ต่างประเทศอินโดจีน : เหตุเกิดที่ฮาตินห์

เมื่อเดือนเมษายน 2016 กลุ่มนักดำน้ำเพื่อการทำประมงชายฝั่งบริเวณตอนกลางของประเทศเวียดนาม สังเกตพบของเหลวสีแดง เหลือง พวยพุ่งลงสู่ทะเลผ่านท่อระบายน้ำท่อหนึ่ง

ท่อระบายน้ำดังกล่าวเชื่อมต่อกับโรงงานเหล็กกล้าแห่งหนึ่ง ชื่อฟอร์โมซา ฮาตินห์ บริหารงานโดยฟอร์โมซา พลาสติก กรุ๊ป (เอฟพีจี) บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการในเครือมากมายจากไต้หวัน

ไม่นานหลังจากนั้น ชาวบ้านแถบชายทะเลฮาตินห์เริ่มสังเกตพบปลา หอย และวาฬ ถูกซัดขึ้นมาเกยหาดตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงปลายเมษายน นักดำน้ำกลุ่มหนึ่งที่ทำงานให้กับฟอร์โมซาในทะเลใกล้กับโรงงานล้มป่วยหนักถึงกับต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

หนึ่งในจำนวนนั้นเสียชีวิตลงเพราะเกิดโรคแทรกซ้อน

มลพิษครั้งนั้นรุนแรงถึงขนาดบังคับกลายๆ ให้ชาวประมงในละแวกที่ได้รับผลกระทบต้องเลิกทำประมง ขายเรือทิ้ง ใช้เป็นทุนเดินทางไปทำงานรับจ้างไปวันๆ หลายคนไปไกลถึงไต้หวัน

 

ความเสียหายในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเป็นระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร ครอบคลุมอย่างน้อย 5 จังหวัดชายทะเลของเวียดนาม ตั้งแต่ ฮาตินห์, เงอัน, กวางบินห์, กวางตรี และเถื่อ เทียน-เว้

นักดำน้ำและผู้คนอีกหลายสิบที่บริโภคอาหารทะเลจากภูมิภาคดังกล่าวล้มป่วย มีปัญหาสุขภาพที่เห็นได้ชัดว่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ปลายเดือนมิถุนายน มีรายงานระบุว่า รัฐบาลเวียดนามมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์กับฟีนอลจากโรงงานฟอร์โมซา ฮาตินห์ คือสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์น้ำในบริเวณนั้นล้มตายและเป็นพิษ

ฟอร์โมซา ฮาตินห์ ยอมรับว่าโรงงานตนเป็นที่มาของหายนะในครั้งนี้ ระบุสาเหตุว่าเพราะใช้กระบวนการผลิตแบบ “เว็ต โค้กกิ้ง” ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในน้ำเสีย ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแต่อย่างใด

บริษัทขอรับผิดชอบเต็มที่และขออภัยต่อชาวเวียดนามทั้งหลายเอาไว้ในตอนนั้น

 

ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายเงิน 500 ล้านดอลลาร์ “ให้กับรัฐบาลเวียดนาม” สำหรับใช้ “ทำความสะอาด” พร้อมกับ “จ่ายชดเชย และช่วยเหลือในการหางานใหม่ให้ทำ”

จนถึงตอนนี้หลายคนที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับเงินชดเชย อีกหลายคนที่ได้รับ ได้รับแค่คนละ 2,430 ดอลลาร์ (ราว 74,300 บาท) เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ชาวเมืองเงอัน ทั้งหมดถูกรัฐบาลระบุว่าไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินชดเชยเพราะน้ำเสียไม่ได้ลงมาถึง แต่ชาวประมงเงอันทั้งจังหวัดล้วนไปจับปลานอกชายฝั่งฮาตินห์เลี้ยงชีพกันมาแต่ไหนแต่ไร ตอนนี้ก็หมดทางทำกินแล้ว

หรือกรณีของนักดำน้ำซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเสียชีวิตลง ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของบริษัท ที่ทำสัญญาว่าจ้างจากฟอร์โมซา ฮาตินห์ มาอีกต่อหนึ่ง พอเกิดเหตุฟอร์โมซาเลิกสัญญากับบริษัท ในขณะที่นักดำน้ำและครอบครัวกลับตกอยู่ในข่ายไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ

พอรวมตัวกันเรียกร้อง เจ้าหน้าที่ก็จับกุมชาวประมงและนักเคลื่อนไหวอีกหลายสิบคุมขัง รวมทั้งใครก็ตามที่โพสต์เรื่องราวดังกล่าวลงไว้ในเฟซบุ๊ก

 

โชคดีที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมเวียดนามเปิดช่องให้ฟ้องร้องเอาผิดบริษัทต่างชาติในประเทศที่เป็นต้นสังกัดของบริษัทนั้นๆ ได้

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน เรื่องนี้จึงถูกส่งฟ้องต่อศาลไต้หวัน มีชาวเวียดนามกว่า 7,800 คนเป็นโจทก์ เรียกร้องค่าเสียหายสำหรับเหยื่อ มาตรการเพื่อยุติการรั่วไหลของมลพิษจากโรงงานมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ที่ถือการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รวมทั้งมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบเดียวกันอีกในอนาคต

ตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้คือมูลนิธิเพื่อสิทธิสิ่งแวดล้อม (อีอาร์เอฟ) องค์กรประชาสังคมของไต้หวันนั่นเอง

โซ ฮวง ทนายของอีอาร์เอฟ ชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลยังไม่ได้ฟื้นฟู รายได้จากการประมงยังคงอยู่แค่ครึ่งเดียวจากที่เคยได้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ

คดีทำนองนี้อาจต้องกินเวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผล แต่ก็ถือเป็นแบบอย่างที่ดี

เป็นกรณีตัวอย่างให้บริษัทต่างชาติทั้งหลายต้องระมัดระวัง แม้จะทำธุรกิจอยู่ในประเทศอื่นก็ตามที