ข่าวสินบนโรลสรอยซ์ เขย่า “บินไทย -ปตท.” เล็ง “เปิดหน้า” ใครเขมือบ

FILE PHOTO - Rolls Royce Trent XWB engines, designed specifically for the Airbus A350 family of aircraft, are seen on the assembly line at the Rolls Royce factory in Derby, November 30, 2016. REUTERS/Paul Ellis/Pool/File Photo

เป็นข่าวสั่นสะเทือน และเป็นที่วิจารณ์รวมถึงคาดเดากันว่า “ใคร” คือผู้เรียกรับผลประโยชน์ในครั้งนี้

เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ แถลงว่า บริษัทโรลสรอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากอังกฤษ จ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐ และบราซิล

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ 17 มกราคม ว่า โรลสรอยซ์ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543-2556 ทั้งในคาซัคสถาน, บราซิล, อาเซอร์ไบจาน, แองโกลา, อิรัก และประเทศไทย

รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บีบีซีรายงานไว้ว่า กรณีไทย โรลสรอยซ์จ่ายเงิน 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลในเรื่องการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศที่ทางโรลสรอยซ์เองไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล

เจ้าหน้าที่เอสเอฟโอเผยว่า สินบนบางส่วนจ่ายให้บุคคล ทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลสรอยซ์ ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ที 800 ในโบอิ้ง 777 ของการบินไทย

ไฮไลต์อยู่ตรงที่เอสเอฟโอระบุว่า โรลสรอยซ์ได้จ่ายเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่านายหน้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2534-2535 และอีก 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย ในช่วงปี 2535-2540

และอีก 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย และพนักงานของการบินไทยในช่วงปี 2547-2548 รวมตั้งแต่ปี 2534-2540 เป็นเงินทั้งสิ้น 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามมาด้วยข่าวว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐสอบสวนพบว่า บริษัทโรลสรอยซ์ได้มีการจ่าย “สินบน” ให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ตั้งแต่ช่วงปี 2546 จนถึง 2555 รวมเป็นเงินสินบนกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้บริหาร 1 ราย พนักงาน 3 ราย ไม่สามารถระบุได้อีก 2 ราย ในโครงการจำนวน 6 โครงการ ส่วนมากเป็นโครงการโรงแยกก๊าซ

 

กรณีการบินไทย ผู้ดำรงตำแหน่งในการจัดซื้อจัดจ้างช่วงที่ 1 ไดัแก่ พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร ดำรงตำแหน่งดีดี 2531-2535 พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ดปี 2531-2532 และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ดปี 2532-2535

นายสมัคร สุนทรเวช เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 14 ธันวาคม 2533-23 กุมภาพันธ์ 2534 และ นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน นั้น 6 มีนาคม 2534-22 มีนาคม 2535

การจัดซื้อจัดจ้างช่วงที่ 2 พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร เป็นดีดี ปี 2531-2535 นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีช่วง 2536-2543 พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดช่วงปี 2536-2539 นายมหิดล จันทรางกูร ประธานบอร์ดช่วงธันวาคม 2539-พฤศจิกายน 2543

พ.อ.วินัย สมพงษ์ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว.คมนาคม ยุครัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา

การจัดซื้อจัดจ้างช่วงที่ 3 นายกนก อภิรดี เป็นดีดีการบินไทย ช่วง 2545-2549 นายทนง พิทยะ ประธานบอร์ด มิถุนายน 2545-มีนาคม 2548 นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานบอร์ด มีนาคม 2548-พฤศจิกายน 2549 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น)

สำหรับกรณีของ ปตท. ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระหว่างปี 2541-2553 จะมีผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ ปตท. ในช่วงนั้น 2 คนคือ นายวิเศษ จูภิบาล กับ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ส่วน รมต. มีผู้ดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น 6 คน

 

หลังจากมีข่าวดังกล่าว ป.ป.ช. โดย นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลทั้งสองกรณี

ขณะที่ ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน

ส่วนบรรดาผู้มีชื่อเกี่ยวข้อง ส่วนมากไม่แสดงความคิดเห็น ขณะที่ นายกนก อภิรดี อดีตดีดีการบินไทย ส่งข้อความผ่านไลน์ว่า ตนเองถูกฝ่ายการเมืองสั่งแขวนในช่วงท้ายของการทำหน้าที่ดีดี แล้วตั้งบุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทน

มีการเผยแพร่เอกสารมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ที่กระทรวงคมนาคมขอซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777 โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือที่ สตง. ให้สอบสวนการจัดซื้อดังกล่าว ว่ามีรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน

เพื่อให้สังคมควรได้รู้ข้อเท็จจริงว่าใครทำอะไรไว้อย่างไรบ้าง และขยายผลตรวจสอบไปในกรณีอื่นด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เช่น กรณีจีที 200

ส่วนทางรัฐบาลเอง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมกับวางแนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลต่อคะแนนและการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จะจัดอันดับปลายเดือนมกราคมนี้ เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งสังคมคงต้องมองย้อนกลับไปพิจารณาดูว่าเป็นยุคสมัยใด

ส่วน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า เอกสารประกอบการพิจารณาของศาลอังกฤษ ที่โรลสรอยซ์ตกเป็นจำเลย ระบุค่าใช้จ่ายในประเทศไทยตกประมาณ 36.38 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้คนกลางผลักดันเพื่อให้ใช้เครื่อง T 800 ของโรลสรอยซ์ในเครื่องบินโบอิ้งที่การบินไทยจัดหามาใหม่ จำนวนทั้งหมด 20 เครื่อง

โดยจ่ายสินบนช่วงแรกระหว่าง 2534-2535 ในรัฐบาล รสช. เป็นเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์ งวดที่สอง 10.38 ล้านดอลลาร์ ระหว่าง 2535 ถึง 2540 รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

งวดสุดท้าย 7.2 ล้านดอลลาร์ ระหว่าง 2547-2548 ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

ใครจ่ายนั้นชัดเจน แต่ผู้รับ ยังอยู่ในสถานะ “ไอ้โม่ง” รอการระบุตัว

ไม่น่าเกินความสามารถของรัฐบาล และ ป.ป.ช.

ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้เอาจริงกับคดีทำนองเดียวกัน ที่ถูกดองเค็มไปพร้อมกันด้วย