E-DUANG : กรณี ของ “อุลตราแมน” กับ หลักคิด พุทธศาสนา

กรณี “อุลตร้าแมน” ก่อให้เกิดการระลึกชาติ ไม่เพียงแต่โยงไปยังชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับ ถวัลย์ ดัชนี ณ นิทัศนการศิลปะเชิงสะพานหัวช้าง

และรวมถึงปฏิกิริยาอันสัมพันธ์กับกรณี”ภิกษุสันดานกา”อันอื้อฉาว

หากแต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยลากดึงไปเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับ นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

และที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช ประสบ

เพียงแต่ 1 เป็นเรื่องการเมือง 1 เป็นเรื่องศิลปะ

 

กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ชัดในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อ เดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ การออกโรงของ “พันธมิตร”

กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นได้ชัดในห้วงก่อนรัฐประ หารเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ การออกโรงของ”กปปส.”

กรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อาจยังไม่ถึงขั้นแบบ นายทักษิณ ชิน วัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ก็เห็นกระบวนท่าทางด้านคดีความ การกีดกันมิให้แสดงบทบาท

และอาจรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่การยุบพรรค

กลิ่นอาจของกรณี”อุลตราแมน”อาจยังห่างไกลจากทั้งกรณี นายทักษิณ ชินวัตร และกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะเป็นเรื่องในทางศิลปะ เป็นเรื่องในทางศาสนา

แต่พื้นฐานก็คือการเผด็จอำนาจ การเผด็จความคิด

 

วัฒนธรรมในการรวบอำนาจเห็นอย่างเด่นชัดในกรณีของ”อุลตรา แมน” นั่นก็คือ การตัดสินโดยมิได้เปิดกว้างให้มีการแสดงความเห็นต่าง

กดดันและบีบบังคับตัว”อุลตราแมน”ให้หมดบทบาท

ทั้งๆที่พุทธศาสนาสอนมิให้ยึดมั่นถือมั่น ทั้งๆที่พุทธศาสนาสอนให้เปิดกว้างผ่านท่วงทำนอง”ธรรมวิจยะ”

ในที่สุดก็กดทับลักษณะ”สร้างสรรค์”ในทางความคิด