกคนต้องได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีในประเทศสโลวีเนีย

– ระบบการลงโทษนักโทษในนอร์เวย์ที่มองพวกเขาเป็น “มนุษย์” เหมือนกัน (ไม่มีโทษประหารชีวิต โทษสูงสุดคือจำคุก 21 ปี พร้อมกับเรือนจำที่สบาย)

– นโยบายการจัดการยาเสพติดในโปรตุเกส (ไม่มีการจับกุมผู้ที่เสพยาเสพติด การเสพยาถือเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย)

– สนับสนุนให้คุมกำเนิดและทำแท้งผู้หญิงอย่างถูกกฎหมายในตูนิเซีย

– พลังและบทบาทของผู้หญิงในสังคมประเทศไอซ์แลนด์ (นายกฯ หญิงคนแรกของโลก)

ต้องยอมรับว่าในหนังจะค่อนข้างโลกสวย เพราะเลือกแต่หยิบไอเดียดีๆ และละเลยความเป็นจริงที่ไม่ดีของแต่ละประเทศ แต่มัวร์ก็พูดเองว่า เขามีหน้าที่ในการเด็ด “ดอกไม้” ไม่ใช่ “วัชพืช”

ฉะนั้น ในบทความนี้ผมจึงเด็ด “เกสร” จากดอกไม้นั้นมาเล่าต่อ

นี่คือเกสรที่ผมประทับใจ 3 ข้อ โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการศึกษาและเด็ก เพราะคิดว่าใกล้ตัวคนไทยและมีมุมมองที่น่าสนใจมาก

Untitled-2ไอเดียแรก คืออาหารกลางวันในโรงเรียนประถมของประเทศฝรั่งเศส

รู้ไหมครับว่า เด็กๆ ที่นั่นทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน

เลิกคิดได้เลยว่าจะมี เฟรนซ์ฟรายแบบอเมริกา หรือแกงจืดเย็นชืดเหมือนบ้านเรา

เพราะอาหารของเด็กๆ มีตั้งแต่หอยเชลล์อบเนย ปลาดอรี่ราดซอสพิเศษ เนื้อแกะย่างอย่างดี สลัดผักสด ผลไม้สด อาหารทั้งหมดนี้เสิร์ฟพร้อมกับชีสที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน แถมยังตบท้ายด้วยของหวานอย่างพานาคอตต้า

รวมๆ แล้วทั้งคอร์สในแต่ละมื้อ เด็กจะได้กินอาหารกลางวันอย่างน้อย 4 เมนู

ย้ำอีกครั้งว่า โรงเรียนที่มัวร์ไปถ่ายทำนั้นไม่ใช่โรงเรียนเอกชนแพงๆ แต่เป็นโรงเรียนธรรมดาย่านชานเมืองแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส

เมนูเหล่านี้ไม่ได้คิดขึ้นมาง่ายๆ แต่เชฟ นักโภชนาการ และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐกว่า 10 ชีวิตจะต้องมานั่งประชุมกันคร่ำเครียดว่าจะทำอะไรให้เด็กกินบ้าง

ถามว่าทำไมต้องกินดีขนาดนี้?

คำตอบก็คือรัฐบาลฝรั่งเศสมองว่า “การกินอาหารที่ดีคือการเรียนรู้”

เด็กที่นี่ไม่กินโค้ก ไม่กินเฟรนช์ฟราย และมีเวลาในการรับประทานอาหารเกือบๆ 2 ชั่วโมงเต็ม นอกจากนี้ยังใช้จานกระเบื้องจริงๆ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ทั่วไปกิน ไม่ใช่พลาสติก

เด็กๆ จะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากมื้อเที่ยง?

พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าอาหารที่ดีมีประโยชน์เป็นอย่างไร

พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่ากินอย่างไรจึงจะได้โภชนาการที่ถูกต้องครบถ้วน

พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าอาหารมีหลากหลาย และนำพาเราไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ เช่น รู้จักเนื้อปลาดอรี่ รู้จักผักสดหลายชนิด รู้จักชีสจากหลายพื้นที่

พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่ามารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดีควรทำอย่างไร

พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าบนโต๊ะอาหารเราควรแบ่งปันและช่วยเหลือผู้ร่วมโต๊ะอย่างไร

อย่าเพิ่งหาว่าผมโลกสวย ว่าเด็กพวกนี้ฟุ้งเฟ้อ กินแต่อาหารหรูๆ เพราะมัวร์ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของอาหารเหล่านี้ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมเมื่อคิดออกมาเป็นตัวเลขแล้วยังถูกกว่าค่าอาหารกลางวันห่วยๆ ของโรงเรียนในอเมริกาเสียอีก (มัวร์เอารูปอาหารในโรงเรียนที่อเมริกาให้เชฟโรงเรียนดู เขาอุทานด้วยความตกใจว่า “นี่ไม่ใช่อาหาร!”)

ผมคิดว่าสิ่งที่โรงเรียนในฝรั่งเศสสอนเราคือ พวกเขาไม่ได้มองว่า “อาหารคือสิ่งที่ยัดเข้าไปในปากให้อิ่ม” แต่ “อาหารคือการเรียนรู้และวัฒนธรรม” และเขายินดีที่จะเอาภาษีมาลงทุนกับอาหารเด็ก

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเราให้เด็กไทยได้ฝึกกินข้าวแช่และสอนไปด้วยว่าข้าวแช่คืออะไร มีที่มาอย่างไร ถ้าเราให้เด็กไทยได้กินแตงโมปลาป่นและสอนไปด้วยว่าอาหารคาว-หวานจานนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถ้าเราให้เด็กกินข้าวไรซ์เบอรี่แล้วสอนว่ามันคือข้าวอะไร มีคุณค่าอย่างไร ทำไมถึงแพง เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากอาหารตรงหน้ามากกว่านั้นเยอะ

แต่เราไม่เคยมองเลยว่า สิ่งที่เรากินอยู่ทุกวันคือองค์ความรู้มหาศาล

8+

ไอเดียที่สอง คือ การศึกษาของฟินแลนด์

ในอดีตฟินแลนด์เคยมีอันดับการศึกษาที่ไม่ค่อยดีนักเหมือนกับสหรัฐ จึงเริ่มมีความคิดที่จะทำการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเสียใหม่

หัวใจของการศึกษาของฟินแลนด์ในสมัยใหม่คือ การเรียนให้น้อยที่สุด

ย้ำครับว่า “เรียนในห้องเรียน” ให้น้อยที่สุด

ที่นี่ไม่มีการบ้าน (มัวร์สัมภาษณ์เด็กมัธยมว่าทำการบ้านวันละกี่ชั่วโมง ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่เกิน 10 นาที)

เรียนเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง รวมเวลาพักกลางวันแล้วด้วย

แล้วเด็กๆ เอาเวลาไปทำอะไร?

คำตอบคือ “เล่น” ครับ

เวลานอกเหนือจากการเรียนในห้อง พวกเขาจะปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างเต็มที่ เช่น เล่นกับเพื่อน ออกกำลังกาย ปีนต้นไม้ วาดรูป อ่านหนังสือ เล่นดนตรี

ครูที่ฟินแลนด์มองว่า การเล่นก็คือการเรียนรู้อีกแบบ

มัวร์ถามครูคนหนึ่งว่า “ปล่อยเด็กไปปีนต้นไม้ ไม่เป็นไรหรือ”

ครูคนนั้นตอบว่า “ดีสิคะ เขาจะได้เรียนรู้การปีนต้นไม้ การอยู่กับธรรมชาติ และอาจได้เรียนรู้แมลง และนำกลับมาถามคุณครูในวันรุ่งขึ้น”

การศึกษาของฟินแลนด์เชื่อว่า การศึกษาที่ดีคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และคือการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ไม่ใช่การเรียนรู้แบบท่องจำ หรือเรียนเพื่อไปสอบบนกระดาษ (ที่เป็นช้อยส์ ซึ่งในฟินแลนด์แทบไม่มี เพราะพวกเขาสอบปรนัยแทบทั้งนั้น)

มีช่วงหนึ่งที่มัวร์ประชุมกับคุณครูในฟินแลนด์ แล้วบอกว่า ในอเมริกาบางโรงเรียนกำลังจะยกเลิกวิชาบางวิชาที่เห็นว่าไม่จำเป็น เช่น บทกวี (มัวร์พูดขำๆ ว่า จะโตไปเป็นนักกวีไส้แห้งหรือไงฟะ!)

ครูคนหนึ่งตกใจกับความคิดนั้นมาก และตอบว่า เราไม่ได้สอนให้นักเรียนเติบโตไปทำอาชีพ แต่ทุกวิชาที่เขาสอนจะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต และจะช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กให้เติบโตเต็มศักยภาพ ส่วนเรื่องอาชีพหารายได้นั้นพวกเขาต้องไปเลือกด้วยตัวเอง

วิชาอย่างศิลปะ ดนตรี หรือบทกวีที่หลายคนมองว่าไร้ประโยชน์ สร้างอาชีพไม่ได้นั้น ครูในฟินแลนด์กลับมองว่าจะช่วยให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นมนุษย์ที่มีความสุข และหน้าที่ของครูก็คือการเตรียมความพร้อมให้เต็มที่ที่สุด

ประเด็นนี้จะคล้ายๆ กับสิ่งที่ สตีฟ จ็อบส์ เคยพูดไว้ว่า connecting the dots ทุกอย่างคือการเชื่อมจุด บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนไปจะใช้ประโยชน์อะไร แต่มันจะเกิดขึ้นในได้อนาคต หากเราเชื่อมจุดให้เป็น เหมือนกับที่จ็อบส์ใช้วิชาออกแบบตัวอักษรมาทำให้แอบเปิ้ลมีดีไซน์ที่โดดเด่น

ผมคิดว่า เคสของฟินแลนด์นี้อาจจะต้องศึกษากันให้ละเอียด เพราะหลายครั้งที่เราปล่อยให้เด็กมีเวลาว่างมาก ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น มัวแต่เล่นแชตทั้งวัน หรือเล่นเกมไม่ออกไปไหน

แต่อย่างน้อยแนวคิดที่ว่า การเล่นคือการเรียนรู้ ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าการบังคับให้เรียนแต่ในห้องเรียน ให้การบ้านเยอะๆ เรียนพิเศษทุกวันเสาร์อาทิตย์ ไม่ได้ทำให้เด็กคนนั้นเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพเลย เพราะเก่งแต่ในห้องเรียน

เด็กที่ฟินแลนด์ไม่ได้ต้องถูกกดดันให้เรียนเก่ง แต่เด็กจะได้รับการสอนให้เรียนอย่างมีความสุข เพื่อที่ในวันข้างหน้าเมื่อพวกเขาเติบโตไป ทักษะของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” จะติดตัวเขาไป

ผลลัพธ์ของการเปลีย่นวิธีการสอนคือ ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศทีมีคะแนนด้านการศึกษาอันดับ 1 ของโลก ทั้งๆ ที่ใช้เวลาในห้องเรียนน้อยที่สุดในโลก

ส่วนสหรัฐ อยู่ที่อันดับ 20 กว่าๆ เหมือนเดิม

และ…พี่ไทยก็ยังเถียงกันเรื่องเรียนฟรีอยู่เลย

 AFP PHOTO / FRANCE PRESSE VOIR
AFP PHOTO / FRANCE PRESSE VOIR

ไอเดียที่สามคือการสอนประวัติศาสตร์ในเยอรมนี

อย่างที่เรารู้กันครับว่า เยอรมนีมี “ฮิตเลอร์” เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ พวกเขาก่อสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนไปมากมาย

คำถามก็คือ พวกเขาสอนเด็กเยอรมันว่าอย่างไร?

บอกว่า พวกเราเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ใช่ไหม?

บอกว่า พวกเราไม่ได้แพ้สงครามหรือเปล่า?

บอกว่า พวกเราทำถูกต้องแล้วอย่างนั้นหรือ?

คำตอบคือสอนอย่างไปตรงมา พูดความจริงซึ่งๆ หน้า ไม่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ มีภาพการปราบประชาชนแบบจะๆ ในตำราแบบเรียน และถอดบทเรียนเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายนั้นอีก

ที่สำคัญคือ พวกเขาจะปลูกฝังให้รู้ว่าชาวเยอรมันทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบนี้ แม้ว่าพวกเขาจะเกิดไม่ทันก็ตาม

มัวร์ใช้คำว่า original sin หรือบาปติดตัวตั้งแต่เกิด

มีฉากหนึ่งในสารคดี มัวร์ถายทอดการเรียนการสอนในห้องเรียน คุณครูให้โจทย์ว่า ถ้าจะต้องเก็บของหนึ่งอย่างใส่กระเป๋า แล้วไปจากบ้านโดยไม่ได้กลับมาแล้ว พวกคุณจะเอาของอะไรใส่เข้าไป

คุณครูคนนั้นสอนอะไร พอเดาได้ไหมครับ

ใช่ครับ คุณครูกำลังจำลองเหตุการณ์ที่นาซีพาชาวยิวไปฆ่าทั้งเป็น โดยให้นักเรียนได้รับรู้ความรู้สึกของชาวยิว คนที่กำลังจะถูกนำไปฆ่านั่นเอง

น่าสะเทือนใจ แต่ก็กล้าหาญ น่าชื่นชมเช่นเดียวกัน

ไม่เฉพาะกับนักเรียนเท่านั้น เยอรมนียังทำการสร้างพิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถาน หรือสถานที่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้อีกมากมาย ในบริเวณท้องถนนที่ใกล้กับที่เกิดเหตุจะมีป้ายข้อความจริงๆ ที่นาซีเคยกีดกันชาวยิวไม่ให้ทำกิจกรรมกับสังคม เช่น ห้ามชาวยิวนั่งที่นั่งในรถเมล์

ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการบอกว่าพวกเขาสำนึกผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเตือนใจคนรุ่นหลังว่าบรรพบุรุษของเราเคยสร้างบาดแผลอะไรไว้กับคนอื่นบ้าง

และทำอย่างไรให้ไม่เกิดเหตุการณ์นั้นอีก

มัวร์ย้อนกลับมาบอกว่าในสหรัฐไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์ที่รำลึกถึงการค้าทาสของอเมริกาเลย และในแบบเรียนก็ไม่ได้ย้ำว่าพวกเขาเคยบุกรุกชนเผ่าอินเดียนแดงอย่างเหี้ยมโหด

คงไม่ต้องพูดนะครับว่าตำราเรียนของบ้านเราสอนอะไรบ้าง บิดเบือนตัดทอนประวัติศาสตร์มากแค่ไหน และมันส่งผลอย่างไรกับเด็กที่เติบโตมากับหนังสือแบบเรียนคลั่งชาติอย่างไร

สังคมไทยไม่เคยแม้แต้จะกล้าพูดความจริงกับเด็ก

3 ไอเดียที่ผมยกมาเล่านี้ อาจจะแตกต่างและคนละประเด็น แต่ผมคิดว่ามีจุดร่วมกันหลายอย่าง

หนึ่ง การมองว่าเด็กเป็นมนุษย์ที่กำลังจะเติบโตมาในสังคมสมัยใหม่ ไม่ได้มองว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งในโลกแห่งการทำงานอย่างเดียว พวกเขาต้องอยู่ในสังคมให้เป็น และใช้ชีวิตให้มีความสุข

สอง การให้อิสระกับเด็ก อนุญาตให้ตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เลือกทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ได้กำหนดให้อยู่ในกรอบที่ตัวเองขีดเอาไว้

สาม การสอนว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนตลอดชีวิตต่างหากที่คือความหมายที่แท้จริงของการศึกษา

สี่ การยอมรับความผิดพลาดในอดีต กล้าพูดความจริงว่าเราเคยทำผิดอะไรไปบ้าง เราไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าใคร และนำสิ่งเหล่านั้นเป็นบทเรียน

ทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าอ่านดีๆ จะเห็นได้ว่า ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกับเด็กเท่านั้น แต่ยังนำความคิดเหล่านี้ไปใช้ได้หลายวงการ โดยเฉพาะในโลกแห่งการทำงาน

คุณดูแลลูกน้องแบบไหน มองว่าเขาเป็นแค่ฟันเฟืองหรือมนุษย์คนหนึ่ง

บริษัทดูแลพนักงานอย่างไร ส่งเสริมให้เขาได้คิดอย่างอิสระหรือกำหนดให้ทำตามกรอบ

เมื่อเกิดความผิดพลาด เรากล้าเผชิญหน้า รับผิดชอบกับความผิดพลาดหรือไม่ ทำตัวเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้หรือไม่

ผมดูหนังของมัวร์แล้วคิดตามในหลายประเด็น พลางย้อนมองมาที่บ้านเรา ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นๆ เอาแค่เรื่องการศึกษาเรื่องเดียวก็พอ

เราอยากให้เด็กไทยโตมาแบบไหนกัน?