แห่ใช้โมบายแบงกิ้งฉุดยอดถอนเงินสดจากตู้วูบ | ออมสินคาดปีหน้าจีดีพีโตแค่ 3.5% | ห่วง “แล้ง” รุนแรงกระทบ ศก. 1.5 หมื่นล้าน

แฟ้มข่าว

ออมสินคาดปีหน้าจีดีพีโตแค่ 3.5%

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าและบริการ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ทั้งนี้ สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ มาตรการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ ช่วยประคองกำลังซื้อของภาคครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง เป็นผลดีต่อต้นทุนทางธุรกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ

หวั่นราคาที่ดินใหม่กระทบผู้บริโภค

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมธนารักษ์ประกาศราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2566 ซึ่งภาพรวมราคาที่ดินเฉลี่ยรอบใหม่ทั้งประเทศปรับขึ้นราว 11% นั้น ค่อนข้างกระทบต่อราคาซื้อขายจริงของที่ดินในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาการปรับขึ้นราคาที่ดินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ กทม.พบว่าบางทำเลราคาปรับสูงกว่า 10% ต่อปี เช่น ถนนสีลม ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 หรือแม้กระทั่งถนนวิทยุ เนื่องจากทำเลดังกล่าว ถือว่าเป็นเขตพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจในกลางเมือง หรือ CBD ซึ่งเป็นทำเลที่ผู้ประกอบการมีความต้องการที่ดินเป็นอย่างมาก ก็ย่อมส่งผลให้ราคาที่ดินในทำเลย่านดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น สำหรับทำเลเด่นๆ ที่ราคาประเมินปรับเพิ่มขึ้นในรอบล่าสุด อาจจะยิ่งเป็นภาระของผู้ประกอบการหาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการได้ยากขึ้น และต้องแบกรับต้นทุนที่ดินในการนำมาพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น เมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นย่อมสะท้อนกลับสู่ราคาขายของโครงการที่จำเป็นต้นปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วผลเสียย่อมตกแก่ผู้บริโภคอย่างแน่นอน

จ่อผุดเกณฑ์ช่วยลูกค้าเจอแล้ง

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ เชื่อว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งเบร็กซิท สงครามการค้าสหรัฐและจีน การส่งออกที่ชะลอตัวลงและติดลบ ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลใหม่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ด้านนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเป็นด้านใดก่อนนั้น ผู้ทำนโยบายน่าจะทราบอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเหมาะสมสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาภัยแล้งยังต้องติดตามและประเมินผลกระทบว่ากระทบมากน้อยเพียงใด กระทบพืชผลอย่างไร หากรุนแรงจำเป็นต้องออกมาตรการดูแลลูกค้าทางธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมที่จะดำเนินการเหมือนที่ผ่านๆ มา เช่น ช่วงที่เกิดน้ำท่วม

ห่วง “แล้ง” รุนแรงกระทบ ศก. 1.5 หมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่ชัดเจน แต่จากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะไม่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยความเสียหายอาจอยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาท แต่หากรุนแรงมากขึ้นถึง 10,000 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีปรับลดลง 0.05%

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจ้งถึงสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) ที่เกิดจากอิทธิพลเอลนีโญกำลังอ่อนทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้ำน้อย ส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิตพืชเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีที่ปลูกแล้ว ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยับขึ้น 6.4% จากปีที่ผ่านมา แต่ยังคงสร้างแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าผลกระทบจากภัยแล้งนอกฤดูกาลครั้งนี้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี

แห่ใช้โมบายแบงกิ้งฉุดยอดถอนเงินสดจากตู้วูบ

นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายเงินสดหรือการทำธุรกรรมด้วยเงินสดของประชาชนในประเทศมีแนวโน้มลดลงมาก โดยการถอนเงินสดออกจากสาขาธนาคารทุกแห่งมีปริมาณลดลงถึง 15-20% และการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งตัวเลขในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงแล้วถึง 2-3% เชื่อว่าสิ้นปีนี้ปริมาณถอนเงินสดจากสาขาและตู้เอทีเอ็มจะมีลดลงอีกมาก อาจติดลบถึง 10% เนื่องจากลูกค้าของแต่ละธนาคารใช้โมบายแบงกิ้งทำธุรกรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ จากตัวเลขในปี 2561 การโอนเงินและการจ่ายเงินบนโมบายแบงกิ้งเติบโตถึง 150% ขณะที่ธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์และการถอนเงินสดจากสาขากับตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยก็ได้ลดลงเช่นเดียวกับตลาด