เพ็ญสุภา สุขคตะ : “แม่ครูโซเฟีย” ผู้วางรากฐานโรงเรียนสตรีแห่งแรก ให้แก่นครเชียงใหม่

เพ็ญสุภา สุขคตะ

โรงเรียนดาราวิทยาลัย ที่ปรากฏในฉากละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” ที่เพิ่งอวสานไปนั้น ตามท้องเรื่องระบุว่าเป็นโรงเรียนของบัวเกี๋ยง (ซ้ำบทยังเขียนให้เธอเป็นนักเรียนรุ่นแรก) กาสะลอง และซ้องปีบ เนื่องจากเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกของนครเชียงใหม่ สอดคล้องกับยุคสมัยเหตุการณ์ในละครที่อยู่ในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 5-6-7 ซึ่งยังไม่มีโรงเรียนสตรีแห่งอื่นๆ

ถือเป็นโรงเรียนสตรีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานยิ่งนัก ทั้งการย้ายทำเลสถานที่ตั้ง และการเปลี่ยนชื่อเรียก ก่อนจะมีชื่อปัจจุบันว่า “ดาราวิทยาลัย” เคยมีชื่อว่าโรงเรียน “พระราชชายา” และก่อนนั้นเคยเรียกกันว่าโรงเรียน “สตรีสันป่าข่อย”

หรือยิ่งสืบสาวราวเรื่องตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะพบว่าเคยชื่อ Chiang Mai Girl”s School อีกด้วย

โดยที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ เป็นคณะมิชชันนารีที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ “หมอบรัดเลย์” บิดาแห่งการพิมพ์และการแพทย์แผนใหม่ ผู้นำวัคซีนรักษาไข้ทรพิษฝีดาษมาเผยแพร่ให้แก่ชาวสยาม คนดังที่เรารู้จักกันดี

 

โซเฟีย รอย บรัดเลย์
มิชชันนารีรุ่นที่ 2

บุคคลผู้วางรากฐานโรงเรียนสตรีแห่งแรกให้แก่นครเชียงใหม่ มีนามว่า “มิสซิสแม็กกิลวารี” (Mrs. McGilvary) อันเป็นการเรียกตามนามสกุลสามี ผู้มีชื่อว่า ศาสนาจารย์ ดร.แดเนียล แม็กกิลวาลี Rev. Dr. Daniel McGilvary

นามเดิมของเธอคือ “โซเฟีย รอย บรัดเลย์” Sophia Royee Bradley (สำเนียงอเมริกันจะออกเสียงว่า “แบรดลีย์” แต่ในที่นี้ขออนุโลมใช้ “บรัดเลย์” ตามความคุ้นชินของคนไทย)

โซเฟียเป็นธิดาคนที่สองของศาสนาจารย์ ดร.แดน บีช บรัดเลย์ (Rev. Dr. Dan Beach Bradley) กับภริยาคนแรก คือคุณแม่เอมิลี รอย เพ็ททิต สองมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนจากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในแผ่นดินสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2378 และได้รับความไว้วางใจอย่างสูงในสมัยรัชกาลที่ 4

โซเฟียเกิดที่ฝั่งธนบุรีเมื่อ พ.ศ.2380 ปีนั้นเองชื่อเสียงของผู้เป็นบิดาได้รับการกล่าวขานขจรขจาย จากกรณีที่หมอบรัดเลย์ได้ผ่าตัดแขนของพระภิกษุรูปหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุจนแขนขาด ในขณะกำลังกรอกดินดำใส่กระบอกพลุเพื่อเตรียมจุดในงานฉลองของวัดประยุรวงศาวาส

เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นที่โจษจันทำให้ชาวบ้านร้านตลาดแห่มาดูหน้าหมอบรัดเลย์ด้วยความอัศจรรย์ใจ และได้พบว่าเขาให้กำเนิดทาริกาตัวน้อยลำดับที่สองซึ่งเพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน

บ้านที่หมอบรัดเลย์กับครอบครัวอาศัยอยู่นั้น เป็นบ้านเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค หรือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ใกล้วัดประยุรวงศาวาส หรือนิยมเรียกกันว่าย่าน “กุฎีจีน” ท่ามกลางชุมชนตะวันตก (โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสมีจำนวนมากที่สุด)

ทำให้โซเฟียพูดได้หลายภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส และไทย ซึ่งถือเป็นข้อดีในเวลาต่อมาที่เธอสามารถช่วยเป็นแขนขาให้สามี ในการสื่อสารภาษากับคนไทยพื้นถิ่น

หลังจากนั้นไม่นานเลย เอมิลี มารดาของเธอก็เสียชีวิตลงในขณะที่โซเฟียมีอายุเพียง 10 ขวบ ยังความโศกเศร้ามาสู่หมอบรัดเลย์ยิ่งนัก ถึงกับไม่อาจทนอยู่เมืองไทยต่อไปได้อีก เขาตัดสินใจหอบลูกทั้ง 5 กลับไปใช้ชีวิตที่อเมริกาเป็นเวลา 3-4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2390-2393 ทำให้โซเฟียได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของโลกตะวันตกบ้าง

หมอบรัดเลย์แต่งงานอีกครั้งกับสตรีชื่อซาราห์ เขาพาลูกติดจากเอมิลีพร้อมด้วยภรรยาใหม่กลับมาเมืองไทยอีกรอบ ซึ่งต่อมาซาราห์ให้กำเนิดลูกอีก 5 คน

 

เปิดสถานีใหม่ที่เมืองเหนือ

ปี2403 โซเฟียมีอายุได้ 23 ปี เธอสมรสกับหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันจากรัฐนิวเจอร์ซีย์นาม ดร.แดเนียล แม็กกิลวารี ทั้งสองมีความฝันร่วมอุดมการณ์เดียวกันที่จะขยายคริสตจักรไปยังหัวเมืองรอบนอกในเขตภูมิภาคต่างๆ เริ่มจากเมืองเพชรบุรี

จากนั้นจึงตกลงปลงใจที่จะลงหลักปักฐานที่นครเชียงใหม่ในปี 2410 การเดินทางจากเจ้าพระยาขึ้นเหนือโดยทางเรือใช้เวลา 4 สัปดาห์ ต้องเปลี่ยนเรือที่เมืองระแหง (ตาก) เหตุที่น้ำแม่ปิงช่วงอำเภอสามเงานั้นเต็มไปด้วยเกาะแก่งอันเชี่ยวกรากมากกว่า 32 แห่ง

แรงจูงใจที่ทำให้สองสามีภรรยาแม็กกิลวารีเลือกที่จะมาเชียงใหม่ เนื่องมาจากพวกเขาได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 คือเจ้าหลวงกาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้ามหาชีวิตอ้าว) ในคราวที่เจ้ามหาชีวิตอ้าวเสด็จลงมาเข้าเฝ้าฯ ถวายเครื่องบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงสยามที่กรุงเทพฯ ทุกๆ 3 ปี เจ้าเชียงใหม่ได้ผูกกระบวนเรือไว้ที่ท่าน้ำแถววัดแจ้ง ไม่ไกลจากย่านพักอาศัยของมิชชันนารีเท่าใดนัก

ดร.แดเนียล แม็กกิลวารี ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องเมืองเชียงใหม่กับเจ้าหลวงอยู่เนืองๆ ในที่สุดจึงขออนุญาตเจ้าหลวงว่าเขาและภริยาประสงค์จะนำวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกไปรับใช้ประชาชนในด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและให้การศึกษาแก่ผู้คนในเมืองเชียงใหม่

เจ้ามหาชีวิตอ้าวมิได้ขัดข้องแต่ประการใด พร้อมกับยังยกที่ดินริมน้ำแม่ปิงฝั่งตะวันออกให้สร้างโรง (สถานี) มิชชันนารีได้ (ปัจจุบันคือคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ ใกล้สะพานนวรัฐ)

ถือเป็นการเปิดไฟเขียวให้คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ขยายสถานีแห่งใหม่เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนาในเมืองเหนืออย่างเป็นทางการ

แม้ว่าในกาลต่อมา เจ้ามหาชีวิตอ้าวองค์เดียวกันนี้เอง กลับมีคำสั่งให้สังหารชาวล้านนาสองคน (หนานชัย และน้อยสุริยะ) ที่ “รับเชื่อ” หรือเข้ารีตเป็นคริสเตียนก็ตาม

 

แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเยาว์
หรือเดินตามรอย “กุลสตรีวังหลัง”

ปีพ.ศ.2418 “แม่ครูโซเฟีย” (แม่ครูเป็นคำในภาษาถิ่นล้านนา ใช้เรียกสตรีที่มีภูมิรู้ด้านต่างๆ) ในวัย 48 ปีได้ตัดสินใจเปิดเรือนมิชชันนารี ริมน้ำแม่ปิง ซึ่งเป็นทั้งสำนักงาน และเป็นทั้งบ้านพักอาศัยของนางกับครอบครัว ปรับให้เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง

เน้นการเรียนการสอนด้านภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน งานเย็บปักถักร้อย การบ้านการเรือน โดยสอดแทรกเรื่องราวของคัมภีร์ไบเบิลด้วย

คำถามที่ตามมาก็คือ แม่ครูโซเฟียได้รับแนวคิดเรื่องการเปิดโรงเรียนหญิงล้วนนี้มาจากไหน

ในเมื่อก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียวคือ พ.ศ.2417 ทางฝั่งธนบุรีแถววังหลัง ได้มีคณะมิชชันนารีนำโดยแหม่มแฮเรียต เอ็ม เฮาส์ (Harriet M. House) ภริยาของนายแพทย์ซามูเอล เฮาส์ (คนไทยเรียก “หมอเหา”) ก็เพิ่งจะทำการเปิดโรงเรียน “กุลสตรีวังหลัง” ขึ้นหมาดๆ ซึ่งมีทั้งนักเรียนกินนอนประจำ 6 คนและนักเรียนไป-กลับอีกจำนวนหนึ่ง

ต่อมาปี 2464 โรงเรียนกุลสตรีวังหลังได้พัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ในยุคของแหม่มโคล มีการย้ายที่ตั้งจากวังหลังไปยังทุ่งบางกะปิ

ข่าวการเปิดโรงเรียนกุลสตรีวังหลังของแหม่มแฮเรียตจะเป็นที่รับรู้และกระตุ้นแรงปรารถนาให้แก่แม่ครูโซเฟียด้วยหรือไม่ ไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

แต่เชื่อว่าแหม่มทั้งสองน่าจะมีการติดต่อส่งข่าวสารถึงกันและกัน เนื่องจากทั้งสองอยู่ในคณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนเดียวกัน

แต่ที่แน่ๆ เมื่อเรามองย้อนหลังกลับไปที่บ้านเช่าของหมอบรัดเลย์ย่านกุฎีจีน ในช่วงที่แม่ครูโซเฟียมีอายุเพียง 2-3 ขวบ มารดาของเธอ เอมิลีก็เคยเปิดโรงเรียนรับเลี้ยงเด็กเล็กเพศหญิงที่ใต้ถุนเรือนมาก่อนแล้วในทำนองเดียวกัน

ด้วยมองว่าเด็กผู้ชายนั้นยังมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนคือตามวัดต่างๆ ในขณะที่เด็กผู้หญิงกลับอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตแบบช้างเท้าหลังให้ฝ่ายชายเป็นผู้นำ

แหม่มเอมิลีจึงดำริจัดตั้งโรงเรียนเด็กเล็กสำหรับผู้หญิงขึ้นแบบง่ายๆ ภายในบ้านเธอเอง มีการสอนขับร้อง ออกกำลังกาย เย็บปักถักร้อย ทำอาหาร และสอนภาษาอังกฤษ

โชคร้ายที่แหม่มเอมิลีอายุสั้น นางเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 43 ปี โรงเรียนที่นางวางรากฐานในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับกุลสตรีวังหลัง จึงสะดุดลงและขาดช่วงขาดตอน ไม่ได้รับการต่อยอดให้ก้าวไกลในลักษณะโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยแต่อย่างใด เนื่องจากช่วงนั้นลูกๆ ของเธอยังเด็กมากเกินกว่าจะสานต่อภารกิจ

ไม่เป็นไร! เอมิลี… ลูกสาวของคุณ แม่ครูโซเฟียได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ได้จดจำในสิ่งที่คุณกระทำ จึงได้สืบสานเจตนารมณ์นั้นต่อแล้ว ณ โรงเรียน Chiang Mai Girl”s School

หรือที่ชาวบ้านเรียกตามชื่อย่านว่า โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย จนค่อยๆ พัฒนาและย้ายสถานที่มาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงโด่งดังจวบปัจจุบัน