สุจิตต์ วงษ์เทศ/พระแท่นประทับของพระเจ้าตาก และสังฆราชชื่น วัดราชบัลลังก์ฯ เมืองแกลง จ.ระยอง

วัดราชบัลลังก์ฯ เมืองแกลง (จ.ระยอง) เป็นวัดที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า เดิมชื่อวัดเนินสระ ต่อมาชื่อวัดทะเลน้อย อยู่ใกล้ลำน้ำประแสร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระแท่นประทับของพระเจ้าตาก

และสังฆราชชื่น วัดราชบัลลังก์ฯ

เมืองแกลง จ.ระยอง

1.สังฆราชชื่น (สมเด็จพระสังฆราชองค์สุดท้ายในกรุงธนบุรี) มีถิ่นเดิมอยู่วัดราชบัลลังก์ฯ เมืองแกลง (จ.ระยอง)

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเรื่องสังฆราชชื่น โดย “เชื่อว่าอยู่วัดราชบัลลังก์ฯ ต่อมาพระเจ้าตากอาราธนาเข้าไปเป็นพระราชาคณะ ที่พระโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหงส์ฯ คลองบางกอกใหญ่”

ตอนนั้นยังไม่ได้อ่านสาส์นสมเด็จ ครั้นอ่านแล้วเมื่อไม่นานนี้เอง (จากความกรุณาของบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร) จึงรู้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์บอกไว้แล้วว่าวัดที่มีพระแท่นประทับของพระเจ้าตาก เป็นวัดถิ่นเดิมของสังฆราชชื่น คือวัดราชบัลลังก์ฯ

วัดราชบัลลังก์ฯ เป็นชื่อสมัยหลัง แต่เป็นวัดมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดิมชื่อวัดเนินสระ ต่อมาชื่อวัดทะเลน้อย (ตามชื่อหมู่บ้านทะเลน้อย)

  1. พระแท่นประทับของพระเจ้าตาก อยู่วัดราชบัลลังก์ฯ เมืองแกลง (จ.ระยอง) สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เมื่อ ร.7 ตรัสให้ส่งไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถาน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ (วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2484) ดังนี้

“—จนถึงรัชกาลที่ 7 พระสังฆราชกรมหลวงชินวรฯ เสด็จลงไปหัวเมืองชายทะเล ไปพบพระแท่นขุนหลวงตาก อยู่ที่วัดในเมืองแกลง อันเป็นวัดถิ่นเดิมของพระสังฆราชชื่น ตรัสสั่งให้ส่งมายังพิพิธภัณฑสถาน—”

[คัดจาก สาส์นสมเด็จ เล่ม 23 คุรุสภา พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2526 หน้า 31]

พระแท่นประทับพระเจ้าตาก เป็นไม้แกะสลัก ทาชาดปิดทอง เดิมอยู่วัดราชบัลลังก์ฯ เมืองแกลง (จ.ระยอง) ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร [รูปจากบทความเรื่อง “พระแท่นประทับ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)” โดย สิรินทร์ ย้วนใยดี พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-ก.พ. 2561) หน้า 117-127]

สุนทรภู่และเมืองแกลง

 

ประวัติสุนทรภู่ เกี่ยวข้อง พ.ศ.2329 ได้แก่

(1.) สุนทรภู่เกิด และ (2.) บิดาสุนทรภู่ บวช

สุนทรภู่เมื่อไปพบบิดาที่บวชอยู่วัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง ได้แต่งนิราศเมืองแกลง บอกว่าบิดาบวชมาแล้ว 20 พรรษา ดังนี้ “เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี กำหนดยี่สิบวสาสถาวร”

พ.ศ.2329 เกี่ยวข้องกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

(1.) กรุงรัตนโกสินทร์ ลงมือสร้าง 4 ปี (เริ่มสร้าง พ.ศ.2325) ยังไม่สมบูรณ์ และ

(2.) สงครามเก้าทัพเลิกแล้ว 1 ปี (มีเมื่อ พ.ศ.2328 อังวะยกทัพมารบกรุงเทพฯ 9 ทิศทาง จึงเรียกสงครามเก้าทัพ)

สงครามเก้าทัพเลิกแล้ว 1 ปี และบิดาสุนทรภู่ออกบวช เป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องเรื่องเดียวกัน

ล้อม เพ็งแก้ว (นักปราชญ์สยามร่วมสมัย) อธิบายว่าบิดาสุนทรภู่สังกัดกรมพระยาราชวังหลัง ถูกเกณฑ์ไปราชการสงครามที่มีไพร่พลล้มตาย จึงออกบวชอุทิศส่วนกุศลให้ทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นไปตามประเพณีหลังเสร็จศึก [“การบวชของบิดาสุนทรภู่ และปีแต่งนิราศเมืองแกลง” ในหนังสือ สุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2547 หน้า 53-61]

 

ทำไมต้องไปเมืองแกลง?

 

บิดาสุนทรภู่บวชด้วยเหตุอันใด? ยังเปิดกว้างให้ทักท้วงถกเถียงได้ ไม่ยุติ แต่ต้องไปอยู่วัดที่เมืองแกลงด้วยเหตุผลทางการเมืองสมัยนั้น อันเนื่องจากเพิ่งเสร็จกำจัดพระเจ้าตากเมื่อ พ.ศ.2325 แล้วสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นแผ่นดินใหม่หลังจลาจลกรุงธนบุรี

  1. เมืองแกลงเป็นแหล่งผู้คนคับคั่งเลื่อมใสภักดีเป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าตากมาก่อน ชาวบ้านเมืองแกลงครั้งนั้นย่อมว้าวุ่นแปรปรวนกระอักกระอ่วนลังเล
  2. คณะสงฆ์เมืองแกลงและเมืองใกล้เคียง เลื่อมใสศรัทธาสังฆราชชื่น ซึ่งเป็นชาวเมืองแกลงที่พระเจ้าตากสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์สุดท้ายของกรุงธนบุรี อาจมีปัญหาถึงแตกร้าวได้
  3. เมืองแกลงเป็นพื้นที่เมืองชายทะเลตะวันออก อยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของกรมพระราชวังหลัง (มีอธิบายในล้อม เพ็งแก้ว พ.ศ.2547)