จัตวา กลิ่นสุนทร : รถตู้โดยสาร อาหารทะเล และ สะพานเก่าแก่คู่เมือง

มองเข้าไปตรงไหนก็มักจะเห็นอะไรผิดๆ ถูกๆ ไปเสียทั้งหมด ไม่รู้ว่าชาติบ้านเมืองอื่นๆ เขาจะเป็นอย่างนี้กันหรือไม่?

หรืออาจเป็นเพราะบ้านเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่อีก เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาต่างหาก

กำลังพัฒนาทุกด้าน รวมทั้งประชาธิปไตย ฉะนั้น จึงต้องมีการ “ปฏิวัติ” จัดระเบียบกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ต้องมีกรรมการมาทำการปรองดองเพราะประชาชนในประเทศนี้ทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกันจึงปล่อยให้มีการปกครองตัวเองด้วยการ “เลือกตั้ง” ยังไม่ได้

ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยรถตู้โดยสารเป็นต้นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนต้องมีการเข้มงวดกวดขันกับรถตู้โดยสาร ตั้งแต่สภาพรถ ผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นผู้กุมชะตากรรมผู้โดยสารทั่วประเทศไว้จำนวนมากในแต่ละวัน

อันที่จริงมีการจัดระเบียบรถตู้โดยสารมานานตั้งแต่ “คณะทหาร” เข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศมาจนเกือบครบ 3 ปีแล้ว เป้าหมายใหญ่คือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเรียกว่าเป็นที่จอดจำนวนมาก เพื่อบริการรับส่งผู้โดยสารไปเกือบทุกจังหวัด

ระยะแรกๆ ก็วิ่งรับส่งผู้โดยสารเพียงระยะสั้นๆ ตามจังหวัดใกล้เคียงบริเวณปริมณฑลของกรุงเทพฯ ต่อมาก็ขยายตัวเพิ่มเส้นทางไปเกือบทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดไกลๆ เล่นเอารถโดยสารปรับอากาศขาดทุนหดหายยกเลิกกันไปจำนวนมากเพราะรถตู้มีบริการรับ-ส่งถึงที่พักในกรุงเทพฯ ซึ่งอันที่จริงเจ้าของรถบัสโดยสารระหว่างจังหวัดก็หันมาลงทุนในรถตู้โดยสารนั่นแหละ

รถตู้โดยสารถูกให้ย้ายออกไปจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2559 ไปอยู่ตามสถานีขนส่งต่างๆ หรือตามที่เจ้าหน้าที่ทางการบ้านเมืองผู้รับผิดชอบอย่างกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำหนด โดยมี “ทหาร-ตำรวจ” เป็นผู้ร่วมกำกับดูแลอยู่ด้วย

เมื่อทีมชาวสูงอายุซึ่งมักใช้รถตู้โดยสารเดินทางไปยังจังหวัดระยองเพื่อเยี่ยมเยียน “ชมรมคนชรา” เป็นประจำหลังจากที่สุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยในการขับรถยนต์ส่วนตัว จะต้องเดินทางไปทำภารกิจในการลาจากโลกนี้ของเพื่อนในชมรม ผู้ใกล้ชิดรอบข้างต่างทักท้วงด้วยความห่วงใย

รถตู้โดยสารฝั่งฟากจังหวัดชายทะเลตะวันออกจะย้ายไปจอดรับส่งผู้โดยสารยังจุดไหนกันบ้างไม่ได้จดจำ แต่ที่แน่ๆ คือสถานีขนส่งสายตะวันออก เอกมัย เป็นแห่งหนึ่ง เราจึงต้องไปขึ้นรถตู้ที่นั่น

นับเป็นครั้งแรกที่เราเดินทางโดยรถตู้โดยสารหลังเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในเขตจังหวัดชลบุรี

จำได้ว่ากว่าจะออกเดินทางมีเจ้าหน้าที่ทั้งขนส่ง ทหาร ตำรวจ จำนวนกว่า 5 คน ทหารชุดเขียวๆ นั้นเกินกว่า 3 คน ตั้งโต๊ะช่วยกันตรวจทุกคันที่จะออกเดินทาง ตั้งแต่ถ่ายรูปทั้งข้างนอก เปิดประตูตรวจดูผู้โดยสารในรถ ตรวจรอบๆ รถ เคาะตรวจยางรถยนต์ ลงเวลาอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะมากมาย

ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นการแก้ปัญหา “ปลายเหตุ” หรือ “วัวหายแล้วล้อมคอก” หรือไม่?

อันนี้อย่างที่บอกไงว่ามองเข้าไปตรงไหนก็เห็นแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทั้งสิ้น ไม่มีแผนมีนโยบายล่วงหน้า ไม่มีการวางแปลนอะไรมาก่อนเกือบจะทุกเรื่อง

เอาเฉพาะรถตู้โดยสารสุดปลายทางที่จังหวัดระยอง กับปลายทางบ้านเพ (ท่าเทียบเรือข้ามไปเกาะเสม็ด) ก็ต้องจัดแบ่งเส้นทางกัน เอาเป็นว่ารถบ้านเพเข้าเมืองระยองไม่ได้ ต้องผ่านถนนเส้นบายพาสตรงสู่บ้านเพ ฉะนั้น ผู้โดยสารที่จะลงยังตัวเมืองระยองจึงถูกปล่อยข้างนอกต้องหาทางเข้าเมืองกันเอาเอง

เช่นเดียวกับรถที่สุดปลายทางระยองก็ได้เข้ามาจอดแค่สถานีขนส่งใหม่ของจังหวัดระยอง ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กับมาบตาพุดนั่นแหละ ต้องหาทางเข้าเมืองซึ่งห่างมาอีกราว 10 กิโลเมตร รถตู้เข้ามาส่งในตัวเมืองไม่ได้ ถูกจับปรับราคาสูงมาก

เอาเป็นว่าถ้าเดินทางไป-กลับจังหวัดระยอง ต้องเตรียมค่าโดยสารรถสองแถว หรืออื่นๆ รวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ซึ่งไกลมากไม่น่าจะมีรับ-ส่ง หรือมีก็อาจราคาสูงกว่าราคารถตู้ระยอง-กรุงเทพฯ) ด้วยซ้ำ

ความหวังว่าจะมีรถโดยสารเป็นรถบัสขนาดเล็กเพื่อขจัดรถตู้ที่วิ่งระยะทางไกลเกินไป จะยังมีโอกาสหรือไม่อย่างไร?

หรือความคิดเกิดขึ้นเมื่อมีอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ เท่านั้น เหมือนกับความหวังเมื่อครั้งยังหนุ่มๆ กับ “รถไฟความเร็วสูง” กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งสมัยนั้นตื่นเต้นกันมาก เตรียมตัวกลับมาอยู่บ้านระยอง เพราะเดินทางไปทำงานกรุงเทพฯ แล้วกลับทันในวันเดียวได้

เขียนเรื่องนี้ก็เพราะเห็นว่าเมืองระยองเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลไม่น้อย

เมืองท่องเที่ยว ถนนหนทาง การคมนาคมย่อมต้องสะดวก ปลอดภัย ซึ่งดูเหมือนว่าจังหวัดระยองจะด้อยกว่าเมืองอื่นๆ เพราะเป็นเมืองผ่าน แต่เดิมไม่ค่อยจะได้พัฒนาเรื่องถนนหนทาง และความเจริญก้าวหน้าอื่นๆ สักเท่าไร ก็อีกนั่นแหละผังเมืองเดิมไม่ได้เตรียมรองรับการเติบโต ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของประเทศยากจนงบประมาณน้อย ซึ่งจะว่าไป เราขาดสมองในการวางแผนในอนาคตในเกือบทุกเรื่องเสียมากกว่า?

ทุกจังหวัดชายทะเลของประเทศเราย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารทะเล แต่ละจังหวัดต่างมีการคิดค้นสูตรเพื่อมาปรุงอาหารให้เป็นที่ถูกปาก

อย่างเช่น ร้านอาหาร “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “ปลากะพงทอดราดน้ำปลา” ซึ่งทุกวันนี้ร้านทั่วๆ ไปก็มีเมนูนี้

แต่เชื่อไหมว่าแทบไม่มีร้านไหนสามารถทำได้มีรสชาติเหมือนแหลมเจริญซีฟู้ด เขาจึงสามารถขยายสาขาไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำใน กรุงเทพฯ

อันที่จริงการปรุงอาหารทะเลก็ย่อมต้องใช้วัตถุดิบสัตว์ทะเลเป็นหลัก คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งร้านไหนจะเป็นที่อร่อยถูกปากย่อมอยู่ที่องค์ประกอบของการปรุงแต่งรสชาติ น้ำจิ้ม อาจหยิบเอาสิ่งต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานเป็นเมนูเด็ดบ้าง

แต่ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ความสด สะอาด เช่น ปลาว่ายน้ำ ปู กุ้ง หอย เป็นๆ และ ฯลฯ

 

ไประยองมาแล้วอยากบอกเล่ากันสักร้าน ชื่อร้านเจ๊ผึ้ง ก็มีเมนูอาหารทะเลพอรับประทานได้ ร้านนี้ถ้าวิ่งรถไปตามถนนสุขุมวิทจากมาบตาพุด ถึงสี่แยก “พีเอ็มวาย” (PMY) เลี้ยวขวาเข้าถนน “ท่าบรรทุก” วิ่งไปจนเจอสามแยกที่รูปปั้น “นางผีเสื้อสมุทร” เลี้ยวขวาเข้าถนนเลียบชายฝั่งทะเลวิ่งไปจนสุดถนนก็เจอร้าน ก็อยู่ถนนเดียวกันกับร้านแหลมเจริญซีฟู้ด โดยร้านนี้อยู่สุดถนนด้านทิศตะวันตก ส่วนร้านแหลมเจริญอยู่สุดถนนด้านทิศตะวันออก

ความจริงตลอดแนวถนนเลียบชายฝั่งจะเต็มไปด้วยร้านอาหารทะเล เลี้ยวเข้าไปเถอะรับรองว่าพอรับประทานได้ทุกร้านนั่นแหละ รสชาติก็บอกแล้วว่าอยู่ที่ความสด สะอาด และน้ำจิ้ม พริกแกง ซึ่งย่อมต้องมีพ่อครัว แม่ครัวที่มีฝีมือความสามารถ มากด้วยประสบการณ์

รวมทั้งการจัดแต่งร้าน ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยจะเน้นกันสักเท่าไร?

 

มีสะพานเก่าแก่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทันสมัยมากเมื่อกว่า 60 ปี ข้าม “แม่น้ำระยอง” เชื่อมระหว่างตัวจังหวัดและชายฝั่งทะเล สะพานมีความยาวประมาณ 30 เมตร ผู้ก่อสร้างสะพานนี้เมื่อปี พ.ศ.2496 คือ ท่านเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเจ้าเมืองระยอง และผู้แทนราษฎร ผูกขาดของจังหวัดระยองมาอย่างยาวนาน สะพานนี้จึงชื่อ “สะพานเปี่ยมพงศ์สานต์” ตามนามสกุลของท่าน

สำหรับคนระยองรู้จักสะพานนี้กันเป็นอย่างดีเพราะเป็นสะพานเดียวที่เชื่อมต่อไปยังฝั่งจังหวัดซึ่งเดิมทีจะมีศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เทศบาลเมืองระยอง ศาลจังหวัด สถานีตำรวจภูธรจังหวัด โรงเรียนสำคัญๆ เช่น ประจำจังหวัดชาย-หญิง และ ฯลฯ รวมถึงบ้านปากคลอง ปากน้ำ อันเป็นแหล่งประกอบการ การประมงของจังหวัด

นึกภาพง่ายๆ ถ้าขับรถมาบนถนนสุขุมวิทจากรุงเทพฯ เข้าสู่ตัวเมืองระยอง ถึงสามแยกไปฝั่งจังหวัด และชายทะเล เลี้ยวขวาสู่ถนนตากสินมหาราช ซึ่งต้องข้ามแม่น้ำระยองที่สะพานเปี่ยมพงศ์สานต์เชื่อมสองฝั่งนั่นแหละ

สะพานอายุยาวนาน 64 ปีย่อมมีการชำรุดทรุดโทรม เทศบาลนครระยอง ซึ่งมี นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย เป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลนครระยอง จึงต้องทุบทิ้งตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อก่อสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้แปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไร เพราะการก่อสร้างของใหม่ขึ้นมาทดแทนของที่ชำรุดทรุดโทรมใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เรียกว่าต้องมีการขยับขยายและออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในสภาพปัจจุบัน

เพียงแต่ประหลาดใจอยู่สักเล็กน้อยตรงที่ว่าทำไมไม่ก่อสร้าง “สะพานเบี่ยง” เพื่อให้ได้ใช้งานชั่วคราว เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าฝั่งจังหวัดนั้นเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียน สถานที่ราชการสำคัญๆ ถึงแม้ศาลากลางจังหวัดจะโยกย้ายไปแล้วก็ตาม

ยามนี้ “เมืองระยอง” จึงสับสนกับการจราจรเป็นอย่างยิ่ง