จิตต์สุภา ฉิน : โลกจะเป็นอย่างไร เมื่อ Facebook ซ่อนยอดไลก์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

นอกจากการเป็นโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนเป็นพันล้านสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและทำให้คนทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นได้แล้ว Facebook ยังได้สร้างนวัตกรรมอีกอย่างที่ผู้ใช้งานอย่างเราไม่รู้ว่าจะขอบคุณหรือสาปแช่งดี

สิ่งนั้นก็คือ การกดไลก์ค่ะ

การกดไลก์เป็นสิ่งใหม่ที่เราทุกคนต้องทำความรู้จักและคุ้นเคยกับมันตั้งแต่ Facebook ค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ในตอนแรก Like ก็แปลว่า Like อะไรที่เราชอบเราก็กดไลก์ อะไรที่เราไม่ชอบก็ไม่กด

แต่พอเวลาผ่านไป Facebook เริ่มรู้สึกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อโพสต์ของคนอื่นมันไม่สามารถถูกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือชอบ กับ ไม่ชอบได้ เพราะไม่อย่างนั้นเวลาที่เพื่อนโพสต์เรื่องเศร้าในชีวิต ผู้ใช้งานก็จะไม่มีวิธีที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้เลย ก็เลยเพิ่มอีโมชั่นหรือการแสดงออกทางอารมณ์ประเภทอื่นๆ มาด้วย อย่างการกดเลิฟ ร้องไห้ ว้าว หัวเราะ และโกรธ

สิ่งที่ตามมาหลังจากนวัตกรรมแห่งการกดไลก์ซึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ Facebook ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่แรกเหมือนกัน ก็คือความเครียดของการแข่งขัน ความกดดันในการที่จะโพสต์สิ่งที่เรียกยอดไลก์ได้มากที่สุด

ดังที่เราจะได้ยินบ่อยมากจากคนทำคอนเทนต์ แม่ค้าออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ที่พูดติดปากว่า

“กดไลก์ กดแชร์กันด้วยนะคะ”

 

วิธีคิดและวิธีการใช้งาน Facebook ของเราก็เปลี่ยนไป

จากเดิมที่พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่สบายๆ ที่เราสามารถโพสต์ความรู้สึกนึกคิดอะไรลงไปได้แบบไม่ต้องแคร์การยอมรับของคนอื่น ก็กลายเป็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป หรือเน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่

ซึ่งก็คือการที่สมองคอยคิดและวางแผนตลอดเวลาว่าอะไรจะเป็นเนื้อหาที่เมื่อโพสต์แล้วคนจะเข้ามากดไลก์และมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุด

เมื่อเราเอาความเคารพตัวเอง ความชอบตัวเอง และความมั่นใจในตัวเองไปผูกไว้กับยอดไลก์ เราก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดไลก์ที่สูงกว่าปกติ

ไม่ว่าจะเป็นการยอมเสี่ยงอันตรายไปถ่ายเซลฟี่ที่ปลายผา

การยอมกินอะไรแปลกๆ อย่างตะขาบ แมงป่อง พร้อมกันมากๆ เพื่อเรียกเสียงว้าว

การคว้าโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายวิดีโอคนที่ประสบอุบัติเหตุนอนนิ่งอยู่บนถนนตรงหน้าแทนที่จะรีบวิ่งไปให้ความช่วยเหลือ

และกิจกรรมเหล่านี้ก็พบเห็นได้บ่อยขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เราเคยคิดว่าแปลก แหวกแนว เรียกความสนใจได้มาก

พอถึงระดับหนึ่งเมื่อเราเห็นอะไรแบบนี้จนกลายเป็นความเฝือก็ทำให้ต้องหาสิ่งที่แปลกแหวกแนวยิ่งกว่าเดิมมาเติมเข้าไป

คล้ายๆ กับการกินอาหารรสจัด เรากินรสจัดแค่ไหน ก็มีแนวโน้มที่เราจะเพิ่มความจัดจ้านขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่ปุ่มรับรสเราเริ่มจะชาชิน

ทั้งหมดนี้ทำให้ Facebook ซึ่งเป็นต้นเรื่องถูกกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

และสิ่งที่ Facebook เลือกจะทำก็คือการซ่อนยอดไลก์

 

Facebook เริ่มด้วยการทดสอบกับ Instagram ด้วยการซ่อนยอดกดหัวใจหรือยอดไลก์ ปกติเวลาที่เราเลื่อนหน้าฟีดลงไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นว่าภาพของใครได้ยอดไลก์ไปแล้วเท่าไหร่ แต่การซ่อนยอดไลก์ก็แปลว่าสิ่งที่เราเห็นใต้ภาพจะไม่ใช่ตัวเลขอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นภาพไอคอนเล็กๆ ของหน้าคนซ้อนกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคนกดไลก์ภาพนี้ แต่จะไม่บอกจำนวนว่าเท่าไหร่

มีแต่เจ้าของแอ็กเคาต์เองเท่านั้นที่ยังสามารถกดเข้าไปดูได้ว่ามีใครมากดไลก์บ้างและเป็นจำนวนเท่าไหร่

แต่คนอื่นๆ จะไม่มีใครได้เห็นเลย

ทดสอบกับ Instagram ช่วงแรกจบไป ตอนนี้ก็แผ่ขยายมายัง Facebook แล้วเรียบร้อย

ด้วยการทดสอบกับผู้ใช้งานในออสเตรเลียในรูปแบบที่คล้ายกัน

ถ้าหากว่าผลลัพธ์ออกมาดี ก็มีสิทธิเป็นอย่างสูงที่เราก็จะไม่ได้เห็นจำนวนไลก์ของโพสต์คนอื่นๆ อีกต่อไป

 

แนวคิดเบื้องหลังการซ่อนยอดไลก์ไม่ให้คนอื่นเห็น (แต่ตัวเองยังเห็น) ก็คือการลดแรงกดดัน ไม่ให้ผู้ใช้งานไปจดจ่อกับยอดไลก์ว่าในแต่ละโพสต์ของเราจะมีคนมากดไลก์เท่าไหร่ มากหรือน้อยกว่าของคนอื่น

โพสต์ของเพื่อนได้รับเสียงตอบรับดีกว่าของเราไหม

และทำให้ผู้ใช้งานกลับไปสู่ยุคที่รู้สึกสบายๆ จะโพสต์อะไรตามใจคิดก็ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าความคิดนั้นจะไม่ได้รับความสนใจจากเพื่อน

ช่วยลดการจัดอันดับทางสังคมบนโซเชียลมีเดีย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ยอมรับเถอะค่ะว่าใครก็ตามที่ได้ยอดไลก์เยอะ คนนั้นก็จะดูมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี มีความสูงส่งกว่าคนที่โพสต์แล้วไม่ค่อยมีใครมาหืออือด้วยไปโดยปริยาย

Facebook น่าจะเชื่อว่าการซ่อนยอดไลก์จะทำให้ผู้ใช้งานอย่างเรากลับไปให้ความสำคัญกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการโพสต์ มากกว่าที่จะโพสต์เพื่อแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่น

ถึงจะดูเป็นเจตนาดีๆ จาก Facebook ที่จะพยายามแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบใหม่ (ที่ก็เกิดจาก Facebook เองนั่นแหละ)

แต่ถ้ามองลึกลงไปก็ไม่ใช่ว่า Facebook จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการซ่อนยอดไลก์เลย การทำให้คนรู้สึกสบายๆ ที่จะโพสต์นั่น โพสต์นี่ โดยไม่มีแรงกดดันของการต้องเรียกยอดไลก์ก็จะทำให้คนแบ่งปันเรื่องราวมากขึ้น โพสต์สิ่งที่ใจคิดได้บ่อยขึ้น

และในที่สุดก็จะใช้เวลาอยู่บน Facebook นานขึ้น

ซึ่งนี่ก็คือโมเดลการทำธุรกิจของบริษัทนั่นแหละค่ะ ยิ่งคนอยู่บน Facebook นาน ก็จะยิ่งขายโฆษณาได้มากขึ้นในที่สุด ก็ดูเหมือนจะเป็นการวิน-วิน ทั้งสองฝ่าย เราแค่ต้องไม่ไร้เดียงสาเกินไปจนมองไม่เห็นว่า Facebook ก็ได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เหมือนกัน

สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆ ไป ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรต้องเสียจากการซ่อนยอดไลก์นะคะ

คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ใช้ Facebook ในการช่วยขายสินค้า คนดัง เซเลบ เจ้าของเพจดังต่างๆ

เพราะที่ผ่านมาตัวเลขเหล่านี้คือตัวชี้วัดว่าใครจะได้รายได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อไม่มียอดไลก์แสดงออกให้เห็นชัดๆ แล้วก็น่าจะต้องมีการปรับตัวพอสมควร

สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการมีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์โดยรวมจะน้อยลง

แทนที่จะคะยั้นคะยอให้คนกดไลก์ กดแชร์ ก็จะต้องหันไปอ้อนให้คนเข้ามาแสดงออกในรูปแบบคอมเมนต์กันแทน

แต่สังคม วิถีชีวิต พฤติกรรมเราจะเปลี่ยนไปในทางไหนที่คาดไม่ถึงอีกบ้าง

อันนี้ต้องรอให้ Facebook เริ่มซ่อนยอดไลก์ในไทย และเราก็จะได้เห็นกันชัดๆ ค่ะ