“เกรธ่า” เปิดใจ “รณรงค์แก้โลกร้อน” ควรทำมากกว่านี้ แนะผู้นำโลกต้องพิสูจน์ให้เห็น หากรับฟังปัญหาจริง

วันที่ 7 สิงหาคม 2562 เกรธ่า ทุนเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ได้แสดงความเห็นระหว่างร่วมงานเสวนา “รอยยิ้มเพื่ออนาคต – การประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ” ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่กว่า 400 ชีวิตจาก 37 ประเทศในยุโรปว่า ผู้นำโลกต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาได้รับฟังสิ่งที่นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่เรียกร้องจริง หลังจากเคลื่อนไหวนับปี ก็ยังไม่ได้นำไปสู่ความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแม้แต่น้อย

นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมสาววัย 16 ปี กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายสิ่งได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่แน่นอนคือ การปล่อยก๊าซระดับโลกไม่ได้ลดลงเลย ดังนั้นเราคงต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่ และแน่นอนว่าเราต้องทำอะไรมากกว่านี้ เราเพียงแค่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนเท่านั้น

“ถึงอย่างนั้น การเคลื่อนไหวยังคงต้องทำต่อเพื่อส่งสัญญาณเตือน รวมถึงประเทศในเอเชียที่นักเรียนยังคงขับเคลื่อนในจำนวนน้อยอยู่” เกรธ่า กล่าว

เกรธ่ายังกล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำด้านปัญหาสภาพอากาศที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ว่า คิดว่าเป็นโอกาสอันดีของผู้นำระดับโลกที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจรับฟังเราและข้อมูลวิทยาศาตร์จริง ตอนนี้พวกเขาเพียงแค่ต้องพิสูจน์ให้เราเห็น

ด้านฌาค ดูโบเชต์ นักเคมีรางวัลโนเบลปี 2017 ชาวสวิสกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเป็นเรื่องจำเป็น และเรารู้แน่ชัดแล้วว่าเราต้องเร่งจัดการก๊าซคาร์บอนโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ เอิร์ส วอน ไวซ์แซคเกอร์ อดีตนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันกล่าวกับสื่อว่า หากเราจดจ่อแต่การลงมือในยุโรป เรามีสิทธิ์แพ้สงครามได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ 90% ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างใหม่และวางแผนก่อสร้าง ตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เว้นแต่เราโน้มน้าวพวกเขาว่าเป็นสิ่งคุ้มค่าและดีได้ หากหยุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและสร้างรายได้จากพลังงานสะอาดและพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีศักยภาพมากที่สุด

สำหรับระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เพิ่มขึ้นถึงขีดสุดเมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่มีคำเตือนจากเวทีระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเมื่อเดือนตุลาคมปที่แล้วว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซให้มากที่สุดภายใน 12 ปีข้างหน้าเพื่อทำให้สภาพอากาศกลับมาเสถียร

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรป ปรับใช้บรรลุเป้าหมายสภาพอากาศตามข้อตกลงปารีส นั้นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 80% ภายในปี 2030 และเป้าหมายสูงสุดในระดับเป็นศูนย์ ภายในปี 2035 พร้อมกับแนะว่าสหภาพยุโรปต้องไม่ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศใดที่ไม่มีการบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน