วิรัตน์ แสงทองคำ : ว่าด้วยการศึกษา “ชิ้นส่วน” ที่ “จุดประกาย” ไปสู่เสนอมิติอื่นๆ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ปีนี้ตั้งใจจะนำเสนอ เรื่องราว มุมมอง และความคิดเกี่ยวกับการศึกษาให้มากขึ้น

ในฐานะผู้สนใจและเคยนำเสนอเรื่องราวว่าด้วยการศึกษา เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และธุรกิจอย่างต่อเนื่องเกือบสองทศวรรษ

ควรกล่าวพาดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง “หาโรงเรียนให้ลูก” (พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2545 และพิมพ์ครั้งที่สอง ปี 2548) แม้ว่าเนื้อหาเจาะจงเกี่ยวกับการศึกษาระดับมัธยมในต่างประเทศ แต่สาระสำคัญที่น่าสนใจในมุมมองที่กว้างขึ้น ได้นำเสนอเทียบเคียงบริบทช่วงต่างๆ ของสังคมไทย

“ปรัชญาของการศึกษาต่างประเทศของทั้งระบบราชการไทย และชนชั้นนำหรือผู้มีโอกาสในสังคมไทยในยุคผ่านๆ มาในช่วง 100 ปีมานี้ ยังจำกัดอยู่เพียงเพิ่มโอกาสของพวกเขาให้มากขึ้นในขอบเขตสังคมไทยเท่านั้น พวกเขาพยายามสร้างบันไดขึ้นสู่ยอดของสังคมไทยที่มีอย่างจำกัดมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน” ผมเองเคยขยายแนวทางหนังสือเล่มนั้นอย่างกว้างๆ ไว้ในคอลัมน์ประจำของตนเองเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ที่สำคัญกว่านั้น ได้นำเสนอความเชื่อหลักไว้ว่า “ภาพยุทธศาสตร์ใหญ่การศึกษาของสังคมไทย จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตามความคิดความเชื่อ ในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการแข่งขันกับโลกภายนอกได้” โดยขยายความอย่างสรุปไว้

“Globalization คือปรากฏการณ์อันสลับซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยถึงรากฐาน ทั้งด้านถูกคุกคามและต้องประนีประนอม นับเป็นความจำเป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง ภาพใหญ่การปรับตัวของสังคมไทย ทั้งระดับกว้างและระดับบุคคล คือการสร้างทรัพยากรบุคคลหรือชนเผ่าไทยให้สามารถดำรงชีวิต ท่ามกลางความเป็นไปสังคมไทยที่มีบุคลิก ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกต่างจากเดิม”

“เราจะต้องสร้างคนที่สามารถทำงานกับชนเผ่าอื่นๆ ได้ โดยไม่จำกัดพื้นที่ ภายใต้ปรากฏการณ์สำคัญ ที่พื้นที่ และโอกาส ในประเทศแคบลง เราจะต้องเปิดโอกาสให้กับตนเอง โดยขยายพื้นที่และโอกาสให้กว้างขวางกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคิดระดับภูมิภาคเป็นอย่างน้อย” แนวคิดข้างต้นเสนอไว้ ก่อนการเกิดขึ้นประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนหรือ AEC กว่าทศวรรษ

ถึงเวลาแล้ว จะสำรวจตรวจสอบสถานการณ์ และความเป็นไป เป็นดังความเชื่อข้างต้นหรือไม่ อย่างไร

 

ในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะคอลัมนิสต์ “มติชนสุดสัปดาห์” (ตั้งแต่ปี 2553) ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาบ้างเป็นครั้งคราว

มีบางชิ้นที่น่าสนใจสะท้อนปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สำคัญๆ เชื่อมโยงกับแนวคิดที่กล่าวตอนต้นๆ


การศึกษามีมาตรฐานเดียว

ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 16 หลังจากดำรงตำแหน่งได้ปีหนึ่ง (วาระดำรงตำแหน่ง 1 เมษายน 2551 – 17 พฤษภาคม 2559) ได้ประกาศเป้าหมายในการบริหารสถาบันการศึกษาที่อนุรักษนิยมที่สุด ด้วยความกล้าหาญและเป็นรูปธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่าจะพยายามให้จุฬาติดอันดับโลก 60 อันดับแรก

รวมทั้งเวลานั้น (2552) Website ของจุฬาฯ เอง (www.chula.ac.th) และสารอธิการบดี ได้ยืนยันความคิด ความตั้งมั่นต่อสาธารณชน ได้นำเสนออ้างอิงอย่างภาคภูมิใจ ที่สำคัญระบุว่า “จุฬาฯ มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย” และ “จุฬาฯ ของเราเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก” (โดยอ้างการจัดอันดับของ THE World University Rankings /QS World University Rankings)

“เป็นเรื่องน่ายินดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย มีแรงบันดาลใจสำคัญ มองการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลก ผมถือว่านี่คือการจุดประกายครั้งใหม่สำหรับการก้าวไปสู่ศตวรรษหน้าของระบบการศึกษาไทย” ผมได้กล่าวสรปุในตอนนั้น (มติชนสุดสัปดาห์ ปลายปี 2552)

ทั้งนี้ ได้ย้ำแนวความคิดสำคัญไว้ด้วยว่า “ว่าด้วยมาตรฐานการศึกษา ด้วยมีความเชื่ออันหนักแน่นว่า มีเพียงมาตรฐานเดียว คือ มาตรฐานโลก”

ในเวลานั้นผมได้นำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะ (ด้วยเสียงอันแผ่วเบา) ไว้เพิ่มเติมบางประเด็น

เท่าที่สังเกต จุฬาฯ ยึดการจัดอันดับของ THE/QS World University Rankings ผมได้เสนอเพิ่มเติมให้จุฬาฯ ยึดการจัดอันดับของ Academic Ranking of World Universities หรือ shanghai ranking (จัดโดย Shanghai Jiao Tong University) ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วย เป็นการเพิ่มเติมด้วย

ความแตกต่างระหว่าง THE/QS กับ Shanghai Jiao Tong University ด้วยวิธีการและแนวทางที่สำคัญ

นักศึกษาและฝ่ายบุคคลขององค์กรต่างๆ ดูจะสนใจ THE/QS พอสมควร ในฐานะให้ความสำคัญความเห็นของผู้ว่าจ้างงาน และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่สะสมมานานโดยผ่านความคิดเห็นและความเชื่อของผู้คนในวงการเดียวกัน ในขณะที่ Shanghai Jiao Tong University ให้ความสำคัญในฐานะบทบาทมหาวิทยาลัย ว่าด้วยคุณภาพการศึกษาและวิจัย เป็นสำคัญ ผ่านผลงานที่จับต้องได้ ผลิตมาจากมหาวิทยาลัยเอง ดูเหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับโลก ให้ความสนใจอย่างมาก

น่าเสียดาย จุฬาฯ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญข้างต้น ที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปี จุฬาฯ ได้สัมผัสอันดับโลกดีที่สุด โดย QS World University Rankings เพียงอยู่ในอันดับดับกว่า 200

ขณะที่ THE World University Rankings ถูกจัดอยู่ในอันดับ 600-800 ส่วน Shanghai ranking ไม่ติดอันดับ 500 แรกเลย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนตัวอธิการบดี จาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล มาเป็น ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (วาระดำรงตำแหน่ง 18 พฤษภาคม 2559 – 17 พฤษภาคม 2563) ดูเหมือนไม่มีการพาดพิงถึงเป้าหมายดังกล่าวอีก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนในวงกว้าง

การศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม

ที่ให้ความสำคัญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นพิเศษนั้น มีเหตุอันควร

จุฬาฯ มิได้เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุด ยังมีความภูมิใจกับตัวเองมากที่สุดด้วย

สถาบันแห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการพัฒนาสังคมในยุคสมัยใหม่อย่างมาก

ก่อตั้งขึ้นในยุคอาณานิคม (ปี 2460 )ในฐานะสถาบันพัฒนาข้าราชการในช่วงWesternization of Siam

จากนั้นเริ่มก่อตั้งการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ในยุคเดียวกับการพลิกโฉมหน้าเมืองให้ทันสมัยด้วย ด้วยการก่อสร้างสถานที่สำคัญ เป็นสัญลักษณ์กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงใหม่ เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งให้เข้ากับยุคอาณานิคม รวมทั้งแรงกดดันและบันดาลใจในการสนับสนุนบุคลากร เพื่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย (โรงงานซีเมนต์) สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างสถานที่สำคัญของประเทศเวลานั้น ทั้งความพยายามให้มีคุณภาพทัดเทียมกับซีเมนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

อีกช่วงหนึ่ง การกำเนิดของ วิชาการการบัญชี ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปีเดียวกัน 2481) ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ความเกี่ยวข้องการประกาศใช้ประมวลกฎหมายรัษฎากร

คณะราษฎรถือว่าการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นผลงานสำคัญในกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามหลุดพ้นจากอิทธิพลของระบบอาณานิคม จากผลกระทบของสนธิสัญญาเบาริ่งที่มีมากกว่ามิติทางการเมืองและการทหาร

จะด้วยพัฒนาการไม่สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หรือการจัดแบ่งบทบาท หน้าที่อย่างเหมาะสม ก็ตามแต่ “จุฬาฯ สถาบันการศึกษาชั้นนำเก่าแก่ เพิ่งมีความสนใจขยายบทบาทการจัดการศึกษาว่าด้วยเกษตรกรรม ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงถึงชุมชนชนบทของไทย” เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง (อ้างจากข้อเขียนเรื่อง “จุฬาฯ ชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ ปลายปี 2553)

จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเดียวก็ว่าได้ ที่ไม่มีการจัดการศึกษาด้านเกษตรกรรม และไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด ไม่ว่าชานเมือง หรือหัวเมืองใหญ่

ระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรม พื้นฐานสังคมไทย เริ่มพัฒนาสู่ความทันสมัยใหมมากขึ้น เมื่อมีการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างเป็นทางการในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 2486) จากนั้นวิชาการเกษตรกรรม ถือเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยสำคัญของระบบการศึกษาไทย แม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายจัดการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่าจุฬาฯ ได้มีการจัดการศึกษาด้านเกษตรกรรมขึ้นเมื่อปี 2529 โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการสอนวิชาเกี่ยวกับการเกษตรและชนบทหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีชนบท เทคโนโลยีการเกษตร เกษตรยั่งยืน หรือการจัดการเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ดังนั้น จุฬาฯ กับแผนการใหม่จัดตั้งจัดการการศึกษาเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและชนบท จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง

“วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเพิ่ม ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ทำให้พืชและสัตว์ที่เป็นอาหารมีราคาสูงขึ้น ภาวะราคาอาหารเฟ้อ (Food Inflation) โดยราคาเฉลี่ยอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเกิดปัญหาการวิตกกังวลเรื่องวิกฤตอาหารขาดแคลน” บทสรุปบางประการของหลักการปรัชญาของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน มีปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จากเดิมบ้าง โปรดอ่าน http://www.cusar.chula.ac.th/index.php/about-us/history)

ตามมาด้วยบทสรุปที่น่าตื่นเต้น “ความต้องการบุคลากรและองค์ความรู้ที่มีความรู้ความชำนาญสามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าของระบบการผลิตอาหาร ให้พอเพียงกับความต้องการของมนุษยชาติ ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในฐานะของแหล่งธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและการเกษตร ผลิตอาหารหรือเป็นครัวโลกที่สำคัญที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่ผลิตอาหารในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก” สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จึงเริ่มต้นเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553

เรื่องราวว่าด้วยการศึกษาที่ยกมาข้างต้นเป็น “ชิ้นส่วน” ที่ “จุดประกาย” ไปสู่การนำเสนอมิติอื่นๆ ที่กว้างขึ้นในโอกาสต่อไป