สำรวจไทม์ไลน์การเมือง และ พื้นที่ “เพลงเพื่อชีวิต” “พลิกเปลี่ยน” ไม่ยั้งมือ จาก 2516-2562

สำรวจเวที “เพื่อชีวิต” “พลิกเปลี่ยน” ไม่ยั้งมือ จาก 2516-2562

ปีนี้ 2562 เสียงเอ่ยอ้างถึง “เพลงเพื่อชีวิต” แผ่วเบาลงไปอีกหลายดีกรี

ที่ผ่านมา คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” มักจะไปผูกติดกับการเมืองยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และกลายเป็นธุรกิจเพลงที่เฟื่องฟูในสังคมไทย ในยุคคนป่าคืนเมือง เมื่อทศวรรษ 2520-2530

ในแง่ของวงดนตรี คำว่าเพื่อชีวิต จะผูกติดกับชื่อของวงดนตรีอย่างคาราวาน และกรรมาชน ที่ผ่านการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ส่วนดนตรีเพื่อชีวิตในเมือง จะผูกติดกับชื่อของคาราบาว ปู พงษ์สิทธิ์ และวงดนตรีที่งอกเงยจากบรรดาศิลปินที่เคยเข้าป่า และนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในแนวทางเพลงของกลุ่มนี้

จากปี 2530 ที่การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ปิดฉากไป บรรดาสหายทยอยเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง ศิลปินเพื่อชีวิตเข้าสังกัดค่ายเพลง ทำเพลงออกมาวางแผงขาย

เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเพลงเพื่อชีวิต

เพลงเพื่อชีวิตหลังปี 2530 เป็นยุคของการเดินสายแสดงคอนเสิร์ตใหญ่และเล็ก บ้างเข้าประจำการในสถานบันเทิงที่เรียกว่า “ผับเพื่อชีวิต” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ทำให้ดนตรีเพื่อชีวิตในแนวทางเดิมกลับมามีบทบาทในช่วงสั้นๆ เมื่อจบเหตุการณ์ก็ถอยกลับไปประจำการที่เดิม

ก่อนที่มรสุมใหญ่จะเข้ามากระทบสถานะของเพลงเพื่อชีวิตอย่างรุนแรง

รัฐบาลพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในปี 2544 เกิดข้อขัดแย้งทางการเมือง เกิดการชุมนุมขับไล่โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นำไปสู่รัฐประหารโค่นล้มนายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในปี 2549

เกิดการเผชิญหน้าของ 2 แนวคิดที่ทำให้เกิดการ “เลือกข้าง” ของบรรดาศิลปินเพื่อชีวิต

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กำเนิดขึ้น เพื่อต่อต้านรัฐประหาร กลายเป็นฝั่งตรงข้ามของพันธมิตรฯ

การเลือกตั้ง 2550 พรรคไทยรักไทยที่กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล พันธมิตรฯ กลับมาชุมนุมขับไล่อีกครั้ง

พรรคพลังประชาชนถูกยุบอีกครั้ง กลายเป็นพรรคเพื่อไทย

ระหว่างนั้น ส.ส.ส่วนหนึ่งแยกจากพรรคเพื่อไทยไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เกิดการพลิกขั้ว ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารในปี 2551

นปช.ออกมาขับไล่รัฐบาลที่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จัดชุมนุมใหญ่ในปี 2552 และ 2553 ลงเอยด้วยการสลายม็อบ 99 ศพและบาดเจ็บกว่า 2 พันคน

เป็นแรงสะเทือนใจที่ท้าทายบรรดาศิลปินว่าจะสะท้อนภาพดังกล่าวออกมาในแบบไหน

เดือนกรกฎาคม 2554 รัฐบาลเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามชุมนุมขับไล่เกิดขึ้นหลายครั้ง

รัฐบาลเพื่อไทยเดินตกท่อ ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

กลุ่ม กปปส. ประกอบด้วยพรรคการเมือง และกลุ่มจากระบบราชการหนุนหลัง เปิดเกมทันที

ชุมนุมขับไล่รัฐบาล ชัตดาวน์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ยืดเยื้อจนเข้าปีใหม่ 2557 ก่อนจะเกิดรัฐประหารพฤษภาคม 2557

เป็นรัฐประหารที่ท้าทายบรรดาศิลปินและปัญญาชนว่า ควรจะมีท่าทีแบบใด สนับสนุน ผสมโรง หรืออวยเต็มที่

มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร รอบนี้ คณะทหารใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การชุมนุมขนาดใหญ่จึงไม่เกิดขึ้น

แต่เกิดการคัดค้านแบบกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย จัดกิจกรรมไม่ใหญ่นัก

นักสู้รุ่นใหม่หลายคนแจ้งเกิด เกิดศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำเพลงสะท้อนสภาพไร้สิทธิเสรีภาพ ต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย

ด้วยเนื้อหาสาระของเพลงที่เปลี่ยนไป และแนวทางเพลงที่ทันสมัย สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่

กิจกรรมทางการเมืองระยะหลังๆ จึงเป็นเวทีของศิลปินรุ่นใหม่ อาทิ Rap Against Dictatorship (RAD) กลุ่มฮิปฮอปเจ้าของเพลง “ประเทศกูมี” ที่ติดลมบนขนาดไปคว้ารางวัลใหญ่ในต่างประเทศ

ยังมีกลุ่มดนตรีพังก์อย่าง Drunk all day วง The ShockShuck และนักดนตรีเฉพาะกิจอีกมากหน้าหลายตา

คำว่าเพลงเพื่อชีวิตในความหมายของเพลงประท้วงพลิกเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตามสภาพของการเมืองและสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปในแบบ “ดิสรัปต์”