เศรษฐกิจ /ลุ้นเซอร์ไพรส์รอบ 2 ลดดอกเบี้ย เอกชนเชียร์สนั่น…รอต่อมาตรการคลัง

เศรษฐกิจ

ลุ้นเซอร์ไพรส์รอบ 2 ลดดอกเบี้ย

เอกชนเชียร์สนั่น…รอต่อมาตรการคลัง

 

ถึงกับมีเสียงสะท้อน “เซอร์ไพรส์” บ้าง “เหนือความคาดหมาย” บ้าง

เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5:2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50%

เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับจากเดือนเมษายน 2558 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งที่ 5 ของปี 2562 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการที่ให้ปรับลดดอกเบี้ย เพราะพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจของไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.3% ผลต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงและการส่งออกทั้งปีนี้ อาจจะต่ำกว่า 0% เพราะผลกระทบสงครามการค้า

ทั้งนี้ เริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1.0-4.0% ได้

ขณะที่คณะกรรมการอีก 2 เสียง เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนักท่ามกลางความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (โพลิซี สเปซ) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

 

ภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

จึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ให้เกิดการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

และเพื่อไม่ให้สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจในอนาคต

โดยจะผสานเครื่องมือทั้งมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (ไมโครพรูเด็นเชียล) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (แม็กโครพรูเด็นเชียล)

เมื่อพิจารณาลงลึกถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เซียนปากกาหักกันถ้วนหน้า!!

 

ปัจจัยกดดันแรก คือ ปรับตามทิศทางนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ นำโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 8 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25%

ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตต่อเนื่อง

เพราะความไม่แน่นอนและความตึงเครียดจากสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

ทุกประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยใช้นโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยลง

แม้ว่าเฟดอาจจะยังไม่ส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกชัดเจน แต่การลดดอกเบี้ยลงของเฟดทำให้ตลาดการเงินมีความกังวลเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลาดการเงินผันผวน กดดันให้บางธนาคารกลางต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนป้องกันไม่ให้ค่าเงินผันผวนและอ่อนค่าลงไปเร็ว

สำหรับไทย หวังผลทันที การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งดูแลค่าเงินเป็นหลัก แต่หวังผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงแต่ก็ลดลงเล็กน้อย หลังจากบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และยังแข็งค่ากว่าทุกสกุลเงินในภูมิภาค

อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยลดลงด้วย ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐลงมาได้

ผลต่อมาคือ หวังผลต่อประชาชนทั่วไป เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลด ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องปรับลดตาม แต่จะมีผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยของประชาชนลดลง ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง และการผ่อนชำระหนี้ต่องวดลดลง

ผลดีทั้งผู้กู้รายย่อย หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากมีตัวช่วยเข้ามาจะลดภาระต่างๆ ลงได้

ซึ่งตอนนี้เริ่มได้ยินธนาคารขนาดใหญ่ อย่าง กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงไทย แม้แต่สถาบันการเงินรัฐอย่างออมสิน เปรยว่าคณะกรรมการธนาคารกำลังพิจารณา เหลือเพียงใครจะเป็นผู้นำ!!

 

“ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ให้ความเห็นว่า การพิจารณาดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละธนาคาร คาดว่ามีการพิจารณากันอยู่แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไร โดยต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัย เพราะก่อนหน้าการประชุมไม่คิดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมรอบนี้ แต่เมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายลดลงก็ต้องมาพิจารณา แม้ว่าช่วงปลายปี 2561 ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารต่างๆ ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ลดดอกเบี้ยตามต้องประเมินตัวเลขให้ชัดเจนและเหมาะสมลดหรือไม่ลดเพราะปัจจัยอะไรบ้าง ทั้งนี้ ต้องรอติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ฟาก “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์มีกระบวนการส่งผ่านไปตามปกติ ทั้งแสดงความมั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ต้องรอว่าธนาคารพาณิชย์ใดจะเป็นผู้นำในการปรับลดดอกเบี้ยซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและแต่ละธนาคารแตกต่างกันไปในการพิจารณาปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย หากมีผู้นำในตลาดธนาคารอื่นปรับลงตาม ทั้งมองการปรับลดดอกเบี้ยในฝั่งเงินกู้ หากปรับลด อาทิ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR จะมีผลต่อดอกเบี้ยผู้กู้ให้ลดลงทันที

ส่วนด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปน่าจะทรงตัว หากจะปรับลดน่าจะลดในส่วนของเงินฝากประจำก่อน ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลต่อดอกเบี้ยเงินฝากทันที เพราะเงินฝากประจำมักจะมีระยะเวลากำหนด เมื่อครบกำหนดอาจจะคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยอัตราใหม่ที่ต่ำลงมา

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบกับการออมมากนัก เพราะนอกจากการออมผ่านธนาคารพาณิชย์ ผู้ออมสามารถใช้ช่องทางอื่นๆ ในการออมเงินได้ผ่านกองทุนตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก

ที่ต้องจับตาจากนี้ ที่หลายฝ่ายยังลุ้นเซอร์ไพรส์รอบสอง กับการลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า หากนโยบายการคลังที่รัฐบาลเตรียมออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งภาคเอกชนมองว่าควรใส่เงินเข้าระบบกว่าแสนล้านบาท หวั่นว่าจะล่าช้าเหมือนงบประมาณรายจ่ายปี 2563

เมื่อนโยบายการเงินนำมาแล้ว รัฐบาลต้องเร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ออกมาให้ทัน เพราะช่วงเวลาแบบนี้การประสานนโยบายการเงินการคลังถือว่าสำคัญที่สุด เพราะนโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ

เพื่อผลลัพธ์สำคัญฟื้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3%