ผลสะเทือน ประเทศไทย กรณีรองอธิบดี “สุภัฒ” “ไม้จิ้มฟัน” หรือ “เรือรบ”?

ไม่ว่าวัดจากสื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดีย

กรณี นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”

หลังตกเป็นข่าวอื้อฉาว ถูกตำรวจญี่ปุ่นจับกุมข้อหาขโมยภาพเขียน 3 ภาพของโรงแรมที่พักในเมืองเกียวโต

ต่อมาอัยการญี่ปุ่นมีคำสั่งไม่ฟ้อง และปล่อยตัวกลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษ

แต่สังคมไทยต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้อย่างกว้างขวาง

ลามไปถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเอาผิดกับนายสุภัฒ ด้วยการไล่ออกจากราชการ ไม่ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ

เพราะนายสุภัฒไม่เพียงเป็นข้าราชการระดับรองอธิบดี พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งผิดทั้งแง่ศีลธรรม และกฎหมาย ยังได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับข้าราชการไทย ประชาชนไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง

มาตรการกดดันทางสังคม เป็นส่วนสำคัญให้นายสุภัฒทำหนังสือชี้แจงเรื่องทั้งหมดผ่านสื่อมวลชนไปยังสาธารณชนเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยอาการสำนึกผิด

ใจความสรุป นายสุภัฒชี้แจงว่า เหตุการณ์ลักทรัพย์ภาพเขียน เกิดขึ้นหลังตนเองไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนสมัยเรียนชาวญี่ปุ่น สนุกสนานกันเต็มที่จนเผลอดื่มสุรามากเกินไป

เป็นเหตุให้เมามาย ขาดสติ กระทำในสิ่งไม่ควรกระทำ

ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ประชาชนคนไทย รวมถึงประเทศไทย

ไม่เพียงกล่าวขอโทษต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารกระทรวง เพื่อนข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ และประชาชนชาวไทย

นายสุภัฒแสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นลาออกจากตำแหน่งราชการ และยืนยันความพร้อมเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบราชการ โดยไม่หลีกเลี่ยง

ในช่วงท้าย นายสุภัฒแสดงความหวังว่า สังคมจะเข้าใจและให้อภัย

 

หนังสือชี้แจงของนายสุภัฒ จะช่วยผ่อนสถานการณ์จากหนักเป็นเบาได้หรือไม่ ยังต้องรอบทสรุปอีกที

เนื่องจาก น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงเปิดเผยผลดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ากรณีนายสุภัฒ

มีมูลเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง

ขั้นตอนต่อไป จึงมีความเห็นเสนอกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยต่อไป ถึงจะยื่นใบลาออกแล้วก็ตาม

สำหรับโทษผิดวินัยร้ายแรง มี 2 อย่าง ปลดออกกับไล่ออก แตกต่างกันตรงโทษปลดออก ยังได้รับบำเหน็จบำบาญ แต่ถ้าไล่ออก จะไม่ได้รับอะไรเลย

บางคนมองว่า กรณีนายสุภัฒ แน่นอน ด้านหนึ่งย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าราชการไทย และชื่อเสียงของประเทศ

อีกด้านหนึ่ง เป็นเครื่องสะท้อนถึงความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมไทย ที่แบ่งออกเป็นอย่างน้อย 2 ฝ่ายแทบจะในทุกเรื่อง ตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟัน” ยัน “เรือรบ”

ในเบื้องต้น ดูเหมือนมีความพยามจำกัดขอบเขตกรณีนายสุภัฒ ให้เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” เพราะถึงจะเป็นรองอธิบดี แต่พฤติการณ์ที่กระทำก็แยกออกจากเรื่องงานชัดเจน

เป็นการสังสรรค์กับเพื่อน จนเมาขาดสติ

แต่เมื่อมีการส่งเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ในกรุงโตเกียว และสถานกงสุลใหญ่ไทย ในนครโอซากา เข้าเจรจาประสานกับเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือ

เรื่องส่วนตัว จึงถูกขยายเป็นเรื่อง “ส่วนรวม”

การเข้าช่วยเหลือเจรจา กระทั่งโรงแรมสถานที่เกิดเหตุยอมรับการชดใช้ค่าเสียหาย และไม่ติดใจเอาความ นำไปสู่การที่อัยการญี่ปุ่นมีคำสั่งไม่ฟ้อง และปล่อยตัวกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องรับโทษ

รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ แทนที่จะมีคำสั่งปลดนายสุภัฒ กลับแค่สั่งย้ายให้ไปช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวง

กลายเป็นประเด็นให้สังคมตั้งข้อสงสัยเอากับรัฐบาล ว่ากำลังช่วยเหลือปกป้องข้าราชการระดับสูงที่กระทำความผิดหรือไม่

โดยมีการหยิบยกมาตรฐานการปฏิบัติ เปรียบเทียบคดีเมื่อปี 2558 กรณีสาวไทยถูกตำรวจญี่ปุ่นจับกุมข้อหาลักทรัพย์ในสวนสนุก ทั้งที่ยอมรับผิดและคืนของแล้ว

แต่ยังถูกดำเนินคดีคุมขังนาน 2 เดือน

 

มีคำอธิบายเชิงหลักการและกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

อัยการญี่ปุ่นมีอิสระและอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องบางคดีได้ ภายใต้หลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด หากเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยสันดาน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายชะลอการฟ้อง กำหนดว่า หากอัยการพิจารณาถึงบุคลิกลักษณะ อายุ สภาพแวดล้อมของผู้กระทำผิด ความร้ายแรง และพฤติการณ์การกระทำความผิด แล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งฟ้องคดีต่อศาล ก็มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีได้

“คดีลักทรัพย์ภาพวาด ตามกฎหมายญี่ปุ่นไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง ตามข่าวที่ปรากฏ อัยการญี่ปุ่นเห็นว่าไม่ได้สร้างความเสียหายแก่สังคม ประกอบกับไม่มีประวัติการกระทำผิดมาก่อน และสำนึกผิดแล้ว ยินดีชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด โรงแรมผู้เสียหายก็ยินยอมให้ชดใช้ค่าเสียหาย และไม่ติดใจเอาความ” นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานสูงสุด ระบุ

ส่วนการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กงสุล ในการติดต่อประสานกับทางโรงแรมและทางการญี่ปุ่น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่ต้องให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาเดือดร้อนในต่างแดน

ญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายมากประเทศหนึ่งในโลก ดังนั้น คงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของอัยการญี่ปุ่นได้

และเมื่อถึงที่สุด ต่อให้ไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย แต่ก็ต้องรับโทษทางวินัยและทางสังคม

ไม่ว่าเรื่องไม้จิ้มฟัน หรือเรือรบ ในสังคมไทยย่อมมีความเห็นแตกเป็น 2 ทาง แม้แต่คนเป็นอัยการด้วยกันก็ตาม กรณีนายสุภัฒก็ไม่เว้น

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดอัยการสูงสุด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นยุค “กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยถอยจม”

กล่าวคือ คนทำความดีไม่ได้รับการยกย่อง แต่คนทำผิดกลับได้รับการปกป้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนดี ลูกน้องรัก ทำงานเก่ง แล้วจะสอนคนรุ่นหลังอย่างไร เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นดีเห็นงาม ช่วยกันสุดตัวเพื่อไม่ต้องดำเนินคดี

นายปรเมศวร์ ยังแนะนำเชิงประชดประชันให้แก้กฎหมายว่า “ถ้าผู้กระทำผิดฐานลักทรัพย์เป็นข้าราชการ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

บทเรียนกรณีนายสุภัฒ ใกล้สิ้นสุดลง รอเพียงผลชี้ขาดคณะกรรมการสอบวินัยว่า จะปลดออก หรือไล่ออก

ในขณะที่ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมไทย ยังดำเนินต่อไปในทุกๆ เรื่อง พร้อมคำถามที่ถูกตั้งขึ้นใหม่

กรณีนายสุภัฒ กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ กรณีอันดับความโปร่งใส

เรื่องใดคือไม้จิ้มฟัน เรื่องใดคือเรือรบ