หุ่นยนต์อัจฉริยะ สนับสนุนช่วยเหลือ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020/รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

หุ่นยนต์อัจฉริยะ

สนับสนุนช่วยเหลือ

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020

ความสามารถของหุ่นยนต์พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานต่างๆ จำนวนมาก

การนำเอาหุ่นยนต์มาใช้งานด้านการแพทย์ การสำรวจงานวิจัย บทบาททางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการด้านแรงงานเป็นอย่างมาก

ด้านความมั่นคงสอดแนมผู้ก่อการร้าย ด้านความบันเทิงโต้ตอบกับมนุษย์ได้เสมือนเป็นเพื่อน อำนวยความสะดวกภายในบ้านทดแทนแรงงาน

หุ่นยนต์ยังถูกใช้ทำงานด้านบริการแทน “พนักงานบริการ” ในโรงแรม สนามบิน และซูเปอร์มาร์เก็ต ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2020 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันก็เช่นเดียวกันที่ไม่พลาดจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

มีทั้งยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์อำนวยความสะดวกต่างๆ มาใช้งานครั้งนี้

 

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ของประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับโตโยต้า ผู้สนับสนุนหลักกีฬาโอลิมปิก พัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้ำสมัย และหุ่นยนต์รุ่นใหม่ 4 แบบ ที่จะนำหุ่นยนต์ที่จะใช้ในงานโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นปีหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และแฟนๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก “โตเกียว 2020”

สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นมาเพื่อกีฬาโอลิมปิกใช้ชื่อว่า APM (ACCESSIBLE PEOPLE MOVER) มีทั้งหมด 200 คัน

ใช้ขนส่งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ชมการแข่งขันระยะสั้นตามสนามต่างๆ โดยบรรทุกผู้โดยสารได้คันละ 5 คน และวิ่งได้ไกล 100 ก.ม. จากการชาร์จเพียงครั้งเดียว ช่วยลดการปล่อยมลพิษได้สมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์เพื่อช่วยงานในการแข่งขันกรีฑาประเภทลาน โดยโตโยต้าได้ร่วมมือกับสหพันธ์กรีฑานานาชาติ พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับเก็บอุปกรณ์ในการแข่งขันประเภทลาน ทั้งขว้างค้อน ขว้างจักร และพุ่งแหลน โดยหุ่นยนต์จะสามารถวิ่งไปเก็บอุปกรณ์ต่างๆ หลังนักกีฬาขว้างออกไปกลับมาได้เอง

ช่วยทุ่นแรงเจ้าหน้าที่ในสนามแข่งขัน

 

หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นมาจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป โดยมีทั้งใช้ต้อนรับนักกีฬา-กองเชียร์ และสำหรับถ่ายทอดภาพและเสียง เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่ไม่ได้เข้ามาชมอยู่ในสนาม

งานนี้ได้นำหุ่นยนต์มาเป็นมาสคอตในงานโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นปีหน้า เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถขยับแขนขา จับมือได้ด้วยการควบคุมจากระยะไกล แม้จะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ถึงแม้พูดไม่ได้แต่ก็สื่อสารกับนักกีฬาและผู้เข้าชมการแข่งขัน ผ่านการส่งสายตาได้หลายรูปแบบ มีทั้งขยิบตา ทำตาเป็นประกาย หรือทำตารูปหัวใจ โดยจะใช้กล้องที่อยู่ภายในศีรษะในการรับข้อมูลสื่อสาร

โทโมฮิสะ โมอิระไดระ วิศวกรโตโยต้า ผู้ดูแลหุ่นยนต์สำหรับโอลิมปิก 2020 กล่าวว่า กล้องที่ศีรษะของหุ่นยนต์จะช่วยให้รับรู้ถึงสีหน้าของผู้คน และตอบสนองกลับได้โดยแสดงอารมณ์ผ่านทางดวงตา

“หากคนเดินจากไป มันจะทำหน้าเศร้า” โมอิระไดระกล่าว

โตโยต้าชี้ว่าหุ่นยนต์มาสคอตจะช่วยต้อนรับนักกีฬา ผู้เข้าชม และสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกให้กับเด็กๆ

อีกทั้งการให้หุ่นยนต์ถือคบเพลิงโอลิมปิกด้วยการใช้แม่เหล็ก

 

เจ้าหุ่นมาสคอตโอลิมปิก โตเกียว 2020 มีชื่อว่า ‘มิไรโทวะ’ เป็นหุ่นยนต์สีขาว-ฟ้า เป็นตัวแทนของเพศชาย คำว่า ‘มิไร’ แปลว่า อนาคต และ ‘โทวะ’ แปลว่า นิรันดร์ และมีมาสคอตของกีฬาพาราลิมปิก 2020 เป็นหุ่นยนต์สีชมพูเป็นตัวแทนของเพศหญิง ชื่อโซเมย์ตี้ (Someity) ซึ่งมาจากคำว่า โซเมย์โยชิโนะ เป็นชื่อของดอกซากุระชนิดหนึ่ง และพ้องเสียงกับภาษาอังกฤษว่าโซไมตี้ (So mighty) แปลว่าทรงพลังยิ่ง

หุ่นยนต์ HSR และ DSR หุ่นยนต์ที่จะนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางกายต้องนั่งรถเข็นหรือผู้พิการ สามารถจดจำแยกแยะสิ่งของได้เอง และหยิบจับสิ่งของไปให้ผู้ใช้งาน ให้ข้อมูลที่นั่งในสนามกับผู้เข้าชมเกมกีฬาการแข่งขัน ชื่อว่า HSR

และหุ่นยนต์ส่งของ เสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่มและสินค้าอื่นๆ ชื่อว่า DSR โดยผู้คนสามารถสั่งซื้อของผ่านแท็บเล็ตได้อย่างสะดวก

หุ่นยนต์ T-TR1 มีจอแสดงผลติดกล้องแสดงภาพคนขนาดเท่าตัวจริงและให้ผู้คนได้สนทนากับนักกีฬาโอลิมปิกและแฟนๆ และหุ่นยนต์ T-TR1จะเคลื่อนที่ด้วยล้อ ช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมชมการแข่งขันด้วยตัวเองแบบเรียลไทม์ ให้ความรู้สึกว่าได้คุยกับคนตรงหน้าจริงๆ

หุ่นยนต์ T-HR3 ซึ่งสามารถบังคับได้จากระยะไกลด้วยอินเตอร์เน็ต 5G มีลักษณะคล้ายมนุษย์ หุ่น T-HR3 สามารถสตรีมภาพและเสียงจากตำแหน่งระยะไกลมายังภายในงานโอลิมปิกได้ ทำหน้าที่เสมือนหุ่นยนต์ตัวแทนทางไกลสำหรับบรรดาแฟนกีฬานอกสถานที่และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้คนได้

หุ่นยนต์ FSR มีลักษณะเป็นกล่องเคลื่อนที่ด้วยล้อ ใช้ในภาคสนาม เพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่เกมการแข่งขันกีฬาประเภท ‘พุ่งแหลน’ โดยเฉพาะ เพื่อลดการใช้เจ้าหน้าที่มนุษย์และลดการสูญเสียเวลา

 

สําหรับญี่ปุ่นแล้วโอลิมปิกไม่ใช่แค่กีฬา แต่ยังเป็นสนามโอลิมปิกที่สำคัญยิ่งกับพัฒนานวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัย

รวมถึงการผลิตหุ่นยนต์ต่างๆ ออกมาใช้งานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

เพื่ออวดโฉมนวัตกรรม เพื่อทวงคืนความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอีกด้วย