มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดศึก กสทช. ชิงเกม…คิดค่าโทรปัด-ไม่ปัดเศษ แบบไหนโดนใจ

แม้ปัจจุบันการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยและทั่วโลก มีแนวโน้มการใช้งานด้านบริการเสียง (วอยซ์) ลดน้อยลง และหันมาใช้งานด้านบริการข้อมูล (ดาต้า) ติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ รูปภาพ สื่อสารด้วยเสียง สื่อสารโต้ตอบกันผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย)

อย่างไรก็ดี บริการเสียงผ่านทางโทรศัพท์ ก็ยังเป็นบริการที่มีคนใช้อยู่และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปแต่อย่างใด

ซึ่งแม้การให้บริการเสียงผ่านโทรศัพท์มีมาเป็นสิบๆ ปี แต่สิ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในเวลานี้ กลับเป็นเรื่องของแนวทางการคำนวณอัตราค่าบริการ ระหว่าง ควรคำนวณแบบคิดอัตราใช้งานตามจริงเป็นวินาที

หรือคิดคำนวณแบบอัตราเหมาจ่ายและปัดเศษเป็นนาที

เรื่องนี้เริ่มต้นตั้งแต่ 6 มกราคม 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติให้กำหนดแนวทางการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ส่งผลให้ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายให้มีการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที

รวมทั้งภายหลังจัดสรรใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4จี เสร็จเรียบร้อย ในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเพิ่มเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต 4จี ให้ผู้รับใบอนุญาต คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้ง 2 บริษัท ต้องมีการคำนวณอัตราค่าบริการเสียงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบคิดตามจริงเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจ

จนผ่านมาเกือบครบ 1 ปี ทาง กสทช. และ กทค. กลับยังไม่ทิ้งลายเสือกระดาษ หรือจะพูดให้ถูก คือ ยังไม่สามารถบังคับค่ายมือถือให้ดำเนินการตามมติของตนเองได้

กลับพบอีกว่าแพ็กเกจการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในท้องตลาด ที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีนั้น กลับมีเพียง 5% เท่านั้น ที่คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที แทนที่จะเป็นครบทั้ง 100% ตามมติ กทค.

รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. เรียกร้องให้คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที

โดยการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีน้อยเช่นนี้ เมื่อไม่นานมานี้ ทางเอไอเอส และทรูมูฟ เอช ออกมาให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ประเมินว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ 70-80% ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะบริษัทมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกการส่งเสริมการขายที่เป็นแพ็กเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การนำอัตราค่าบริการตามอัตราที่ กสทช. กำหนดมาใช้ในการคำนวณ ได้แก่ นำมาหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์ ฉะนั้น การคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกแพ็กเกจหรือโปรโมชั่นในราคาเหมาจ่าย เพราะยิ่งโทร.นานเท่าไหร่ ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

ล่าสุด 11 มกราคมที่ผ่านมา กทค. จึงมีมติกลับลำมติเดิมของตนเอง จากที่ให้ทุกแพ็กเกจต้องคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที เป็นการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบ่งสัดส่วนการให้บริการในตลาดเป็น 50% สำหรับการคิดค่าโทร.ความจริงเป็นวินาที

และ 50% สำหรับการคิดค่าบริการเหมารวมเป็นนาที

เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เรื่องดังกล่าว “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนมติบอร์ดในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกเอง ว่าแนวทางใดเหมาะแก่การใช้งานของตนเอง โดยไม่ได้พิจารณาจากความเห็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด

แต่เนื่องจากที่ผ่านมีภาคประชาชนและหลายฝ่ายส่งความเห็นเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยให้มีการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายมีค่าบริการที่ถูกกว่า โดย กสทช. จะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาว่าภายหลังมีมติเช่นนี้ ประชาชนนิยมใช้งานในรูปแบบใดมากกว่ากัน

การเปลี่ยนแปลงมติบอร์ดครั้งนี้ ร้อนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างเห็นได้ชัด

“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ซึ่งเรื่องดังกล่าว “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอดตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง สปช. โดย สารี ระบุว่า การคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีควรคิดในทุกแพ็กเกจ

มติออกมาเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ส่วนที่มีการอ้างว่าจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้นนั้นไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราไม่ได้ใช้เต็มจำนวนนาที ก็ไม่ควรถูกปัดเศษวินาทีให้เป็นนาที

สิ่งที่ทางมูลนิธิและผู้บริโภคที่เข้าร่วมเสนอเป็นเรื่องการขอให้นับปริมาณการใช้งานโดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้ต้องการไปยุ่งเกี่ยวกับการทำโปรโมชั่นหรือรายการส่งเสริมการขายของบริษัทแต่อย่างใด ค่ายมือถือทั้งหลายยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้งานเต็มจำนวนตามแพ็กเกจจริงๆ เพราะตราบใดที่บริษัทมือถือยังเก็บเงินค่าโทร.จากผู้บริโภคอยู่ ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50% เท่านั้น

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศเชิญชวนผู้บริโภคที่ประสบปัญหาร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ ถึงวันนี้มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งความสนใจร่วมฟ้องคดีแล้วรวม 385 ราย

 

งานนี้ กสทช. เปรียบเสมือนคนกลางที่รับหน้าทั้ง 2 ฝ่าย เพราะไม่ว่าจะมีมติออกมาในแนวทางใด ก็จะถูกใจอีกฝั่งหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจอีกฝั่งหนึ่ง หรือแม้แต่มีมติออกมาให้ประชาชนได้มีโอการเลือก 50 ต่อ 50 ก็ยังไม่ถูกใจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ดี คงต้องเตรียมสู้คดีฟ้องร้องอีก!

คงไม่มีใครรู้ว่าท้ายสุด หากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ผลตัดสินจะออกมารูปแบบใด ในฐานะผู้ใช้บริการเอง ควรมีสิทธิ์ตัดสินใจว่ารูปแบบใดเหมาะสมกับเราที่สุด

รวมทั้ง ยังคงต้องจับตา กสทช. ว่าหลังจากเปลี่ยนมติแล้ว จะเพิ่มทางเลือกแบบคิดค่าโทร.เป็นวินาทีให้ถึง 50% ได้หรือไม่ หรือยังคงเป็นเสือกระดาษในสายตาคนภายนอก!!!