เทศมองไทย : ประท้วงที่ฮ่องกง ส้มหล่นของท่องเที่ยวไทย

การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพในการปกครองตนเองมากขึ้นของมวลชนในฮ่องกงหนนี้ ไม่เพียงยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดคิดกันไว้ในตอนแรกมาก ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

เหตุจลาจลที่ลงเอยด้วยการถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้ากลางอกของผู้ประท้วงเยาว์วัยเพียง 13 ปีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม คือสัญญาณบอกเหตุรุนแรงที่น่าวิตกถึงที่สุด

แต่เมื่อดิวอี ซิม แห่งเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (เอสซีเอ็มพี) ตั้งคำถามขึ้นมาว่า เมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่ไปเที่ยวฮ่องกงแล้วจะไปเที่ยวที่ไหน?

ผลการตรวจสอบก็เห็นได้ชัดว่า กลุ่มประเทศที่คนจีนชอบเรียกรวมๆ กันว่า “ซิน-หม่า-ไท้” ที่หมายถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงแบบ “ส้มหล่น” อย่างชัดเจน

ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าสิงคโปร์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 8 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าย้อนไปถึงเดือนมิถุนายน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในสิงคโปร์จะเพิ่มมากขึ้นถึง 46 เปอร์เซ็นต์จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาเดียวกัน ไทยเรามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 18 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของมาเลเซียไม่มี แต่มีตัวเลขของฟิลิปปินส์มาแทนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกันถึง 43 เปอร์เซ็นต์

 

ฉั่วฮักปิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของฝ่ายวิจัยเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ตั้งข้อสังเกตว่า นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งๆ ที่เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค ทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เหตุเป็นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในฮ่องกงโดยตรง

โดยผิวเผินแล้ว ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกสุดสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ดูเหมือนในกรณีของฮ่องกง นักท่องเที่ยวจีนที่เลือกเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมี “อะไรๆ” อยู่ในใจมากกว่านั้น

หวังเมิ่งเจ๋อ นักศึกษาชาวจีนวัย 21 ปี ที่ร่ำเรียนอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเลือกที่จะใช้วันหยุดระหว่างเทอมการศึกษาที่กรุงเทพฯ และหัวหินมากกว่าฮ่องกง บอกกับเอสซีเอ็มพีว่า การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของคนจีนในตอนนี้ คำนึงถึง “การประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง” ไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “ความปลอดภัย”

“คนจากแผ่นดินใหญ่จีนไม่ต้องการทำอะไรเพื่อเศรษฐกิจของฮ่องกง ไม่ว่าจะในทางใดๆ ความรู้สึกรวมๆ ในจีน เวลานี้ก็อยากปล่อยให้ฮ่องกงแห้งตายไปอย่างนั้น”

ไม่อยากทำอะไรที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับฮ่องกง ที่ “ไม่รู้บุญคุณ”

 

ไมเคิล เชียม อาจารย์ด้านการท่องเที่ยว ที่วิทยาลัยงีอัน โพลิเทคนิค ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันนี้แต่ในอีกบริบทหนึ่ง

“คนจีนจะมากจะน้อยก็เดินตามแนวทางที่รัฐบาลของตนประกาศ สำหรับประเทศทั้งหลายที่ไม่เป็นมิตรกับประเทศจีน พวกเขาก็ไม่ไปเที่ยว” ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในกรณีนี้ก็คือการที่ไม่เพียงแต่ฮ่องกงเท่านั้น แม้แต่ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีความขัดแย้งอยู่กับจีนที่ลึกซึ้งมากในบางเรื่อง บางประเด็น “ก็ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม” เขาบอก

ประเทศอย่างสิงคโปร์, ไทย และมาเลเซีย ไม่เพียงปลอดภัย ทัศนคติต่อจีนโดยรวมก็ยังเป็นบวก

 

ซินฮางลู่ รองศาสตราจารย์ภาควิชาบริหารจัดการการท่องเที่ยว ประจำมหาวิทยาลัยซุนยัตเซน ในกวางโจว เป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์หลายคนที่ชี้ว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ ไทย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น จะได้รับอานิสงส์จากเหตุประท้วงในฮ่องกงกันถ้วนหน้า ด้วยเหตุที่ว่าจีนเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ใครจะได้ประโยชน์มากกว่าใคร นอกจากจะขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ควักกระเป๋าจ่ายเงินมากน้อยแค่ไหนแล้ว ยังขึ้นอยู่กับว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไรอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับสิงคโปร์คิดสัดส่วนเป็นแค่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งหมด ในขณะที่การท่องเที่ยวกลับมีความสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของไทยมากยิ่งกว่า คิดเป็นอัตราส่วนสูงถึงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

“ส้มหล่น” ครั้งนี้จึงมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมากกว่าสิงคโปร์แน่นอน