สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Q Classroom ลดอำนาจ สู่วัฒนธรรมคุณภาพ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การประชุมวิชาการหัวข้อ “นวัตกรรมโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน” ดำเนินมาจนถึงห้วงสุดท้าย

พิธีกรเชิญ นพ สุภกร บัวสาย ผู้อำนวยการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นักคิด นักทำ คนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังขึ้นเวที ให้ทัศนะและบทสรุปว่าจะร่วมกันก้าวเดินต่อไปอย่างไร

“เราประชุมแลกเปลี่ยนกันสองวันเต็มๆ ได้อะไรมากมาย คำถามคือว่าแล้วอย่างไรต่อ”

“ในห้องนี้ ผมน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องน้อยกว่าทุกคน การรู้น้อยก็ดีนะครับ ทำให้เรามีมุมมองต่างไปได้บ้าง ทำหน้าที่อำนวยความสดวกให้ท่านอาจารย์ขับเคลื่อนงานได้ กสศ.เป็นองค์กรใหม่ พ.ร.บ.ออกมาได้ไม่ถึงปี ภารกิจพยายามหาทางลดช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมลงให้ได้ ให้โอกาสในการช่วยเหลือเด็กนอกระบบ อุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ เดือนพฤษภาคม จะเพิ่มเติมต่อไป ทุนการศึกษาเรียนต่อสายอาชีพ”

กสศ.ริเริ่มเป็นปีแรกเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเตรียมเด็กนักเรียนล่วงหน้า พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคให้นิยามคำว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่มิติงบประมาณ ทางเศษฐกิจเท่านั้น แต่หมายถึงช่องว่างที่ห่างกันระหว่างโรงเรียน ต้องทำให้แคบลง โรงเรียนในชนบทมีสัดส่วนเด็กที่มีฐานะลำบาก คุณภาพการศึกษาอาจสู้โรงเรียนในเมืองไม่ได้ ภารกิจหลักของ กสศ.ทำให้คุณภาพโรงเรียนใกล้เคียงกันมากขึ้นจนถึงมากที่สุด”

“เราพูดกันถึงบางประเทศ เด็กเรียนไม่กี่ชั่วโมงกลับบ้าน หลักการใหญ่ความเสมอภาคต้องมาก่อน จะได้ไม่ต้องไปพึ่งแต่โรงเรียนเด่นดังในเมืองเท่านั้น เรากำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมคุณภาพ จึงใช้ Q ตัวใหญ่ คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทุกมิติของการดำเนินงาน”

“เปรียบเทียบกับโทรศัพท์ที่มีการปรับเวอร์ชั่น แอพพลิเคชั่นเดินได้ขึ้นอยู่กับเครื่อง อยู่ที่พวกเรา sQip และเพาะพันธุ์ปัญญา ก็คือแอพพลิเคชั่น จะลงแอพลิเคชั่นทำอย่างไรการเรียนการสอนถึงจะเปลี่ยนเห็นหน้าเห็นหลัง”

“ขั้นตอน เป้าหมายต่อไปนอกจากวัฒนธรรมคุณภาพแล้ว ต้องมี Q Classroom เป็น Q ที่ 6 โรงเรียนที่สมัครใจ สมัครใจกับตัวเอง ไม่ใช่สมัครใจกับ กสศ. อีก 2 ปีเราจะโชว์ผลงานอะไรบ้าง ตั้งเป้าหมายส่วนรวมก่อน กสศ.จะรับไม้จาก สกว. และ สพฐ.”

 

ผอ.กสศ. จบคำกล่าว เสียงปรบมือดังทั่วห้อง ก่อน ดร.พีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก้าวขึ้นเวที ปิดการประชุม

“คุณภาพมี 2 นัยยะ หนึ่งการรับรู้ Perception มองแล้วดูดี มีคุณภาพ แต่อีกนัยยะหนึ่ง คือ Fact คนเราสวมใส่ชุดดี คนมองแล้วรู้สึกดีมีคุณภาพทำให้ Perception ดี ทำไมโรงเรียนเตรียมอุดมฯ Perception ดี เพราะ Fact ดี มาตั้งแต่อดีต ฉะนั้น Fact สำคัญ เมื่อมีคุณภาพจริง Perception จะตามมาเอง แต่ปัจจุบันเรามักเอานัยยะแบบ Perception มาใช้”

โครงการที่ดีขึ้นอยู่กับคุณภาพ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะมี Q ทุก Q คุณภาพ ถ้าโรงเรียนเราจัดการเรียนการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการประเทศ ตอบโจทย์ผู้ปกครอง ผู้เรียน การทำงานต่อไปนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพต้องคิดต่อเนื่อง ทำต่อเนื่อง

“ต่อไปนี้ สพฐ.จะออกหนังสือต้องงดสั่งการ ปรับวัฒนธรรม เปลี่ยนข้อความจากเดิม “ดำเนินการ เป็น ขอได้โปรด ขอความกรุณาตามที่ท่านจะเมตตา” ดีมั้ยครับ”

คำแซวของรองเลขาฯ สพฐ. เรียกรอยยิ้มผู้ฟัง ก่อนปิดท้าย “งบฯ 10 ล้านที่ สพฐ.อุดหนุนไม่เยอะ จึงต้องขอบคุณ กสศ. สกว. เมื่อทั้ง 3 ส่วนมาร่วมมือกัน คุณภาพการศึกษาต้องสำเร็จ”

ประธานกล่าวปิดสัมมนา สมาชิกต่างแยกย้ายกันกลับ พร้อมโจทย์การบ้านที่ถูกฝากตั้งแต่วันแรก จะทำให้สองโมเดลการศึกษานี้เข้าสู่ระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ได้อย่างไร

 

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมคิดถึงคำตอบโจทย์ข้างต้นตามไปด้วย โจทย์ข้อเดิม หาทางแก้กันมากี่สมัยแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ยังไม่มีกองทุนพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ความรุนแรงของปัญหายังน่าวิตก

ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาเดินทางไปยังโรงเรียนห่างไกล ตามท้องถิ่นชนบท ชายขอบบนภูเขาสูง จะพบครูดีๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนดีๆ พบกระบวนการ นวัตกรรมดีๆ ที่สร้างสรรค์ มุ่งผลที่ลูกศิษย์เป็นสำคัญ ทั้งด้านการเรียน ความประพฤติและการเอาชีวิตรอด ได้ยินนักการศึกษาหลายคนบอกว่ามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้ว

แต่แนวทาง แบบอย่างคนดีๆ โครงการดีๆ เหล่านี้ ไม่สามารถขยายผลออกไปได้มากเท่าที่ควร

ครับ คำตอบเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ ปัญหาอันเนื่องมาจากระบบ กับพฤติกรรมมของคน

ระบบมีทั้งระบบใหญ่และระบบย่อย ระบบใหญ่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ระบบราชการ รวมศูนย์ เน้นสั่งการ ขณะที่หน่วยย่อยลงมาทำงานแบบแยกส่วน แบบไซโล สำนักใครสำนักมัน ส่งผลทำให้ระบบย่อย คือ ระบบโรงเรียน ระบบการผลิต พัฒนา และใช้ครู ฯลฯ มีปัญหาติดขัด

หนทางแก้ไข จึงต้องดำเนินควบคู่กันไป ทั้งตัวระบบใหญ่ ระบบย่อยและตัวบุคคล

ระบบใหญ่ การเมือง ต้องมีความต่อเนื่องทางนโยบาย เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ใช้แนวทางประสานงานแนวระนาบมากกว่าอำนาจแนวดิ่ง การศึกษาเป็นของทุกคน อยากได้ต้องมีส่วนร่วมลงมือทำ

ข้อเสนอของ กปศ.เรื่องใดที่เห็นตรงกัน ผลักดันให้เป็นจริง เช่น ให้โรงเรียนเป็นอิสระมีความคล่องตัว ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้เรียนและครู โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างกับโรงเรียนทั่วไป

เร่งสร้างหลักสูตรทวิศึกษา มัธยมแบบประสม การศึกษาเพื่ออาชีพ เพื่อการมีงานทำ เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนมากขึ้น

ระบบย่อย ส่งเสริมให้นวัตกรรมการศึกษาดีๆ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้มีครูดีๆ ผู้อำนวยการดีๆ มีความสามารถ โรงเรียนมีทีมบริหารจัดการเป็นระบบ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าคนเป็นตัวจักรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเป็นครู ครับ เพราะอยู่กับนักเรียนมากที่สุด รองจากพ่อแม่ พี่น้อง

ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน ทำให้จิตวิญญาณความเป็นครู ทั้งครูใหม่ ครูเก่า กลับคืนมาและเข้มข้นขึ้น

ที่เชื่อเช่นนี้เพราะผมชอบคำกลอนสอนใจ ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ แต่ขอคารวะความคิดมา ณ ที่นี้

คนดี ระบบดี ย่อมดีแน่

คนดี ระบบแย่ พอแก้ไข

คนแย่ ระบบดี ไม่ช้าก็ไป

คนแย่ ระบบแย่ บรรลัยเอย