วิเคราะห์ : “ไบโอพลาสติก” นวัตกรรมเพื่อแก้ขยะล้นโลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดสดแถวหมู่บ้านของผมจะคึกคักไปด้วยผู้คนจากสารทิศ เพราะชื่อชั้นตลาดแห่งนี้อยู่อันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ร้านค้ามีนานาชนิด ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องครัว ถ้วย-ชาม ไปจนถึงผักสด ปลาสด อาหารคาว-หวานจากทุกภาค

ที่แผงอาหารทะเล เจ้าของร้านบอกว่า มีเรือตังเกของตัวเอง ลงอวนลากปลา-สัตว์น้ำมาขายเอง ของทะเลสดขายวันต่อวัน เที่ยงๆ ก็หมดแผง ไม่จำเป็นต้องเติมสารเคมีปรุงแต่ง

ส่วนผักนั้น บางแผงขนมาจากเขาค้อ เพชรบูรณ์โน่น เป็นผักสดไร้สารพิษ

คุณแม่เป็นแฟนคลับของตลาดสดแห่งนี้มานานหลายปี

เสาร์หรืออาทิตย์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คุณแม่จะยื่นโพยซื้อผัก-ปลาและของคาว-หวานเป็นลำดับเต็มหน้ากระดาษโน้ต

ผมมีหน้าที่ค้นหาให้ได้ตามโพยมากที่สุด บางครั้งซื้อของอื่นๆ จนเต็มถุง ไม่มีที่ใส่ เลยลืมสิ่งที่คุณแม่ต้องการกว่าของอื่นใด กลับมาถึงบ้านโดนเหน็บเล็กๆ มีหัวแค่เอาไว้กันหูซ้าย-ขวา

ระยะหลังๆ คุณแม่เตือนซ้ำหลายครั้งก่อนยื่นโพยให้

ผมหยิบตะกร้า หรือถุงผ้า หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ใช้ได้หลายครั้งก่อนมุ่งหน้าไปตลาด

เดี๋ยวนี้สังเกตเห็นพฤติกรรมผู้คนจับจ่ายในตลาดเปลี่ยนไปมาก มีทั้งหิ้วถุงผ้า ตะกร้า หรือรถเข็น

การบอกกล่าวให้พ่อค้าแม่ค้าใส่สิ่งของลงในถุงอย่างประหยัดๆ

ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าขานรับพร้อมกับบอกว่า ช่วยกันแก้โลกร้อน เป็นสิ่งที่ได้ยินบ่อยกว่าเดิม

แม้ว่าการใช้ถุงพลาสติกยังจำเป็น เพราะสิ่งของบางชนิด อย่างกุ้ง ไก่ หมู ปลา จะใส่ถุงผ้าปนๆ กับของอื่นคงไม่ได้แน่ แต่แนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คนซื้อปลาหลายๆ ตัวบอกให้พ่อค้าใส่รวมในถุงพลาสติกถุงเดียว ลดปริมาณการใช้ถุง

นี่เป็นผลของการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเรียนรู้-ตระหนักถึงภัยของขยะพลาสติก

 

จะว่าไปแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุค “คสช.” เรืองอำนาจ มีส่วนสำคัญในการรณรงค์เรื่องปลอดถุงพลาสติกไม่น้อยทีเดียว

ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาล “คสช.” เปิดรณรงค์คัดแยกขยะ เรียกร้องให้ข้าราชการ ประชาชน ช่วยกันพกถุงผ้า พกกล่องใส่อาหาร แก้วน้ำส่วนตัว คัดแยกขยะและใช้ซ้ำแทนการทิ้ง รวมถึงลดปริมาณการใช้กล่องโฟม ถุงพลาสติก

จากนั้นมีการวางโรดแม็ปจัดการขยะพลาสติกภายในปี 2561-2573 ทั้งลด เลิก และเปลี่ยนจากพลาสติกมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในปี 2565 วางเป้าไว้ว่าจะเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด คือ ถุงหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา นายกฯลุงตู่บอกว่า ทุกฝ่ายช่วยกันลดปริมาณขยะ ถุงพลาสติก ได้ถึง 2,700 ตัน หรือ 1.5 พันล้านใบ

ใครจะว่านายกฯลุงตู่เป็นเผด็จการ เป็นผู้นำรัฐประหารก็ช่างเถอะ สำหรับผม ขอยกเป็นหนึ่งในผู้นำที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะ

 

สําหรับพลาสติกนั้น เราต้องยอมรับความจริงว่าคือสิ่งจำเป็นของโลกยุคใหม่ พลาสติกทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ประตู-หน้าต่างเครื่องบิน ร่มชูชีพของทหาร ถังเก็บความเย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ฯลฯ

ถ้าไม่มีพลาสติก อาจเป็นไปได้ว่า โลกอาจเผชิญกับภาวะโลกร้อนรุนแรงมากกว่านี้ เนื่องจากผู้คนจะใช้เชื้อเพลิงในการทำความร้อน เดินทางขนส่ง

พลาสติกทำให้ชาวโลกได้ใช้ของในราคาถูกลงกว่าในอดีตมากมาย ส่วนประกอบของรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทำด้วยพลาสติก บ้านเรือนก็มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน

พลาสติกนำมาทดแทนผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ แทนไม้ แทนเหล็ก

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การหลีกเลี่ยงพลาสติกเป็นเรื่องยากมาก จึงมีความพยายามคิดค้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไบโอพลาสติกเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นในท่ามกลางปัญหาพลาสติกล้นโลก

แนวคิดของการทำไบโอพลาสติกคล้ายกับการทำพลาสติก เพียงแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้แทนที่จะเป็นเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ก็หันมาใช้พืชพันธุ์ อย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปอ ฯลฯ

การนำพืชพันธุ์มาผลิตเป็นไบโอพลาสติกจะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมโลกดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไบโอพลาสติกย่อยสลายในเวลาสั้นๆ อาจเพียงแค่หนึ่งปี หนึ่งเดือน หรืออาจแปรรูปไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างกับพลาสติก กว่าจะย่อยสลายใช้เวลานับเป็นร้อยปี และไม่สามารถนำกลับมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ เพราะเมื่อโดนความร้อนพลาสติกจะปล่อยสารพิษออกมา

ในปัจจุบันเรามาดูกันว่า นักวิทยาศาสตร์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นำมาแทนพลาสติกที่ใช้กันอยู่มีอะไรบ้าง

 

1.เห็ด

บริษัทยักษ์ใหญ่ของสวีเดนด้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์ กำลังคิดค้นไบโอพลาสติกจาก fungi หรือเห็ด ดึงเอาเส้นใยของเห็ดที่เรียกว่าไมซีเลียมมาผสมกับข้าวโอ๊ต นำไปขึ้นรูปเป็นวัสดุตามความต้องการ เช่น ขึ้นรูปเป็นกล่องใส่ขวดไวน์ นำมาทดแทนกล่องโฟม

2.มันฝรั่ง

บริษัทผลิตแชมเปญชื่อดังของฝรั่งเศส หันมาใช้มันฝรั่ง เยื่อไม้ไผ่ กระดาษและน้ำ เป็นวัตถุดิบผลิตวัสดุห่อหุ้มขวดแชมเปญป้องกันความร้อนและรักษาความเย็นของขวด

3.องุ่น

บริษัทผลิตแชมเปญดังกล่าวยังนำกากเยื่อองุ่นและก้านองุ่นมาผลิตเป็นลังใส่แชมเปญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

4.ต้นยูคาลิปตัส

เป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางการแพทย์ และทุกส่วนของต้นยูคาลิปตัสสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกได้อีกด้วย บางบริษัทยังดึงเยื่อของต้นยูคาลิปตัสมาใช้เป็นฟิล์มห่อหุ้มป้องกันความชื้นและไม่ให้ออกซิเจนเข้าไป

5.น้ำตาลและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

มหาวิทยาลัยบาธแห่งอังกฤษ คิดค้นวัสดุห่อหุ้มที่ทำจากน้ำตาลและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งย่อยสลายอย่างธรรมชาติ

6.เปลือกกุ้ง

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮมแห่งอังกฤษคิดค้นนำมาทำเป็นถุงพลาสติกย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า biodegradable bags. จากการศึกษา นำเปลือกกุ้งมาต้มสกัดแล้วมาทำถุงพลาสติก เปลือกกุ้งน้ำหนัก 2 ปอนด์ ทำถุงพลาสติกได้ 15 ใบ

7.ปูนขาว (Pulverized limestones) นำมาผสมกับโพลีเอทิลีน แล้วผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ห่อหุ้มแทนพลาสติก หนึ่งตันของถุงพลาสติกผลิตจากปูนขาวทดแทนกระดาษ ซึ่งจะประหยัดการโค่นต้นไม้ได้ 20 ต้น

8.ขนไก่

ขนไก่ที่โรงเชือดทิ้งหลังจากถอนออกจากตัวไก่นั้น มีเคราตินซึ่งมีส่วนผสมของเส้นใยและโปรตีน ถ้านำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ห่อหุ้มจะมีความแข็งแรงและทนทานต่อการฉีกขาด กระบวนการผลิตโดยใช้วัตถุจากขนไก่เรียกว่า polymerization

9.ขนแกะ

ขนแกะเป็นชนวนห่อหุ้มป้องกันความเย็นได้ยอดเยี่ยม หากนำมาผลิตเป็นสินค้าห่อหุ้มป้องกันความเย็นจะช่วยลดการใช้พลาสติกได้มาก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก

10.นม

นมมีส่วนผสมของเคซีน (casein) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำมาทำเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับห่อหุ้มวัสดุป้องกันการทำปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่าออกซิเดชั่น ช่วยทำให้อาหารอยู่ได้นาน ทดแทนพลาสติกได้ดี

11.เปลือกไม้

มีส่วนประกอบหลักคือลิกนิน เซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลส (Lignin, Cellulose and Hemicellulose) เมื่อนำมาต้มจนเหลวสามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุห่อหุ้มได้ตามต้องการ

12.ต้นปาล์ม

ใบของต้นปาล์มเป็นวัสดุสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นชาม จาน และอุปกรณ์ในครัวแทนพลาสติก นำไปใส่ในตู้ไมโครเวฟก็ปลอดภัย ทนความร้อนและคงรูปได้ดีเยี่ยม

13.มะพร้าว

มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ทุกส่วนของต้นมะพร้าวนำมาใช้ได้หมด อย่างเช่นเปลือก ใยมะพร้าว เป็นวัสดุห่อหุ้มทดแทนพลาสติกชั้นเยี่ยม มีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติก

ทั้ง 13 อย่างเป็นของที่มีอยู่ในธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญและนำมาคิดค้นเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทดแทนพลาสติก