เพ็ญสุภา สุขคตะ : ข้างหลังภาพ “เจ้าดารารัศมี” ในฉลองพระองค์ชุดชนเผ่า

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ประเด็นเรื่องพระฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) ของ “พระราชชายา เจ้าดารารัศมี” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ในชุดชนเผ่า “ปะหล่องต่องสู” นั้น ได้สร้างข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการล้านนามาอย่างยาวนาน

โดยมีความเห็นที่แตกต่างกันสองด้านคือ

ด้านแรก มองว่าพระองค์ทรงเป็น “ต้นแบบของนักสิทธิมนุษยชน” ผู้ไม่รังเกียจชนกลุ่มน้อย

อีกด้านหนึ่งนั้น กลับมองว่า พระองค์ทรงหยิบเอาประเพณีของคนพื้นเมืองไปเป็น “เครื่องแต่งกายแฟนซี” เพียงเพื่อรองรับงานเลี้ยงของชนชั้นสูงแบบสนุกๆ เท่านั้น

ในขณะที่ทุกวันนี้ เสียงเรียกร้องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ประกาศขอพื้นที่ให้พวกตนสามารถแต่งกายในชุดของแต่ละชนเผ่าเข้าสภาได้อย่างมี “ศักดิ์” และ “สิทธิ์” ทัดเทียมกับชุดสูทสากล ค่อยๆ ดังขึ้นเป็นระยะๆ

กอปรกับระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2562 นี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ก็เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดกิจกรรม “วันชนเผ่าไทย” ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมพลังกันสร้างจิตสำนึก และร่วมประกาศสัตยาบันถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม

ดังนั้น ภาพถ่ายของเจ้าดารารัศมีในฉลองพระองค์ชุดชนเผ่า จึงเป็นเรื่องที่สมควรหยิบยกมาวิพากษ์กันอีกครั้ง

 

ความเป็นมาแห่ง “ข้างหลังภาพ”

ภาพฉายาลักษณ์กลุ่มนี้หลายท่านคงคุ้นตา เนื่องจากพบค่อนข้างแพร่หลายในลักษณะภาพประกอบหนังสือที่เขียนถึงพระราชประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี หลายต่อหลายเล่ม

แต่น้อยเล่มนักที่จะใส่คำอธิบายระบุยืนยันความชัดเจนว่า เจ้าดารารัศมีทรงฉายภาพกลุ่มนี้ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม?

คงมีแต่เพียงหนังสือ “เจ้าดารารัศมี” ที่จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 เพียงเล่มเดียวเท่านั้น (ปกเขียว) ที่พอจะให้รายละเอียดถึงภาพกลุ่มนี้ไว้บ้าง

คำอธิบายปรากฏในบทความที่มีหัวเรื่องว่า “ผ้าและการแต่งกายอันเกี่ยวเนื่องในพระราชชายา เจ้าดารารัศมี” เรียบเรียงโดย “วสิน อุนจะนำ” ความว่า

“พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในการแต่งกายแฟนซีเป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องต่องสู ในงานราตรีสโมสรต้อนรับจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ณ คุ้มเจ้าอุปราช”

แม้ข้อความนี้จะไม่ระบุศักราช และไม่บอกว่าคุ้มเจ้าอุปราชอยู่ที่ไหน แต่ “อาจารย์วรชาติ มีชูบท” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์และล้านนา ช่วยกรุณาอธิบายเพิ่มเติมให้ดิฉันทราบว่า “กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” คือใคร มาทำอะไรที่เชียงใหม่ เมื่อไหร่ รวมทั้งใครคืออุปราชเจ้าของคุ้มที่จัดงานแฟนซี ดังนี้

“จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไป (พระยศและตำแหน่งสมัยนั้น) เสด็จตรวจราชการทหารมณฑลพายัพ พ.ศ.2459 อันที่จริงเวลานั้น เชียงใหม่ไม่มีเจ้าอุปราชแล้ว เนื่องจากเจ้าอุปราชตนสุดท้ายได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คือเจ้าแก้วนวรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2455 แล้ว แต่คนทั่วไปยังอาจเรียกคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐที่ริมน้ำปิงว่าคุ้มเจ้าอุปราชอยู่”

ได้ข้อสรุปว่า ภาพเหล่านี้ฉายเมื่อปี 2459 ที่คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ใกล้เจดีย์กิ่วขาว ปัจจุบันกลายเป็นสถานกงสุลอเมริกัน ในคราวที่กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จขึ้นมาตรวจราชการ อันเป็นห้วงระยะเวลาที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงตัดสินพระทัยที่จะประทับ ณ เมืองเชียงใหม่เป็นการถาวรแล้วนับแต่เสด็จนิวัติกลับเมืองเหนือเมื่อปี 2457

 

“ชุดแฟนซี” ในความเข้าใจ
ของชนชั้นสูงคืออะไร

เนื้อหาในหนังสือ “เจ้าดารารัศมี” หน้าเดียวกันนั้น “วสิน อุนจะนำ” ยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า

“การแต่งกายแฟนซีเป็นที่นิยมอย่างมากสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชชายา เจ้าดารารัศมีได้ทรงนำเอาธรรมเนียมนี้มาใช้ที่เชียงใหม่ด้วย แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพระองค์ได้จัดงานแต่งแฟนซีที่เชียงใหม่กี่ครั้ง…

การแต่งแฟนซีในครั้งนี้ พระองค์ทรงแต่งกายอย่างชาวเขา คือทรงฉลองพระองค์คอวีตัวยาวสีดำ ตกแต่งริมเสื้อด้วยพู่เล็กๆ ทรงผ้าซิ่นสีดำเข้าชุดกัน โพกพระเศียรด้วยผ้าสีดำตกแต่งพู่ยาวทรงปลอกแขนทั้งสองข้าง ประดับพระศอด้วยสร้อยทองคำแบบพม่า

เครื่องแต่งกายแฟนซีที่ทรงนี้ แต่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นชุดเผ่ากะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ แต่ในความเป็นจริงแล้วพระองค์ทรงชุดเผ่าปะหล่องต่องสู ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยหนาแน่นในรัฐฉานของประเทศพม่า

นอกจากนี้ เหล่าข้าราชบริพารของพระองค์ยังนิยมแต่งกายแฟนซีด้วยชุดชาวเขาเผ่าต่างๆ ในล้านนา แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันออกไปของชาวเขาแต่ละเผ่า นอกจากนี้เมื่อได้คิดค้นการฟ้อนระบำซอยังทรงได้นำเอารูปแบบเครื่องแต่งกายเผ่ากะเหรี่ยงมาเป็นชุดของช่างฟ้อนอีกด้วย”

นิยามของคำว่า “แต่งแฟนซี” “วรรณพร บุญญาสถิตย์” ได้เขียนไว้ในหนังสือ “จอมนางแห่งสยาม : ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก” ไว้ว่า

“การแต่งแฟนซี หรือแฟนซีเดรส เป็นวัฒนธรรมการรื่นเริงอย่างหนึ่งของตะวันตกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในราชสำนักไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการแต่งแฟนซีมาก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีการแต่งแฟนซีในวาระต่างๆ เช่น งานปีใหม่ งานสงกรานต์ งานเฉลิมพระชนมพรรษา และงานเลี้ยงฉลองต่างๆ แล้วแต่จะทรงกำหนด ในการแต่งแฟนซีนั้นมีทั้งแต่งตามความคิดของผู้แต่ง และแต่งตามที่ถูกกำหนดให้แต่งโดยวิธีการจับฉลาก”

วรรณพรตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกเครื่องแต่งกายเพื่อร่วมงานแฟนซีนั้น ต้องเป็นเครื่องแต่งกายที่ในเวลาปกติผู้แต่งไม่สามารถที่จะสวมใส่ได้ เพราะเป็นชุดหายาก ดูแปลกตา และอาจมีรางวัลสำหรับคนที่แต่งกายแปลกที่สุดอีกด้วย ซึ่งความนิยมในเรื่องแฟนซีนั้นมีสืบทอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลย ที่การขึ้นมาตรวจราชการของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชในปี 2459 เจ้านายฝ่ายเหนือ นำโดยพระราชชายา เจ้าดารารัศมี จึงจัดให้มีการแต่งกายแฟนซีต้อนรับ เพราะแนวคิดเช่นนี้มีมาก่อนแล้วในราชสำนักสยาม ย่อมไม่ใช่ความคุ้นชินของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่แม้มีหน้าที่ต้อนรับด้วย อย่างแน่นอน

ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า ชุดชนเผ่าปะหล่องต่องสูที่เจ้าดารารัศมีทรงสวมในงานแฟนซีคราวนั้น พระองค์ทรงเลือกสรรมาแค่เห็นว่าแปลกดี เป็นเครื่องมือสร้างความ “เซอร์ไพรส์” ให้แก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

หรือว่าลึกๆ แล้ว ทรงสวมเพราะมีความรักความผูกพันต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างแท้จริง

 

ท่ามกลางสถานการณ์
การเหยียดหยามชนกลุ่มน้อย

การจะไปตัดสินว่าพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ฉลองภูษาแฟนซีชุดชาวปะหล่องต่องสูด้วยเหตุผลใดได้ถูกต้องนั้น ควรหันไปดูบริบทด้านการเมืองการปกครองของล้านนาในห้วงเวลานั้นให้รอบๆ ด้าน

เราต้องยอมรับกันก่อนว่า กลุ่มชนชาติพันธุ์ในขณะนั้นถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง สังคมไทยไม่ได้อยู่ในบรรยากาศแบบเปิดพื้นที่ “พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม” เหมือนกับกระแสที่เพิ่งเกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

จากปัญหาสืบเนื่องของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” หรือ “ขบถ” ในเหตุการณ์สำคัญของล้านนา อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ อันได้แก่ กบฏพญาผาบ (พ.ศ.2432) กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445) และกบฏแห่งราชอาณาจักร ต๋นบุญครูบาเจ้าศรีวิชัย (พ.ศ.2463-2479) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เงาที่ซ้อนและซ่อนอยู่ภายใต้ความพยายามของชาวสยามที่ต้องการปราบปรามคนกลุ่มนี้โดยยัดเยียดข้อหา “กบฏ” ให้นั้น แท้จริงแล้วยังแฝงด้วยเรื่อง “อคติทางเชื้อชาติ” แทรกปนอยู่อย่างมากตลอดเวลาอีกด้วย

ตัวพญาผาบเองก็เป็นไทขึน ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นยางแดงผสมยอง ยิ่งกบฏเงี้ยวนั้นไม่ต้องพูดถึง ชื่อที่เรียกยิ่งระบุชัดถึงชาติพันธุ์ไทใหญ่ว่าเป็นพวกแข็งข้อ

นอกจากนี้ ยังพบบันทึกของสมเด็จพระน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 หลายพระองค์ รวมทั้งรายงานการตรวจราชการของขุนนางสยามที่มักกล่าวถึงคนพื้นเมืองในทำนองเดียวกันว่า

“ราษฎรแถบนั้นเป็นคนป่าคนเถื่อน เป็นชาติที่เลว ไม่เหมือนกับคนไทย”

“ลาว (หมายถึงคนไทโยน-ล้านนา) เป็นคนชาติต่ำ ฝึกหัดยาก ดื้อด้าน หยาบช้า”

“วิธีปราบพวกแม้ว พวกเย้า มีทางเดียวคือจับโยนออกไปให้พ้นหัวเมือง”

ฯลฯ เป็นต้น

ท่ามกลางการดูถูกดูแคลนเหยียบย่ำกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่ราบและดอยสูงที่อาศัยปะปนกันในดินแดนล้านนายุคนั้น น่าจะเป็นคำตอบในตัวเองที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า คงไม่สนุกนักที่จู่ๆ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี นึกอยากจะลุกขึ้นเอาชุดปะหล่องต่องสูมาฉลองพระองค์แบบสนุกๆ เพียงเพื่ออวดรสนิยมแฟนซีของพระองค์ต่อเชื้อพระวงศ์สยาม

ดีไม่ดีหากยังมีข้าราชบริพารที่ “หัวโบราณ” ร่วมขบวนตามเสด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชมาด้วย ย่อมไม่ปลื้มกับเครื่องแต่งกายแฟนซีในรูปแบบที่ช่วยเปิดเวทีให้ชนกลุ่มน้อยมีที่อยู่ที่ยืนเช่นนั้นด้วยอย่างแน่นอน

และอย่าลืมว่า ปกติชุดแฟนซีที่ราชสำนักสยามนิยมใส่เล่นกันสนุกๆ นั้น มักเป็นชุดที่อิงมาจากวรรณคดี ชาดก เช่น กรณีที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถูกจับฉลากให้แต่งแฟนซีเป็นชุดฤๅษี ก็ต้องยอมใส่วิกติดเคราปลอมนุ่งห่มหนังเสือ โดยพระองค์ตรัสว่า โชคดีนะที่ไม่จับฉลากได้นางเงือก

หรือกรณีเปิดพื้นที่ให้สตรีที่มีใจเป็นชายได้สวมเครื่องแบบข้ามเพศ เช่น เจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่งอยากใส่เครื่องแบบทหารมาก จำต้องรอจังหวะเวลาช่วงมีแฟนซีเท่านั้น จึงสามารถหยิบยืมชุดจอมพลของพระเชษฐามาใส่พร้อมเติมหนวดทำท่าตะเบ๊ะอย่างหน้าตาเฉยได้

 

ดังนั้น ความหมายของชุดแฟนซีเมื่อเจ้าดารารัศมีทรงตัดสินพระทัยใส่ที่เชียงใหม่ วัตถุประสงค์จึงน่าจะแตกต่างไปมากแล้วเมื่อเทียบกับครั้งยังเคยสนุกสนานที่วังหลวง

เพราะคราวนี้ไม่มีใครบังคับให้พระองค์ท่านต้องจับฉลาก หรือถูกกำหนดธีมใดๆ แต่ใส่เพราะอยากใส่ ใส่เพราะในชีวิตจริงไม่สามารถใส่ได้ ด้วยชนเผ่าต่างๆ ยังเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของชนชั้นสูงในสยามอยู่ ดังนั้น หากพระองค์ต้องการประกาศว่ามีจุดยืนเคียงข้างกับคนเหล่านั้น หนทางเดียวที่พอจะทำได้ คือต้องหาโอกาสใส่ในวันที่มีงานแฟนซีเช่นนั้นนั่นเอง

เพื่อสร้างบรรยากาศที่กลมกลืน ไม่มีใครมาจับผิดได้ว่าทำไมจึงไปให้ความสำคัญต่อชาวเขาชาวดอยชนเผ่ามากมายขนาดนั้น