แก้วิกฤต ต้องเฉียบขาด : ธนินท์ เจียรวนนท์

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว : ธนินท์ เจียรวนนท์

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี พ.ศ.2540 ที่ใครๆ เรียกกันติดปากว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” นับเป็นวิกฤตหนักหน่วงช่วงหนึ่งเท่าที่ผมประสบมา

แม้ว่าผมจะเคยเจอมรสุมมาหลายลูกแล้ว เราเคยเจอกับภาวะค่าเงินบาทลดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ.2527 แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตปี พ.ศ.2540 ซีพีไม่ได้ตั้งตัว

ไม่ได้เฉลียวใจเลยจริงๆ ถึงขนาดที่ผมขอวางมือจากธุรกิจหลักที่อยู่ตัวแล้ว และจะดูแค่ธุรกิจที่เราเพิ่งเริ่มได้ไม่กี่ปียังไม่เข้ารูปเข้ารอยเท่านั้น คือโทรศัพท์และค้าส่งค้าปลีก

แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา แผนที่จะวางมือของผมก็เป็นอันต้องพับไป

ต้องยอมรับว่า ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเรากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากมาลงทุนในประเทศไทยผ่านโครงการขนาดใหญ่อย่างเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน

เมื่อค่าเงินลดจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับว่าหนี้สินของเราพุ่งจาก 25 บาทเป็น 50 บาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท เทเลคอมเอเซีย (ทรู คอร์ปอร์เรชั่นในปัจจุบัน) ที่มีเงินกู้ต่างประเทศก้อนใหญ่และยังไม่ถึงช่วงคืนทุน จึงยังไม่สามารถสร้างรายได้มาใช้หนี้เงินกู้ที่บานขึ้นมาอย่างกะทันหันได้ทัน

ในภาวะที่ย่ำแย่นี้ต้องขอบคุณพี่ชายที่ไว้ใจให้อำนาจผมจัดการ เรา 4 พี่น้องประชุมกัน ผมขอให้พี่ๆ สบายใจ รับรองว่า ธุรกิจที่พี่ชายสร้างมา “อาหารสัตว์และเกษตร” ผมจะไม่ขาย

และแม้จะต้อง “ขาย” กิจการออกไปบ้าง ผมก็จะขายเฉพาะธุรกิจที่ผมก่อตั้งขึ้นมา

จะแก้วิกฤต ต้องมีความเฉียบขาด

“โลตัส” ช่วงนั้นเราเปิดประมาณ 20 สาขา ซึ่งจากการประเมินแล้ว เราจะถึงจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ในสาขาที่ 26 ถ้าเรา “กัดฟัน” เปิดอีก 6 สาขา เราก็จะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว แต่ต้องใช้เงินลงทุนมาก สาขาหนึ่งต้องลงทุน 800-1,500 ล้านบาท ขณะที่เราเพิ่งกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาพร้อมยอดหนี้ที่พุ่งเป็นเท่าตัวจากการลดค่าเงินบาท

ขายเลยไม่ต้องชักช้า นี่คือทางออกของผม ที่ต้องรีบขายเพราะถ้าขืนช้า ของดีจะกลายเป็นเศษขยะ

ตอนนั้นเราขายได้กำไรนะ แม้จะเสียดาย แต่สำหรับผมที่ต้องแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาธุรกิจหลักไว้

“7-Eleven” ก็ขายด้วย แต่เราขายหุ้นไปแค่ 24% เราจึงยังคุม 7-Eleven ได้เกือบทั้งหมด

ไม่ใช่แค่ธุรกิจค้าปลีก “สยามแม็คโคร” ธุรกิจค้าส่งของเรา ผมก็ต้องตัดใจขายไปเหมือนกัน

ช่วงนั้นเครียดมากที่ต้องตัดใจขายกิจการที่สร้างมากับมือ แต่เครียดขนาดไหนก็ต้องนอนให้หลับ ให้สมองปลอดโปร่ง ร่างกายมีแรงตื่นขึ้นมาสู้กับปัญหาในเช้าวันรุ่งขึ้น

ถ้าผมไม่สู้…แล้วพนักงานของเรากับคนที่อยู่ข้างหลังพวกเขาอีกตั้งมากมายจะทำอย่างไร

หลังจากขายหุ้น เราก็ไม่ได้เอาคนออกและไม่ทำให้กระเทือนกับธุรกิจที่ยังไม่ได้ขายหุ้น เพราะในแต่ละกลุ่มธุรกิจเราแยกบัญชีและแยกการตลาด การบริหารออกจากกัน ดังนั้น จึงไม่ทำให้พนักงานเสียขวัญ

ขายกิจการบางส่วนไป เอาเงินมาใช้หนี้ ส่วนหนี้ของเทเลคอมเอเซีย เป็นหนี้ระยะยาว ในภาวะวิกฤตแบบนี้เจ้าหนี้ไม่ว่ารายไหนก็อยากได้ความมั่นใจว่า เขาจะได้เงินคืน กรณีของเทเลคอมเอเซีย เจ้าหนี้ขอให้ผมเข้ามาเป็น CEO เต็มตัว สุดท้ายก็ต้องให้คุณศุภชัย เจียรวนนท์ มาเป็น CEO เขาถึงยอมวางใจ

ผมยังนึกเสียดายที่ช่วงวิกฤตไม่เลือกขายเทเลคอมเอเซีย เวลานั้นหุ้นเทเลคอมเอเซียราคาอยู่ที่ 80 บาท ถ้าขายไป เราก็จะสามารถปลดหนี้ก้อนใหญ่แถมยังเก็บโลตัสไว้ได้ด้วย แต่กลับไม่ขายเพราะยังมีความหวังว่าเทคโนโลยีเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลที่ลงทุนไปจะทำให้เราเติบโต คาดไม่ถึงว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นรวดเร็วจนเคเบิลใต้น้ำไม่มีค่าอีกต่อไป หุ้นเทเลคอมเอเซียราคาก็ดิ่งลงไปเหลือแค่ 2 บาท จากสูงสุด 100 กว่าบาท

นอกจากการขายธุรกิจบางส่วนออกไป สิ่งสำคัญที่ผมต้องทำไม่แพ้กันก็คือ “การขยายธุรกิจ”

ขายธุรกิจไป แถมธุรกิจที่เหลือก็ไม่ขยายตัว มีแต่ทรงกับทรุด แล้วอย่างนี้ใครจะเชื่อมั่น มีแต่คนคิดว่า บริษัทจะล้มละลาย

เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้

แม้ว่าช่วงนั้นจะไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้ แต่เราก็พยายามเอาเงินกำไรจากธุรกิจที่ยังพอมีมาใช้ขยายธุรกิจที่เรารักษาไว้

ร้าน 7-Eleven ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจเกษตรของเราก็เร่งผลิตและส่งออก ขณะเดียวกันเรายังขยายธุรกิจเคเบิลทีวีและบริการสื่อสารความเร็วสูงด้วย เพราะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น คนจะดูทีวีมากขึ้น ทั้งคนที่มีเงินและคนที่ไม่มีเงิน

ที่เราต้องขยายธุรกิจท่ามกลางวิกฤตก็เพื่อให้กำลังใจพนักงานและเพื่อที่จะมีโอกาสสร้างรายได้กลับคืน

นี่ล่ะคือ ทีเด็ด

ถ้าตอนนั้นไม่ขยาย ซีพีก็ไม่ใหญ่ขึ้น นอกจากนั้น ยังหดตัวด้วย คนเก่งก็ไม่อยู่กับเรา ลาออกหมดเพราะไม่มีอนาคตแล้ว

เมื่อเรา “ขาย” ธุรกิจบางส่วน และ “ขยาย” ธุรกิจที่เหลืออยู่ เราก็ลดภาระพร้อมกับสร้างรายได้เพิ่มได้ด้วย จึงมีเงินมาคืนหนี้ธนาคารได้หมดทุกบาททุกสตางค์

หาซื้อ หนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว : ธนินท์ เจียรวนนท์

ได้ที่นี่