ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ประยุทธ์คุมทีมเศรษฐกิจ : เส้นทางสู่ความเหลื่อมล้ำและความล้มเหลว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

รู้ทันสมคิด : ระบบเศรษฐกิจสู่ความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรม

คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจน้อยอย่างที่ทุกคนรู้กัน

และในคำแถลงนโยบายเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป คุณประยุทธ์ได้แสดงให้เห็นว่ามีความรู้เศรษฐกิจต่ำจนน่าตระหนกขึ้นไปอีก

ไม่ว่าจะโดยเทียบกับคนทั่วไปที่อ่านออกเขียนได้ หรือเทียบกับอดีตนายกฯ คนอื่นก็ตาม

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหนึ่งในเรื่องที่สังคมเห็นว่าคุณประยุทธ์ไม่รู้จนน่าอับอาย

เพราะในขณะที่เด็กเศรษฐศาสตร์ปีสองรู้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคือแหล่งรายได้หลักของประเทศ

คุณประยุทธ์กลับพูดกลางสภาว่ารายได้ของรัฐไม่ได้มาจากคนจนเลย

ถึงแม้ท่านจะยอมรับว่าคนจนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม

ด้วยความรู้เรื่องเศรษฐกิจในระดับต่ำของคุณประยุทธ์เอง การจำกัดไม่ให้ท่านยุ่งเรื่องเศรษฐกิจคือหนทางที่ดีกับประเทศที่สุด

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจอย่างคุณสมคิดจึงควรเป็นคนที่ประชาชนฝากความหวังได้กว่าคุณประยุทธ์

แต่สิ่งที่คุณสมคิดพูดในวันแถลงนโยบายก็ไม่ให้ความหวังนั้นเลย

ถ้าคุณประยุทธ์คือตัวอย่างของคนไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจจนควรถูกกระชับพื้นที่บริหารราชการแผ่นดิน คุณสมคิดก็คือตัวอย่างของคนที่มีความรู้เรื่องการตลาด แต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้น้อยมาก

ซ้ำยังใช้วาทศิลป์หว่านล้อมให้ประชาชนเชื่อว่าคุณสมคิดมีความสามารถบริหารเศรษฐกิจได้อย่างดี

ขณะที่คุณประยุทธ์แถลงเรื่องเศรษฐกิจด้วยความไม่รู้จนมีแต่การด่ารัฐบาลเก่า, โทษเศรษฐกิจโลก และบ่นแบบลุงแก่ๆ

คุณสมคิดแถลงนโยบายโดยบรรยายว่าอะไรคือความท้าทายของเศรษฐกิจทุกวันนี้, เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และผลักดันให้ประเทศเดินหน้าบนเส้นทางที่เป็นมาต่อไป

ในจักรวาลของคนที่รู้เรื่องนี้กว่าทุกคนในระบอบประยุทธ์ เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเพราะ “ระบบ”

ไม่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

จนความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศถดถอย

ทางแก้จึงได้แก่การเร่งปฏิรูปสถาบันต่างๆ ให้ประเทศกลับไปแข่งกับประเทศอื่นได้อีกที

นอกจากชนชั้นเจ้าสัวและคนเงินเดือนหลักแสนไม่กี่ราย

คนไทยทุกคนล้วนรับรู้ว่าห้าปีใต้ระบอบประยุทธ์ทำเศรษฐกิจประเทศฝืดขั้นย่อยยับ

คำพูดของคุณสมคิดทำให้คนรู้สึกดีเพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐยอมรับปัญหาแบบนี้

แต่ความจริงคือ ไม่มีตรงไหนในคำแถลงที่ชี้ว่าประเทศจะเปลี่ยนไป

พูดสั้นๆ คุณสมคิดแถลงนโยบายโดยบรรยายปัญหาเศรษฐกิจในลีลา “นักวิชาการ” ทั้งที่สถานะที่แท้จริงของคุณสมคิดคือ “รองนายกฯ” ผู้กำหนดทิศทางประเทศในระบอบประยุทธ์หลายปีแล้ว คำแถลงจึงเป็นการใช้ภูมิหลังของอาชีพวิชาการกลบเกลื่อนความล้มเหลวในฐานะผู้บริหารนโยบาย

ถ้าประเมินสิ่งที่คุณสมคิดแถลงตามวิธีที่คุณสมคิดแสดงออกในสภา คุณสมคิดไม่ได้พูดอะไรใหม่กว่านักวิชาการหรือสื่อสายเศรษฐกิจพูดไว้นานแล้ว

คุณสมคิดในฐานะรองนายกฯ จึงล้มเหลวที่ไม่พูดเรื่องที่รองนายกฯ ควรพูด

ซ้ำในแง่การนักวิชาการก็ไม่มีอะไรลุ่มลึกกว่าที่พวกอาจารย์เด็กพูดกัน

ในแผนที่ทางเศรษฐกิจที่คุณสมคิดให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินตาม ประเทศไทยวันนี้เสื่อมถอยจนสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แทบทุกมิติ

แต่คุณสมคิดไม่พูดเลยว่าระบอบประยุทธ์ทำให้ประเทศถดถอยอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรที่ประเทศจะไม่ล้าหลังราวคนป่วยแห่งเอเชียอย่างที่คนพูดกัน

คุณประยุทธ์ไม่ผิดที่พูดเรื่องเศรษฐกิจตามที่คุณสมคิดชี้นำ แต่คุณสมคิดเคยเป็นนักวิชาการก่อนแสวงหาอำนาจทางการเมืองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตัวคุณสมคิดจึงรู้อยู่แก่ใจว่าวิธีคิดที่คุณสมคิดพูดนั้นคือการลอกเลียนแนวคิดที่ข้าราชการนักเศรษฐศาสตร์ในทศวรรษ 1980 เคยทำมาแล้วเท่านั้นเอง

โดยนโยบายที่คุณสมคิดแถลงต่อสภา ระบอบประยุทธ์มุ่งทำให้ประเทศเข้าสู่กระบวนการ “วิ่งไล่กวด” ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ (Catching Up Process) ตามแนวทางของเทคโนแครตสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว แต่คุณสมคิดกลับไม่พูดถึงปัญหาจากการ “วิ่งไล่กวด” แม้แต่นิดเดียว

หลักใหญ่ของทิศทางเศรษฐกิจแบบ “วิ่งไล่กวด” คือการคิดว่า “ประเทศ” คือหน่วยในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายของนโยบายต่างๆ จึงได้แก่การทำให้อะไรที่เกี่ยวกับ “ประเทศ” เติบโตขึ้นทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ, ยอดการส่งออก, เงินทุนไหลเข้าประเทศโดยรวม ฯลฯ

ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ รายได้และสภาพการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันของคนแต่ละกลุ่มไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดในการกำหนดนโยบาย หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ยอดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือแม้แต่การขยายตัวของตลาดทุน

ในแง่นี้แล้ว นโยบายเศรษฐกิจแบบ “วิ่งไล่กวด” มีธรรมชาติจะไม่สนใจ “ความไม่เท่าเทียม” หรือ “ช่องว่างทางรายได้” และกระทั่งความแตกต่างของ “มาตรฐานการดำรงชีวิต”

โดยอ้างว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศในรูปการลงทุนหรือตลาดทุนจะค่อยๆ แผ่กระจายไปสู่ประชาชนโดยปริยาย

ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่กล่าวมา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำกลายเป็น “โรคเรื้อรังทางสังคม” ที่เกิดแก่คนส่วนใหญ่แทบทั้งหมด เม็ดเงินจากเศรษฐกิจมหภาคไหลสู่กระเป๋าสตางค์ประชาชนในอัตราเร่งและสัดส่วนที่ต่ำกว่าไหลไปเจ้าสัวและกลุ่มทุนจนยิ่งนานช่องว่างทางสังคมยิ่งรุนแรง

จริงอยู่ว่าคนไทยในปัจจุบันมีสภาพการดำรงชีวิตที่เข้าขั้น “ชีวิตบัดซบ” ประเภทตำน้ำและกินดินน้อยกว่าหลายทศวรรษที่แล้ว ความยากจนโดยสัมบูรณ์ของคนไทยในวันนี้จึงดีขึ้นกว่าหลายปีก่อนแน่ๆ

แต่ความยากจนโดยสัมพัทธ์ระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยกลับเลวลงเหลือเกิน

หากใครเชื่อว่าสังคมไทยไม่เหลื่อมล้ำเลย เส้นทางหลังห้างหรูกลางสยามสู่ห้างใหญ่ราชประสงค์คือหลักฐานของความเหลื่อมล้ำแบบนี้

ทางสายนั้นช่วงเย็นจะอัดแน่นด้วยแผงไก่ปิ้งหรือข้าวราคาถูกสำหรับลูกจ้างในสองห้างยักษ์ซึ่งงานของพวกเขาคือเสิร์ฟอาหารมื้อละ 1,200 ให้ผู้มีอันจะเกิน

จริงอยู่ว่านโยบายเศรษฐกิจแบบ “วิ่งไล่กวด” เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับประเทศเศรษฐกิจล้าหลังที่ต้องการเทียบชั้นประเทศเศรษฐกิจโต แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ใช้ยุทธศาสตร์เดียวกัน ไทยเลือกนโยบาย “วิ่งไล่กวด” โดยส่งเสริมบรรษัทขนาดใหญ่ให้เติบโตด้วยวิธีผลักภาระให้ประชาชน

ไม่ว่าจะเรียกการพัฒนาประเทศให้สวยหรูอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการของไทยคือการกดค่าแรงและทำให้ข้าวราคาถูกที่สุด เพราะเมื่อข้าวถูก การกดค่าแรงก็ทำได้โดยลูกจ้างไม่โวยวายนัก

รัฐบาลจึงมีบทบาทเป็นผู้ช่วยให้ธุรกิจเติบโตโดยวิธีกดค่าแรงลูกจ้างอยู่ตลอดเวลา

คนจำนวนมากชอบบ่นว่าประชาธิปไตยไม่ช่วยคนจน

แต่ในยุคที่มีประชาธิปไตย การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคือ “วาระ” ที่รัฐบาลทุกชุดทำโดยต่อเนื่อง

ส่วนการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั้งประเทศและการไม่ปรับค่าแรงที่แท้จริงเพิ่งเกิดเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ เมื่อห้าปีนี้เท่านั้นเอง

ท่ามกลางการแถลงนโยบายเศรษฐกิจด้วยลีลาราวกับเป็น “นักคิด” ที่สนใจปัญหาเก๋ๆ ประเภท Digital Transformation, Disruptive Technology หรือ Artificial Intelligence of Things (AIoT) คุณสมคิดไม่ได้พูดอะไรนอกจากใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างกดค่าแรงและช่วยนักธุรกิจลดต้นทุน

พูดแบบไม่เกรงใจกัน คุณสมคิดคิดเหมือนกับรัฐบาลในทศวรรษ 1960 ที่ทำทุกทางเพื่อเอาใจเถ้าแก่ซึ่งหอบเงินจากไต้หวันมาเปิดโรงงานสิ่งทอแถวอ้อมน้อย เพียงแต่ยุคนี้เราเลือกจะเกรงใจแจ๊ก หม่า, แปลงคำว่า “เถ้าแก่” เป็น “ผู้ประกอบการ” และเปลี่ยนพื้นที่โอ้โลมจากสุขสวัสดิ์เป็น EEC

ตรงข้ามกับความเข้าใจผิดที่คุณสมคิดชี้นำให้คุณประยุทธ์ทำตาม แบบแผนการ “วิ่งไล่กวด” ที่ประเทศกำลังพัฒนาทำเพื่อเป็นประเทศพัฒนามีมากกว่าการเอื้อประโยชน์เจ้าสัวมากเหลือเกิน

ไต้หวันและอิตาลีเป็นตัวอย่างของการอัพเกรดประเทศโดยสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก, สิงคโปร์ก็ใช้ยุทธศาสตร์การผลักตัวเองเป็นฐานการผลิตระดับโลกเพื่ออัพเกรดประเทศได้ต่อเนื่อง

ส่วนมาเลเซียกับเวียดนามก็เชื่อมต่อประเทศกับโครงสร้างการผลิต IT โลกได้อย่างดี

ในการแถลงนโยบายที่คุณสมคิดทำหน้าที่แจกแจงเรื่องเศรษฐกิจแทนคุณประยุทธ์ รัฐบาลนี้กำลังนำสังคมไทยไปสู่เส้นทางที่ต่างจากห้าปีหลังรัฐประหารไม่มากนัก อำนาจรัฐที่เอื้อเจ้าสัวยังคงเป็นเหมือนเดิมอย่างไม่มีทางแก้ คำพูดคุณสมคิดเป็นแค่การพูดเรื่องซับซ้อนเพื่อปกป้องเจ้าสัวไว้ต่อไป

คุณประยุทธ์เป็นตัวอย่างของนายกฯ ที่รู้เรื่องเศรษฐกิจน้อยจนน่าอับอาย แต่ในการจรรโลงไว้ซึ่งระบอบประยุทธ์ด้านเศรษฐกิจตลอดห้าปี คุณสมคิดไม่ได้ทำอะไรจนความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมลดลงแน่ๆ และคำแถลงนโยบายประยุทธ์ 2 คือสัญลักษณ์ว่าแนวทางนี้จะไม่เปลี่ยนไป

คุณประยุทธ์ไม่ผิดที่รัฐประหารแล้วทำทุกทางให้ตัวเองเป็นนายกฯ ทั้งที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ

แต่คุณสมคิดควรถูกตำหนิที่ทำทุกทางให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าสู่เส้นทางที่ผิด

โดยเฉพาะการตอกตรึงให้คนส่วนใหญ่อยู่ในพันธนาการของเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ, ไม่เป็นธรรม และไม่มีทางมีชีวิตที่ดี