วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /อัพซีรี่ส์ : เด็กกับอดีต (1)

Jackie, Lynn and Sue, all at age 7, appear in the original "7 Up" documentary in this 1964 handout photo. Director Michael Apted, has returned every seven years to chart the children’s progress through life. Source: ITV via Bloomberg

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

อัพซีรี่ส์ : เด็กกับอดีต (1)

สําหรับพ่อ-แม่ไทยซึ่งผ่านความเจริญทางเศรษฐกิจของยุคก่อน ย่อมคาดหวังว่าลูกของตนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น และมีความหวังมากมายกับลูกของตัวเอง

แต่ในยุคนี้ เขากำลังกระวนกระวายใจเพราะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น เทคโนโลยี, ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, การเมืองที่เอียงไปทางขวา และภาวะเศรษฐกิจในประเทศและโลก (เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การค้าขายที่ฝืดเคือง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน)

ในภาวะนี้ มุมมองของเด็กย่อมไม่มี เพราะส่วนมากมองมันด้วยอาการโหยหาอาลัย (nostalgia) ซึ่งเป็นโรคของผู้ใหญ่คือ เอาเด็กในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต

จึงไม่มีคำตอบในลักษณะส่วนรวมว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร มีแต่คำตอบในลักษณะส่วนตัว เช่น เห็นวัยเด็กเป็นภาพที่สดสวยและความฝันที่น่ารัก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมักจะเกินจริงไปหน่อย

The Up Series เป็นหนังชุดที่ใช้มุมมองของเด็กและพูดถึงอดีตอย่างสมจริงมากกว่า ตอนแรกของชุดคือ 7up! เริ่มด้วยการสัมภาษณ์เด็กอายุเจ็ดขวบในอังกฤษราวสิบกว่าคน

ส่วนตอนต่อๆ มา ผู้ทำหนังก็จะกลับมาคุยกับเด็กกลุ่มเดิมเมื่อเขาโตขึ้นอีกเจ็ดปี หรือติดตามชีวิตของกลุ่มนี้ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบจนถึงหกสิบกว่า โดยให้แต่ละตอนชื่อ 7 Plus Seven, 21 UP, 28 UP, 35 UP, 42 UP, 49 UP และ 56 UP และล่าสุดออกมาในปีนี้ เป็นตอนที่เก้าชื่อ 63 UP

(https://www.itv.com/presscentre/ep1week23/63)

 

อัพซีรี่ส์ออกอากาศครั้งแรกทาง ITV และ BBC ในปี พ.ศ.2507 กลายเป็นหนึ่งในห้าสิบหนังสารคดียอดเยี่ยมในปี พ.ศ.2548 ต่อมา แปดตอนของซีรี่ส์นี้ถูกรวมไว้ในแผ่นดีวีดีชื่อ The Up Series ของโทรทัศน์เกรนาดา

7 UP! ซึ่งกำกับฯ โดยพอล อัลมอนด์ เป็นที่พูดถึงมาก หลังจากนั้นอัพซีรี่ส์จึงกลายเป็นโครงการใหญ่ที่กำหนดกันว่าจะทําทุกเจ็ดปี ตอนต่อๆ มาตั้งแต่ 7 Plus Seven เป็นผลงานของไมเคิล แอพเท็ด ผู้เริ่มจากทำหนังสารคดีในอังกฤษ ซึ่งต่อมาไปทำหนังฮอลลีวู้ดในเชิงพาณิชย์ ผลงานกำกับหนังของเขามีมากมาย เช่น Coal Miner’s Daughter, Gorky Park, Gorillas in the Mist, Enigma, The World Is Not Enough

ทุกตอนจะขึ้นต้นด้วยสโลแกนของพระนิกายเยซูอิตที่บอกว่ามอบเด็กเจ็ดขวบมา แล้วฉันจะทำให้เขาเป็นมนุษย์ หรือ “Give me a child until he is seven and I will give you the man” และในตอนหนึ่ง หนังแถลงเหตุผลที่ทําชุดนี้ นั่นคือเพราะอยากเห็นภาพของ “ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ.2000 ที่เจ้าของร้านและบริษัทต่างๆ ล้วนเคยเป็นเด็กอายุ 7 ขวบกันทุกคน”

เด็กสิบสี่คนถูกเลือกมาจากเด็กที่ไปเที่ยวสวนสัตว์ลอนดอน การเลือกซึ่งเป็นการสุ่มสร้างผลสะเทือนได้มาก เช่น ชี้ให้เห็นว่าเด็กรวยได้เข้าโรงเรียนเอกชน จบแล้วก็ทำงานเป็นเจ้านายและทำเงินมากมาย

ในขณะเดียวกันก็ชี้ว่าเด็กที่มาจากชนชั้นกลางและล่างมีชีวิตที่ลำบากและผกผันมากกว่า แต่ละคนมีเส้นทางที่คลี่คลายไปหลายแบบ

ต้องเข้าใจก่อนว่าขณะนั้น “ชนชั้น” เป็นสิ่งที่รู้กันในอังกฤษ ผู้สร้างหนังตั้งใจจะชี้ว่าสิ่งนี้มีความสำคัญขนาดที่กำหนดอนาคตของเด็กทุกคน มีคำถามยากๆ สำหรับเด็ก เช่น คิดว่าคนรวยหรือคนผิวสีเป็นอย่างไร? ซึ่งก็ได้คำตอบที่จริงใจมาก คล้ายกับที่ทีมหนังเคยบอกไว้ว่าที่ทำหนังชุดนี้ก็เพื่อนำเสนอเรื่องชนชั้นในอังกฤษนั่นเอง

ความน่าสนใจของหนังอยู่ตรงนี้ : เด็กหลายคนไม่ได้เป็นอย่างที่เราหรือพระนิกายเยซูอิตคาดหวัง

บางคนทำได้มากอย่างที่ฝันเอาไว้ บางคนก็ทำได้น้อยจนน่าใจหาย

เช่น โทนี่ จากคนที่ฝันจะเป็นจ๊อกกี้ชื่อดัง กลายเป็นคนขับแท็กซี่ในลอนดอน, พอล จากเด็กกำพร้ากลายเป็นพ่อลูกห้า, นีล จากเด็กน่ารักที่อยากเป็นนักบินอวกาศ กลายเป็นกรรมกรและต่อมาก็กลายเป็นคนไร้บ้าน และนิค จากลูกชาวนากลายเป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์ที่วิสคอนซิน

เมื่อ 56 UP ออกฉายเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว รีเบคคา มี้ด นักวิจารณ์ของ The New Yorker บอกว่า ซีรี่ส์นี้อาจจะเริ่มต้นเหมือนชาร์ลส์ ดิกเกนส์ แต่กลายเป็นมาร์แซล พรูสต์ เมื่อเวลาผ่านไป

ในปัจจุบัน แม้จะรวยและย้ายไปอยู่อเมริกาแล้ว ไมเคิล แอพเท็ด ก็จะกลับไปอังกฤษเพื่อถ่ายทําสารคดีชุดนี้ เขาเคยบอกว่า “หวังว่าจะได้ทำ 84 UP เมื่อผมอายุ 99 ขวบ”

 

หลังจากที่ 7 Up ออกอากาศเมื่อหกสิบปีที่แล้ว หนังถูกนำไปฉายในโรงเรียนและสถาบันต่างๆ หลายครั้ง เพราะก่อให้เกิดมุมมองให้ถกเถียงกันได้มากมาย เช่น การจะได้ดีขึ้นต่อสังคมที่กำหนดเด็กหรือการที่เด็กมีแรงขับดันของตัวเอง ตลอดจนคำถามที่ว่าโรงเรียนและหลักสูตรมีบทบาทแค่ไหน?

ที่สำคัญ อัพซีรี่ส์เป็นที่ชื่นชอบและติดตามกันทั่วโลก มีผู้ดูหลายวัยที่ติดตามด้วยความรู้สึกว่าเด็กๆ ในหนังเป็นตัวเอง หรือญาติสนิทของตัวเอง และตอนต่อๆ มาก็มีคนรอดูมากขึ้นทุกที

การถูกกำหนดโดยสังคมนั้นอาจจะจริง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในหนังก็ยังเป็นเนื้อหาสำคัญ การเห็นเด็กคนเดิมในหลายวัย และเกิดขึ้นในเวลาจริง การที่เด็กในหนังเปลี่ยนไปตามวัยหรือหนังเปลี่ยนจากขาว-ดําเป็นสี ทำให้ผู้ดูทุกคนบอกว่าดูได้หลายครั้ง

และตั้งคำถามกับตนเองมากมาย