กรองกระแส / จังหวะการเมือง ประชาธิปัตย์ รัฐธรรมนูญ สถานะรัฐบาล

กรองกระแส

 

จังหวะการเมือง

ประชาธิปัตย์ รัฐธรรมนูญ

สถานะรัฐบาล

 

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล้วนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

บนพื้นฐานของเหตุผลที่ว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

ทั้งยังยืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจังว่า เวลาในขณะนี้คือเวลาในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม คือเวลาในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่ทุกข์ยากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ปัญหา “เศรษฐกิจ” จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่า “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นปัญหาในทาง “การเมือง”

แต่สังเกตหรือไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีออกมาอย่างแจ่มชัดตรงไปตรงมาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และอ้างเหตุผลเดียวกันกับเหตุผลของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ว่า

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้

แม้ว่าการขับเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์จะสวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังแสดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเดินร่วมไปกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

จังหวะก้าวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้น่าสนใจ

 

เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

จังหวะประชาธิปัตย์

 

มติของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเสนอญัตติเรื่องให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิได้เป็นมตินอกคอก

1 เป็นมติตามทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์

เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขที่เสนอต่อพรรคพลังประชารัฐว่าหากไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 53 จะไม่ยอมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อเมื่อพรรคพลังประชารัฐยินยอมจึงมีการขานชื่อในวันที่ 5 มิถุนายน

ขณะเดียวกัน 1 ได้มีการนำเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีการแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

เท่ากับว่ามติพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาก็ดำเนินไปตามนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่กระบวนการนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ไปตรงกันกับกระบวนการของ 7 พรรคฝ่ายค้านเท่านั้น

จังหวะของพรรคประชาธิปัตย์จึงสอดรับกับนโยบายพรรคฝ่ายค้านและนโยบายรัฐบาล

 

ท่าทีประชาธิปัตย์

กับ 7 พรรคฝ่ายค้าน

 

เมื่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันอยู่ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ แสดงออกอย่างเด่นชัดว่ายังไม่ถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คำถามจึงมิได้อยู่ที่ว่า ตกลงคำว่านโยบายเร่งด่วนนั้นกำหนดกรอบไว้อย่างไร ตกลงที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนนั้น เวลาเท่าใดจึงจะถือว่าเร่งด่วน

เป็น 1 ปีหรือว่าไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน

การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์จึงเท่ากับแยกพรรคประชาธิปัตย์ออกจากพรรคส่วนใหญ่ในรัฐบาล เพราะว่ามองนิยามของคำว่า “เร่งด่วน” แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน การแยกตัวออกมาของพรรคประชาธิปัตย์ส่งผลโดยอัตโนมัติให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพันธมิตรในแนวร่วมของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านโดยปริยาย รูปธรรมก็คือจะร่วมมือกันอย่างไรในประเด็นที่เห็นร่วมกัน

นั่นก็คือ จะบริหารจัดการต่อญัตติเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร

นี่ย่อมเป็นปมที่แหลมคมเป็นอย่างมากในทางการเมือง

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

สถานการณ์รัฐบาล

 

นับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบวิกฤตทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่า ประสานกับวิกฤตในทางเศรษฐกิจอันเป็นมรดกจากรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากการแถลงนโยบาย

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากภาวะที่ไม่เสถียรอย่างเพียงพอของ 10 พรรคเล็กซึ่งอยู่ในสภาพการแจกกล้วย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากการรายงานข่าวของ เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ในเรื่องคดียาเสพติดเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

วิกฤตเหล่านี้มีลักษณะสะสมและส่งผลสะเทือนต่อเอกภาพ ความเชื่อมั่นและสถานะของรัฐบาลที่ไม่เพียงอยู่ในสายตาของฝ่ายค้าน หากพรรคประชาธิปัตย์ย่อมมองออกอย่างกระจ่างสว่างแก่ใจ

   นี่ย่อมมีผลในการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอันสำคัญยิ่งในทางการเมือง