มองการชุมนุมฮ่องกงครั้งใหม่ กับ “วาสนา วงศ์สุรวัฒน์” เมื่อประชาชนลุกขึ้นท้าอำนาจจีน ก้าวต่อไปจบแบบไหน?

การประท้วงบนเกาะฮ่องกงครั้งล่าสุดที่ยังคงดำเนินอยู่และกินเวลาถึงตอนนี้ก็เข้าเดือนที่ 3 นับเป็นความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนบนเกาะที่ขึ้นชื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษจนผ่านการเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์ในการส่งมอบเกาะคืนให้กับจีนในปี 1997

ตลอด 20 กว่าปี นับตั้งแต่กลับคืนสู่จีนและดำรงภายใต้เงื่อนไข “1 ประเทศ 2 ระบบ” ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2047 จีนได้แสดงบทบาทต่อเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่ถูกระบุว่าเป็นความพยายามแทรกแซงอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด และสะท้อนออกมาผ่านการประท้วงของชาวฮ่องกง ตั้งแต่กรณีหลักสูตรการเรียนภาคบังคับที่มีความเป็นชาตินิยมจีนในปี 2555 การปฏิวัติร่มต่อต้านระบบเลือกตั้งทางอ้อมในปี 2557 จนมาถึงครั้งนี้ จากกรณีการผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฝ่ายบริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกง

ก่อเกิดการต่อต้านครั้งใหญ่จากประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเหมือนกับปี 2557 แต่ครั้งนี้ถูกยกระดับมากขึ้นทั้งในแง่ขนาดมวลชน ยุทธวิธี การสื่อสาร การตอบโต้จากรัฐ จนถึงท่าทีของรัฐบาลจีนที่ทำให้ตัดสินใจขยับทหารประชิดเกาะแห่งนี้ จนเกิดความวิตกว่าจะลงเอยคล้ายกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989

เหตุประท้วงล่าสุด สะท้อนอะไรถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฮ่องกง ส่งผลอะไรตามมาในอนาคตบ้าง

 

“กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน”
ชนวนเหตุปลุกม็อบรอบใหม่

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพย้อนสาเหตุอันนำไปสู่การประท้วงรอบนี้ว่า มาจากฝ่ายบริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงกำลังผ่านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งผู้ประท้วงมองว่าเป็นการละเมิดหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ซึ่งจะเป็นการก้าวก่ายระบบตุลาการของฮ่องกง

หลังเกิดการประท้วงและปราบปราม ฝ่ายบริหารเกาะฮ่องกงก็ยินยอมชะลอการผ่านร่างกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นการถอดถอนตามที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง ซึ่งมีสิทธิจะเข้าสภาอีกเมื่อไหร่ก็ได้

ประกอบกับผู้ประท้วงเห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วงเกินกว่าเหตุ เรียกผู้ประท้วงว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” ทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจจนมีการเรียกร้องให้นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง เปลี่ยนการนิยามเรียกผู้ประท้วง ส่วนผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งหมด จนดำเนินมาเรื่อยๆ

ในที่สุดก็นำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นมา การเลือกตั้งผู้บริหารโดยประชาชนฮ่องกง

 

ความเชื่อมโยง ค้านหลักสูตรรักชาติ ปี “55
ขบวนการร่ม ปี “57 สู่ คนเสื้อดำ ปี “62

ผศ.ดร.วาสนากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเหตุการณ์เริ่มต้นคนละจุดกัน ก่อนนำไปสู่ขบวนการร่มเหลือง เริ่มต้นจากปี 2555 รัฐบาลจีนพยายามบรรจุหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของฮ่องกง เพื่อให้นักเรียนระดับประถม-มัธยมรู้ถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน”

แต่นักเรียนฮ่องกงมองว่าเป็นหลักสูตรล้างสมอง เพราะเนื้อหาโปรรัฐบาลจีนมาก จึงออกมาประท้วงไม่ให้มีการบังคับ

“ในระยะแรกเป็นการชุมนุมในระดับเล็กมาก ต่อมาผู้ปกครองร่วมด้วย ทำให้การชุมนุมใหญ่ขึ้น จนรัฐบาลฮ่องกงยินยอมไม่บังคับ” ผศ.ดร.วาสนาระบุ

ผศ.ดร.วาสนากล่าวด้วยว่า เมื่อถามว่าต่อเนื่องกันไหม? ก็มีความต่อเนื่อง เพราะเรื่องการบังคับบรรจุหลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในระดับการศึกษา ซึ่งควรแยกกันก่อน จนถึงในปี 2047 ตามข้อตกลง และความต่อเนื่องอีกอย่างคือ แกนนำนักเรียนในตอนนั้นก็มีบทบาทในขบวนการร่มหรือแม้แต่ชุมนุมคนเสื้อดำในตอนนี้

อีกผลลัพธ์ต่อเนื่องที่ตามมาคือ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องตอนปฏิวัติร่ม ได้รับการตอบสนองตามที่ต้องการ ดังนั้น ถ้าจะเกิดการประท้วงลักษณะนี้ เรามีโอกาสได้อย่างต้องการ เพียงแค่ไม่ได้ต่อเนื่องในแง่ตัวขบวนการ

 

มองท่าที “ฝ่ายบริหารฮ่องกง-รัฐบาลจีน”
การเดิมพันที่ลำบาก?

ผศ.ดร.วาสนามองความเคลื่อนไหวของฝ่ายคณะบริหารฮ่องกงรวมถึงรัฐบาลจีนว่าเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก เพราะถ้าไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องก็จะมีการประท้วงทุกสัปดาห์ ไปอยู่ตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า รถไฟใต้ดิน จนถึงสนามบิน แล้วก็ตามไปปราบ ซึ่งไม่จบเสียทีและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

แต่ถ้าใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม คือฮ่องกงไม่ได้ถูกควบคุมอินเตอร์เน็ตหนักเท่าจีนแผ่นดินใหญ่ เราติดตามเหตุการณ์แบบเรียลไทม์ ผู้ประท้วงทุกคนมีสมาร์ตโฟน ถ่ายคลิปลงทวิตเตอร์ ภาพที่ออกมาสู่สายตาทั่วโลก สร้างความเสียหายได้เยอะ หากใช้ความรุนแรงจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม หากยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ก็จะเหมือนครั้งก่อน ซึ่งรัฐบาลจีนหรือฝ่ายบริหารฮ่องกงไม่ต้องการเช่นนั้น ว่า อยากได้อะไรก็ประท้วงเอา และอาจเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อพื้นที่อื่นอย่างไต้หวัน โดยเฉพาะฝ่ายเรียกร้องเอกราชมีพลังมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การเมืองไต้หวัน กลุ่มการเมืองหนุนจีนได้รับความนิยมมาก แต่พอฮ่องกงประท้วงก็ส่งผลต่อไต้หวัน (ล่าสุดมีกระแสบนมาเก๊า) แม้แต่เขตปกครองภายในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความอ่อนไหว อาจเรียกร้องสิทธิมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลจีนไม่อยากให้ฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่ว่า ถ้าออกมาประท้วงก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ ทำให้อยู่ในภาวะตัดสินใจที่ลำบาก

 

โอกาสใช้ทหารจีนสลายม็อบ
ฤๅซ้ำรอย “เทียนอันเหมิน 1989”?

ผศ.ดร.วาสนากล่าวว่า มาถึงตอนนี้ คนจำนวนมากไม่กล้าไปฮ่องกงแล้ว ลำพังการปราบปรามผู้ประท้วงโดยตำรวจปราบจลาจลก็สร้างความเสียหายอยู่แล้ว บอกไม่ได้ว่ารัฐบาลจีนจะตัดสินใจใช้กำลังหรือไม่ เพราะว่ารัฐบาลจีนไม่เคยปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าจะใช้กำลัง จึงมีความเป็นไปได้เสมอ แต่ถ้าหากใช้กองทัพจีนเข้าไปจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็น่าเป็นห่วงว่าฮ่องกงจะจบสิ้นในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจโลก

“มีหลายกระแสที่คนพูดถึงว่า จะเกิดเหมือนเทียนอันเหมินไหม เทียนอันเหมินกับฮ่องกงไม่เหมือนกัน เหตุนองเลือดเทียนอันเหมินปี 1989 เกิดกลางเมืองหลวงของจีน แต่เวลานั้นไม่ใช่ศูนย์กลางการเงินโลกเหมือนที่ฮ่องกงเป็นในทุกวันนี้ มีทุนต่างชาติมากและประชากรหนาแน่นกว่า ถ้าใช้ความรุนแรงระดับเดียวกัน จะเสียหายมากกว่า” ผศ.ดร.วาสนาระบุ

ผศ.ดร.วาสนากล่าวถึงคำถามที่ว่า ถ้าจีนจะใช้วิธีนั้น จีนต้องคิดแล้วว่า จะปล่อยให้ฮ่องกงล่มสลายไป กลายเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แม้ไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลจีนได้ แต่จากสิ่งที่ปรากฏในตอนนี้ ต่อให้จีนยังไม่เข้ามา ก็เสียหายมากแล้ว

 

คำพูด “วันนี้ฮ่องกง พรุ่งนี้เป็นไต้หวัน”
หรือ “ฮ่องกงแพ้ ประชาธิปไตยพ่ายแพ้”
มีเหตุผลหรือดูเกินจริง?

ผศ.ดร.วาสนามองว่า แง่ดีเกินไป ว่ากันจริงๆ ถึงตอนนี้ฮ่องกงก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งข้อเรียกร้องให้เป็นประชาธิปไตยก็มีไม่นานหลังประท้วงไปได้ระยะหนึ่ง จริงๆ คือขอให้เป็นเหมือนเดิม ก่อนที่สภาฮ่องกงจะผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ดังนั้น จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าฮ่องกงมีประชาธิปไตย เพราะฮ่องกงไม่มีประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ฮ่องกงอาจไม่ได้เป็นหน้าด่าน แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ถ้าฮ่องกงสำเร็จ อาจทำให้ที่อื่นลุกฮือขึ้นมาได้

 

ตอนจบของการประท้วงรอบนี้

ผศ.ดร.วาสนายอมรับว่าตอบยาก แต่ส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นคือ เราจะไม่เห็นกองกำลังต่างชาติหรือแม้แต่ยูเอ็นเข้าไปในฮ่องกง แต่ชาวฮ่องกงจะอยู่ต่อไปอย่างไรมากกว่า ฝ่ายบริหารฮ่องกงหรือรัฐบาลจีนจะเลือกจบความรุนแรงระดับไหน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะจบแบบประนีประนอม

ถ้าต่างฝ่ายยอมถอยคนละก้าว มีความเป็นไปได้อยู่ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะให้ตามข้อเรียกร้อง แต่อาจมีบางข้อที่สามารถทำได้ เพราะความรู้สึกไม่ดีระหว่างผู้ประท้วงกับผู้บริหารสูงสุดเกาะฮ่องกง คิดว่ามีทางบรรเทาความตึงเครียดได้ แต่ไม่ใช่ยอมจนรู้สึกเหมือนแพ้ ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลจีนด้วย

ไม่ว่าจบลงยังไง ฮ่องกงเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน แค่ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็มีคนบ่นแล้วว่าอุตส่าห์รักตำรวจฮ่องกงตามซีรี่ส์สมัยก่อน แล้วภาพลักษณ์นั้นหายไป

และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับฝ่ายบริหารจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป