สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูดีที่กัมพูชา (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผ่านเคาน์เตอร์ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารผู้โดยสารขาเข้า สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ นอกจากเอกสารแนะนำแหล่งที่นักเดินทางควรมีโอกาสไปสัมผัสแล้ว แผ่นพับ BE A CHILDSAFE TRAVELER 7 TIPS for TRAVELERS in Cambodia วางเรียงอยู่ใกล้กัน ชวนให้หยิบอ่านด้วยความสนใจ

เนื้อหากล่าวถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก 7 ข้อ พร้อมคำเชิญชวน ChildSafe Movement Together Protecting Children

เจตนาเพื่อตอกย้ำให้ระมัดระวังเรื่องนี้ และเห็นความสำคัญ การเคารพกฎหมาย วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อของสังคมกัมพูชา

“คุณอาจไม่เข้าใจวัฒนธรรมและไม่รู้กฎหมาย หากพบเด็กต้องการความช่วยเหลือ อย่าพากลับโรงแรมที่พัก แจ้งศูนย์พิทักษ์คุ้มครองสิทธิเด็ก เซ็กซ์ทัวร์รวมถึงการกระทำต่อเด็กเป็นความผิดที่ร้ายแรง”

“เด็กควรอยู่ในที่ที่เขาควรอยู่และได้รับการดูแล ที่บ้าน ที่โรงเรียนปฏิบัติต่อเด็กอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ใช่ทำเหมือนอยู่ในสวนสัตว์”

ผมนึกชมทางการกัมพูชาที่รณรงค์เรื่องนี้เข้มข้น ขณะรถวิ่งออกสู่ถนนใหญ่ยังพบป้ายข้อความเดียวกันอีก พอๆ กับป้ายล่าสุด NO DRONE ZONE เขตปลอดอากาศยานไร้คนขับ ปรากฏอยู่หลายจุดในเขตเมืองหลวงชั้นใน

 

จากสนามบินใช้เวลาไม่นานถึงที่ทำการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา นายณาต บนเรือน รัฐมนตรีช่วยว่าการ และคณะรอต้อนรับพาไปยังห้องประชุม ก่อนนายฮ็องจวน ญารน รัฐมนตรีว่าการ เข้ามาจับมือทักทายทุกคน

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง สมาชิกพรรคประชาชนกัมพูชา วัย 56 เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2013 ก่อนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ ค.ศ.2013 ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ให้มาร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษากัมพูชา รวมทั้งต่อต้านการทุจริต

ผลสำรวจโพลออนไลน์เมื่อมีนาคม 2016 ได้รับการโหวตเป็นรัฐมนตรียอดนิยม 72% ปี 2018 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภา จากจังหวัดกัมปงจาม

ผ่านการศึกษาโรงเรียนนานาชาติ ปริญญาความสัมพันธ์ และกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกียพ โซเวียต ปริญาโทด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Lyon ปริญญาเอกด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย MGiMO และบริหารการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2018

จากนักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ ผันตัวมาเป็นนักการศึกษา เขาย้ำกับคณะผู้มาเยือน ถึงความสนใจและความสำคัญของการพัฒนาครู กระบวนการเรียนการสอนต้องทำให้เด็กได้ มีผลการเรียนดี ได้รับการคัดเลือกให้เข้าโรงเรียนสูงขึ้น

ครูก็เช่นกัน ควรได้รับการส่งเสริม พัฒนา ทั้งด้านภาษา การวิจัย การมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน

 

“กระทรวงศึกษาธิการฯ มีโครงการช่วยพัฒนาครูที่ส่งผลต่อห้องเรียน พัฒนาด้านภาษาเขมร มีแผนช่วยเด็กนักเรียน ครูที่ประสบความสำเร็จผ่านการคัดเลือก ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนแรกจากจังหวัดเสียมเรียบ เป็นต้นแบบครูในกัมพูชา คนสองจากจังหวัดกัมปงชนัง ภาษาอังกฤษดี คนที่สามจากกัมปงชนังเช่นกัน ครูเหล่านี้ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาครูของประเทศและครูในอาเซียน”

“การลงไปประเมินผลงานครูถึงโรงเรียนก็เพื่อเก็บวิธีการ หรือเทคนิคที่ดีในการสอนนักเรียน ดูว่าตรงกับข้อมูลที่ส่งให้มูลนิธิหรือไม่ ครูลอยได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จเดโชฮุน เซน ประจำปีการศึกษา 2017-2018”

“ครูที่ดี คือครูที่มีความสามารถสูงในการสอนให้นักเรียนเข้าใจง่าย เรียนรู้ได้เร็ว นักเรียนสอบผ่านหลายคน อัตราการออกกลางคันมีน้อย รู้จักช่วยแบ่งปันประสบการณ์ของตนให้กับครูคนอื่นๆ”

น้ำเสียงแสดงความเชื่อมั่น กระบวนการ กลั่นกรองและตัดสิน ครูที่ได้รับราวัล จากระดับโรงเรียน ระดับแขวง ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ถึงระดับประเทศ สุดท้ายรางวัลสมเด็จเดโชฮุน เซน

ครับ แนวคิด ประสบการณ์ การปฏิบัติตนของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ของกัมพูชาคนล่าสุดเป็นอย่างไร วันไปเยี่ยมโรงเรียนของครูทั้งสองคนที่จังหวัดกัมปงชนัง คงได้เห็นภาพจริงชัดเจน

 

รศ.ดร.คุณหญิงสมุณฑา หัวหน้าคณะฝ่ายไทย ตอบว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้รับการยอมรับ ประเด็นสำคัญคือกระบวนการคัดเลือกครูของแต่ละประเทศเป็นที่ยอมรับกัน ทำให้ได้ครูอีก 500 คนที่จะไปช่วยพัฒนาเพื่อนครูต่อไป และจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ตัวอย่าง Forum ทางวิชาการทุกปี ให้ครูกลับมาเล่า ได้รางวัลแล้วไปทำอะไร

การประชุมสามัญประจำปี 2561 ของคณะกรรมการมูลนิธิ มีองค์ประธานคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ครั้งที่ 3 ปี 2562 จำนวน 11 คนจากประเทศในอาเซียนและติมอร์ เลสเต พระราชทานรางวัล วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทราราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. ขอเชิญผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการฯ ไปร่วม ขออนุญาตเชิญ Mr. Virak Loy พร้อมคู่สมรสไปร่วมในพิธีด้วย

วันที่ 14-17 ตุลาคม จะมีการจัดประชุม PMCA Forum ครั้งที่ 2 เป็นกิจกรรมคู่ขนาน เชิญครูที่ได้รับพระราชทานรางวัล รุ่นที่ 2 Mrs. Dy Sophorn ไปนำเสนอผลงานและประสบการณ์การเรียนการสอนกับครูในอาเซียนและติมอร์ เลสเต

“กิจกรรมต่อยอดที่เรียกว่าบริการหลังการขายให้กับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศ เช่น จัด Mini PMCA Forum ณ สถานทูตไทยประจำอินโดนีเซีย มีองค์กรยูเนสโกมาร่วมด้วย เชิญครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาเป็นวิทยากรเสนอผลงาน”

จัดกิจกรรมร่วมให้ครูโรงเรียนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

 

ความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนของไทยในประเทศกัมพูชาอาจขอการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อจัด Mini Forum และการอบรมขยายผล ขอความร่วมมือภาคสื่อมวลชนในประเทศช่วยเผลแพร่ประชาสัมพันธ์รางวัลและครูผู้ได้รับรางวัลให้กว้างขวาง

“กิจกรรมเหล่านี้ก็เพื่อขยายเครือข่ายครู ให้เป็นผู้แทนครู ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ เทคนิคการสอน เผยแพร่ผลงานในเวทีประชุมครู” รองประธานมูลนิธิปิดท้าย

คุณพิชิต บุญสุด อัครราชทูตไทยซึ่งร่วมสนทนาอยู่ด้วย ให้ความเห็น “บริการหลังการขายมีความสำคัญ ครูในอาเซียนได้ทำงานด้วยกัน ทำให้เกิดกู๊ดซอฟต์แวร์ เกิดกู๊ดทีชเชอร์เพิ่มขึ้น”

ผมร่วมฟังการสนทนาอยู่ด้วย ทำให้นึกถึงโครงการบริการหลังการขายโครงการหนึ่ง ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตต เพิ่งเล่าให้ฟังก่อนขึ้นเครื่อง ชื่อว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู รายละเอียด กระบวนการ ตัวละครสำคัญๆ มาจากไหนบ้าง รอติดตาม