‘กรธ.’ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้ รมต.เป็นส.ส. ลงมติ กม.งบประมาณฯได้

‘กรธ.’ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้รมต.เป็นส.ส. ลงมติกม.งบประมาณฯได้ ยันใช้สิทธิฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พ.ศ.2560 โพสต์ข้อความต่อประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จะใช้สิทธิลงมติในเนื้อหาได้หรือไม่ โดยมีสาระโดยนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 125 ตอนที่ 127 ก วันที่ 4 ธันวาคม 2551 โดยเฉพาะหน้า 13 และ 14 ว่าดำเนินการได้ และแนบลิงก์ให้ตรวจสอบ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/127/1.PDF และระบุข้อความด้วยว่า ดังนั้นก่อนตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ สมควรที่ผู้ตั้งคำถามจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนก่อน เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันของประชาชนในสังคม

ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 144 ว่าด้วยการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณซึ่งเขียนเหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาที่กำหนดว่าห้ามส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่มีผลให้ส.ส., ส.ว. หรือ กมธ. มีส่วนในการได้ใช้งบประมาณรายจ่าย ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 มีคนร้องต่อกรณีที่ ส.ส.ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สามารถลงมติได้หรือไม่ ซึ่งผลวินิจฉัยระบุว่าการประชุมสภาฯ ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะเดียวกันจะออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่มีส่วนได้เสียไม่ได้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เขียนบทบัญญัติเหมือนกันจึงมีประเด็นที่พิจารณาได้ว่า ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีสามารถลงมติได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนละบทบาทของตำแหน่งรัฐมนตรี

“หากดูตามหลักการแบ่งแยกอำนาจส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรี สามารถใช้สถานะของส.ส. หรือฝ่ายนิติบัญญัติโหวตได้ ขณะที่การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นบทบาทของฝ่ายบริหาร ถือเป็นการเสนอโดยฐานะคณะฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดบทตรวจสอบ ส.ส.ที่แปรงบประมาณเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง เช่น งบสร้างศาลาของส.ส. จึงกำหนดมาตรการตรวจสอบที่ให้ ส.ส.เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้”นายปกกรณ์ กล่าวและว่า สำหรับส.ส.ซึ่งเป็นรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ สามารถทำได้ แต่ต้องระวังว่าอย่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่าย การแปรญัตติเพื่อเอางบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์กับตนเอง ดังนั้นกรณีการลงมติของส.ส. ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการใช้สถานะที่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ