มนัส สัตยารักษ์ | หมดอารมณ์ขัน (กินเงินเดือนหลายตำแหน่ง)

หมดอารมณ์ขัน

สมมุติว่าเราสามารถลอบอัดเสียงการพูดกันเหมือนการใช้ซีซีทีวี เป็นการพูดคุย “เชิงประชุม” ของคนจำนวนไม่เกิน 10 คน แม้เราจะได้ยินแต่เสียงที่บางครั้งก็บ่งบอกเรื่องราวและอารมณ์โดยไม่มีภาพ แต่เราก็ไม่สับสน เพราะในจำนวน 10 คนนี้ มีอยู่ราว 3 หรือ 4 คนที่เสียงของพวกเขาคุ้นหูเราในวิทยุหรือทีวีอยู่เกือบทุกวัน วันละหลายครั้ง ทำให้เราพอนึกภาพและบรรยากาศได้ว่าเป็นอย่างไร

อีกประการหนึ่ง ประสบการณ์จากของจริงที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง ในหลายเมือง (ที่มิใช่สารขันธ์ก็ตาม) รวมทั้งเรื่องแต่งในนิทานโบราณ (หมาป่ากับลูกแกะของอีสป) เราก็สามารถสร้างจินตนาการ (หรือดราม่า) ได้อย่างแจ่มชัดราวกับดูภาพยนตร์จอยักษ์เลยทีเดียว

ไม่เชื่อลองฟังดูก็ได้…

“พี่ใหญ่…จะเอายังงั้นเลยหรือ?”

เสียงแรกจากเครื่องอัดเสียงระบบซีซีทีวีดังขึ้น เป็นน้ำเสียงที่เราคุ้นเคยจากจอโทรทัศน์จนเดาออกว่าเจ้าของเสียงเป็นใคร ขยิบตานานและค่อนข้างถี่จนเหมือนแสร้งทำ

“ใช่ จะเอาอย่างนี้แหละ ไหนๆ ก็ไหนๆ เราก็ชายชาติทหาร” มีเสียงกลั้วหัวเราะในคอลึกๆ และเสียงหายใจเหมือนหอบ

“ทุกประเทศในโลก ไม่มีประเทศไหนเขายอมให้ข้าราชการรับเงินเดือน 2 ทางนะครับ” มีเสียงหนึ่งดังแผ่วๆ-เหมือนไม่ค่อยกล้า-ติงขัดขึ้น

“ประเทศเราไม่รวมอยู่ในประเทศเหล่านั้น ดูเหมือนเมื่อ 2 หรือ 3 วันก่อนหน้านี้ก็มีผู้ใหญ่ฝ่ายเราคนหนึ่งพูดกับผู้สื่อข่าวไปแล้ว คล้ายๆ กับว่า คสช.แยกออกมาแล้วจากประเทศไทย ประเทศ คสช.เรามี ดาบกายสิทธิ์ ไง…เข้าใจไหม?”

“ครับ-พี่”

“ในยุคหลัง 14 ตุลา 16 ก็มีข้าราชการทำงาน 2 ตำแหน่ง เขาก็ให้เจ้าตัวมีสิทธิ์เลือกเอาเองว่าจะเลือกกินเงินเดือนจากตำแหน่งไหน”

“ใช่ครับ ใช่…พูดถึงเรื่องนี้คิดถึงอาจารย์ป๋วย” เขาคงหมายถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “อาจารย์ป๋วยเลือกกินเงินเดือนอธิการบดีธรรมศาสตร์ ซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนผู้ว่าการแบงก์ชาติ”

“เป็นตำนาน…” มีเสียงหนึ่งแทรกขึ้นมาอย่างแผ่วเบาเหมือนรำพึงกับตัวเอง

“ไหน หือม์…อะไร…ใครบ่นอะไร? …นายลองไปถามทั้ง 6 ผอบอ ที่จะกินเงินเดือน 2 ทางซิ ว่าใครอยากเป็นตำนานมั่ง…?”

ในใจเขาคงอยากตะโกนว่า “นี่มันยุคพฤษภา 57 โว้ย ไม่ใช่ตุลา 16 !!”

“ก็เป็นอันว่าเราจะเลือกเอาภาพของ คนงานหนัก ที่ต้องทดแทนบุญคุณ…จนไม่เหลือภาพของ คนเสียสละ ที่อุตส่าห์สร้างมาตั้ง 5 ปีเลยหรือครับ?”

“คงต้องยังงั้นละกระมัง…ก็มีใครไหมล่ะที่เห็นว่าเราเสียสละ?”

เงียบไปครู่หนึ่งประโยคนี้ก็ตามมา… “อีกประเด็นนึงที่ผมยังกังวลใจไม่หาย”

“อะไรล่ะ?”

“ก็ไอ้เรื่องค่าใช้จ่ายในการสรรหาวุฒิสมาชิกน่ะ ทำไมมันโคตรแพงถึง 1,300 ล้านบาท มันไม่ควรจะเกิน 100 ล้านสำหรับ ส.ว.ที่ให้คัดเลือกกันเองจังหวัดละ 1 ล้านบาท”

“แล้วไง กังวลใจตรงไหน?”

“กังวลใจว่าเราจะชี้แจงลำบากน่ะครับ”

“โธ่เอ๊ย…นึกว่าอะไร เอาน่า พี่มีประสบการณ์เรื่องอย่างนี้มาเยอะ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งผ่านมาเรื่องนึง ดังไปทั่วโลก” (ฮา-ฮา)

ซีเควนซ์ข้างต้นผมเขียนขึ้นมาจากจินตนาการเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนตามประสาคนมีอารมณ์ขันและมองโลกเชิงบวก

แต่ผ่านมาถึงสัปดาห์นี้หลังประกาศรายชื่อวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง เราก็เห็นกันแล้วว่า “ของจริง” เป็นอย่างไร

มีผู้ร้องใช้ชื่อ “คณะราษฎรไทยแห่งชาติ” ฟ้อง คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแต่งตั้งพวกพ้องที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่ได้เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้จบไปโดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ อันไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินการทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ใช่คดีพิพาททางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น

กรณีที่มีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. แสดงข้อกังขาว่า คำสั่ง คสช.เกี่ยวกับการคัดสรร ส.ว. ไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ชี้แจงไปว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่ง ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องประกาศ

คำชี้แจงของรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายพอฟังได้ เพราะ คสช.ได้รัฏฐาธิปัตย์ ประเทศนี้จึงเหมือนเป็นประเทศของ คสช. เจ้าของประเทศควรมีอำนาจที่จะออกคำสั่งอะไรก็ได้ โดยจะประกาศหรือไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ (ใครจะทำไม?)

ส่วนตัวผมแต่เดิมนั้นอาจจะมองข้ามปัญหาตรงนี้ไปได้อย่างปลอดโปร่งใจ เพราะผมถือว่าเป็นประเทศของ คสช. ไม่ใช่ประเทศไทยของผมแล้ว

แต่พอมาถึงปัญหาการเลือกสรรสมาชิกวุฒิสภา ขณะที่ผมกับประชาชนส่วนใหญ่แสดงความสงสัยว่าเป็นการเลือกเอาญาติพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนร่วมรุ่น ตลอดจนบรรดานักชเลียร์ทั้งหลายเข้ามาเพื่อ “ค้ำบัลลังก์”

รองวิษณุ (เจ้าเก่า) ก็ออกมาบอกว่าเป็น “เรื่องภายใน” ที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน

ทั้งๆ ที่กินเงินเดือนแสนแพงจากภาษีของประชาชนเป็นเวลาถึง 5 ปี และมีอำนาจเกี่ยวกับการออกกฎหมายที่มีผลกระทบถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง

มาถึงตรงนี้จึงยากที่จะมองเชิงบวกอย่างมีอารมณ์ขันต่อไปได้