คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “กรรม” ในทัศนะฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ศาสนาฮินดูมิใช่ศาสนาที่ปราศจากความคิดลึกซึ้งและเหตุผลอย่างที่มักชอบพูดกัน ในระบบปรัชญาฮินดูนั้นถึงกับมีสำนักหนึ่งที่เน้นพัฒนาด้านตรรกวิทยาคือการใช้เหตุผลโดยเฉพาะ ได้แก่สำนัก “นยายะ” ซึ่งสลับซับซ้อนมิต่างกับระบบปรัชญาตะวันตก

แต่ในสังคมไทยความรู้ชั้นลึกเกี่ยวกับฮินดูมิได้แพร่หลาย ส่วนมากก็มักเน้นเรื่องพิธีกรรมและเทวตำนาน จึงทำให้คนมักคิดว่าองค์ประกอบทางวัฒนธรรมหรือประเพณีอะไรที่ดูงมงายก็โยนว่ามาจากพราหมณ์-ฮินดูไว้ก่อน

ทั้งนี้ ภาพลักษณ์ของศาสนาฮินดู ซึ่งประกอบด้วยเทพ-เทวีจำนวนมากนั้น ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ศาสนานี้จะต้องเชื่อในเทวลิขิตหรือพรหมลิขิต ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ขวนขวายได้แต่วิงวอนร้องขอ แต่ภาพเช่นที่ว่านี้มิได้ตรงกับความเป็นจริงนัก เนื่องจากฮินดูเป็นศาสนาที่เชื่อเรื่อง “กรรม” และหลักของเหตุผลไม่ต่างจากพุทธศาสนา

ที่จริงทุกศาสนาในอินเดียมีแนวคิดหลายอย่างร่วมกันเป็นพื้นฐาน เช่น แนวคิดเรื่องกรรม สังสารวัฏ ความหลุดพ้น ความทุกข์และความเสื่อมสลาย ฯลฯ โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ก็เพราะศาสนาทั้งหลายในอินเดียต่างเกิดขึ้นภายใต้บริบททางธรรมชาติ วัฒนธรรมและสังคมอย่างเดียวกัน เราจึงอาจถือว่า แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดกลางๆ มิใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ

 

ความคิดเรื่องกรรมของศาสนาฮินดู อาจกล่าวได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดาศาสนาต่างๆ ของอินเดีย ชาวอินเดียโบราณ เริ่มต้นความคิดทางศาสนาเช่นเดียวกับพวกกรีก คือคิดว่าจักรวาลเป็นสิ่งระเบียบ (cosmos) สิ่งต่างๆ เป็นไปตามกฎบางอย่าง ซึ่งในพระเวทเรียกสิ่งนี้ว่า “ฤตะ”

กฎที่อยู่เบื้องหลังระเบียบต่างๆ ของจักรวาลนี้ มิได้เป็นกฎเฉพาะเรื่องกายภาพ เช่น การหมุนของโลก วงโคจรของดวงดาว สิ่งของหล่นลงสู่พื้น ฯลฯ เท่านั้น แต่เป็นกฎที่อยู่เบื้องหลังทางศีลธรรมด้วย เช่น ทำดีแล้วได้ผลดี ทำชั่วแล้วได้ผลชั่ว

ดังนั้น คนอินเดียจึงเชื่อมโยงโลกทางกายภาพกับการกระทำทางศีลธรรมไว้ด้วยกัน เมื่อการกระทำทางศีลธรรมเสื่อมทรามลงก็ทำให้เกิดความวิปริตในโลกกายภาพ เช่น ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล

นักวิชาการท่านว่า ฤตะ ในฤคเวทนี่เองจะพัฒนามาเป็นแนวคิดเรื่องกรรมในเวลาต่อมา

 

ที่จริงแล้ว คำว่า “กรรม” ปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเวท โดยปรากฏอย่างชัดเจนในพฤหทารัณยะกะอุปนิษัท ซึ่งเป็นอุปนิษัทแรกๆ แต่มีความหมายถึงชะตากรรมของวิญญาณหลังจากตายไปแล้ว ในขณะแนวคิดเรื่องกรรมที่เกี่ยวพันกับการเวียนว่ายตายเกิดปรากฏในคัมภีร์พราหมณะ และชัดเจนที่สุดในคัมภีร์ภควัทคีตา

“กรรม” มีความหมายว่า” การกระทำ” และยังหมายถึงกฎของความเป็นสาเหตุ (คือสาเหตุ-ผล) ของการกระทำในทางศีลธรรมด้วย

ในสมัยต่อมาเมื่อเกิดสำนักคิดฮินดูที่เรียกว่า มีมามสา (สันสกฤตว่า มีมำสา) สำนักนี้ได้เน้นการอธิบายเรื่องกรรมเป็นพิเศษ

กรรมในทัศนะฮินดูสำนักนี้มีสามอย่าง อย่างแรกเรียกว่า “สัญจิตกรรม” หรือกรรมสะสม หมายถึงสิ่งที่เราได้ทำทั้งบุญบาปในอดีตและสะสมไว้รอที่จะให้ผล อย่างที่สองเรียกว่า “ปรลัพธกรรม” คือผลกรรม หมายถึงสัญจิตกรรมที่สุกงอมแล้ว บังเกิดเป็นผลในปัจจุบัน ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าวิบาก

อย่างที่สามเรียกว่า “กริยามานกรรม” คือกรรมที่กำลังกระทำใหม่ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งจะกลายเป็นสัญจิตกรรมต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายว่า กรรมที่กระทำในปัจจุบันนั้นอาจแบ่งออกอีกเป็นสามแบบ อย่างแรกคือ กรรมที่หากไม่กระทำแล้วเป็นบาป เช่น การทำบูชาสนานกายประจำวันหรือยัญญกรรมที่กำหนดในพระเวท อย่างที่สองคือ กระทำแล้วได้บุญ ไม่กระทำก็ไม่เป็นไร เช่น การให้ทาน การสงเคราะห์คนยาก ฯลฯ อย่างสุดท้ายคือ กระทำแล้วเป็นบาป เช่น การฆ่าสัตว์นอกพิธียัญญบูชา การเบียดเบียนสมณพราหมณ์ ฯลฯ

ซึ่งรูปแบบของกรรมทั้งสามก็เกิดขึ้นภายใต้บริบททางศาสนาของฮินดูเอง จึงมีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีกรรมบางอย่างที่ช่วยลดผลของวิบากได้ เรียกว่า “ปรายัศจิตกรรม” คล้ายกรรมล้างบาป เป็นต้นว่า การชำระตัวในแม่น้ำคงคา

การอุทิศจิตใจสรรเสริญพระเป็นเจ้า แม้ไม่อาจลบล้างกรรมที่เคยทำแต่ช่วยบรรเทาผลได้

 

ตามทัศนะฮินดู การกระทำกรรมไม่ว่าด้านใด จะก่อให้เกิด “พลังงาน” (สันสกฤตว่า ศักติ) พลังงานนั้นจะไปสะสมรวมกันรอให้ผลเมื่อ “สุกงอม” แต่พลังงานของกรรมนั้นเป็นสิ่งลึกลับ ยากจะคาดเดา และคนเรามองไม่เห็น มันจึงถูกเรียกว่า “อทฤษฏะ” ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็นนั่นแหละครับ

ในเมื่อมีความคิดเรื่องกรรมแล้ว เทพเจ้าหรือพระเป็นเจ้าจะมีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราอาจแบ่งวิธีคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเจ้าและกรรมในฮินดูออกเป็นสองพวก

พวกแรกคิดว่าพระเจ้าหรือเทพเจ้าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรรมเลย กรรมนั้นทรงพลังและเป็นไปตามกลไกของมันเอง ซึ่งต้องบอกว่า แนวคิดแบบอเทวนิยมก็มีในฮินดูนะครับ เช่นพวกสำนักสางขยะและสำนักมีมามสาบางกลุ่ม พวกนี้อาจพูดถึงเทพ ในฐานะ “สิ่งที่มีอยู่” (being) แบบหนึ่งเท่านั้นไม่ต่างกับการมีอยู่ของมนุษย์และสิ่งอื่น ไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้าสูงสุด

ส่วนอีกพวกที่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า (สันสกฤตว่า อีศวร ซึ่งไม่ได้แปลว่าพระศิวะแต่หมายถึงพระเจ้า) ก็ตีความว่าพระเจ้าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมได้ เป็นต้นว่า ในสำนักเวทานตะ อุปมาว่าผลกรรมของมนุษย์ก็ดุจดังเมล็ดพืชในดิน ส่วนพระเจ้าประดุจฝนที่ตกลงมา

พืชจะขึ้นโตเป็นต้นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชนั้น ไม่ใช่เพราะฝน ฝนเพียงแต่อำนวยให้เมล็ดพืชซึ่งงอกอยู่ในดินงอกงามเท่านั้น

นอกจากแนวการอธิบายแบบเวทานตะ ยังมีแนวอธิบายแบบอื่นๆ เป็นต้นว่า พระเป็นเจ้านั้นอาจเป็นผู้สถาปนากฏแห่งกรรมเอง แต่พระองค์จะแทรกแซงต่อผลกรรมของบุคคลหรือไม่ก็ได้

ทั้งนี้จะเห็นว่า ในมโนทัศน์แบบฮินดู กรรมนั้นคล้ายดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ ไม่ว่าพระเจ้าจะมีหรือไม่ก็ตาม

ชาวฮินดูคิดว่า กรรมในทางหนึ่งคือสิ่งที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด แต่กรรมเองก็เกิดขึ้นจากสิ่งอื่น ผมเรียกสิ่งนี้ว่า ปฏิจสมุปบาทแบบฮินดู (จากคำสอนของอาทิศังกราจารย์) กล่าวคือ

“อวิทยา” (บาลีว่า อวิชชา) คือการไม่รู้สิ่งต่างๆ ตามความจริง นำไปสู่ “กาม” คือความปรารถนา (desire) ต่างๆ เพราะหลงคิดว่ามีตัวกูของกู (อหังการ-มมังการ) จึงนำไปสู่การกระทำทั้งดีชั่ว หรือ “กรรม”

และผลกรรมนั้นเองทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป (สังสารวัฏ)

 

ส่วนคำที่เราพบบ่อยๆ อย่าง “พรหมลิขิต” (สันสกฤตเรียก พรหมเรขะ) ที่จริงคำนี้น่าจะมาจากตำนานพื้นบ้านมากกว่า โดยเล่าว่าเมื่อเด็กเกิดได้หกวัน พระพรหมาจะมาเขียนชะตาบางเรื่องของเด็กคนนั้นไว้บนหน้าผาก ซึ่งมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนเรื่องพระพรหมาที่เขียน เช่น อายุของคนคนนั้น แนวโน้มทางอารมณ์และศีลธรรม ฐานะ ฯลฯ

เรื่องพรหมลิขิตนี้โดยมากพบในวรรณกรรมประเภทนิยายและสุภาษิต อย่างหิโตปเทศ, ปัญจตันตระ ฯลฯ จึงมีลักษณะการต่อสู้กับโชคชะตาตามแบบอย่างนิยายมากกว่าจะถือเป็นจริงจัง และถ้าเชื่อเรื่องนี้จริง ก็อาจกล่าวได้ว่า พระพรหมมิได้เขียนชะตาบนหน้าผากของเราอย่างเลื่อนลอย แต่เขียนขึ้นตามผลกรรมที่เราได้เคยทำไว้นั่นแหละ

แม้แต่เรื่องสร้างโลก ยังมีบางสำนักคิดฮินดูกล่าวว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกตามกรรมของดวงชีวิตแต่ละดวง (ชีวาตมัน) เพื่อจะเป็นที่ที่เหมาะที่สุดที่เราจะได้รับผลกรรมนั้น

 

ชาวฮินดูจึงไม่ได้เป็นพวกเชื่อถือโชคชะตาอย่างเลื่อนลอยไร้ที่มาที่ไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถือว่า ทั้งหมดในชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว (เรียกว่าพวกนิยัตินิยมหรือ determinism)

ถ้ากล่าวโดยเคร่งครัด การวิงวอนร้องขอต่อเทพ ในทางหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงความต่ำต้อยของตน และความโหยหาพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าตามวิถีแห่งความภักดี มากกว่าจะมีความหมายเช่นนั้นจริงๆ

ชาวฮินดูจึงเชื่อเรื่องกรรม ไม่ได้ต่างกับชาวพุทธและศาสนิกอื่นๆ ในอินเดีย