บทวิเคราะห์ เหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้ช่วยก่อรูป “ความคิดสีจิ้นผิง” และ ความทรงอำนาจของจีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (5)

เหตุการณ์ใหญ่ช่วยก่อรูป “ความคิดสีจิ้นผิง”

ก่อนหน้าที่สีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจเต็มที่ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่หลายเหตุการณ์ที่แสดงว่าจีนต้องการความคิดชี้นำที่ใหม่กว่า และช่วยก่อรูปความคิดสีจิ้นผิงขึ้น เหตุการณ์ใหญ่ดังกล่าว

ได้แก่

1) วิกฤติการเงินสหรัฐ 2008

ที่ส่งผลไปทั่วโลก การค้าระหว่างประเทศทรุดฮวบ ข่าวว่าคนงานจีนถึงราว 20 ล้านคนตกงาน เป็นการเกิดขึ้นฉับพลันยิ่งกว่าการขึ้นภาษีของทรัมป์เสียอีก

วิกฤตินี้แสดงว่าสหรัฐไม่อาจเป็นลูกค้าที่ดี วางใจได้ของจีนและของโลกต่อไปอีกเหมือนเดิม

จีนจำเป็นต้องพึ่งตนเองด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2008 มูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์) ทำให้เศรษฐกิจจีนก้าวต่อไปได้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 6 แต่เมื่อถึงไตรมาสแรกของปี 2009 เศรษฐกิจจีนพลิกกลับมาโตร้อยละ 8 และเป็นร้อยละ 10 ในไตรมาสที่สองของปี 2009 แล้วเศรษฐกิจจีนก็เหินขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่สอง เดือนกันยายน 2012 กระตุ้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน

การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นไปยิ่งกว่าของสหรัฐเสียอีก สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางขนส่ง ที่ร่ำลือกันได้แก่ ทางรถไฟความเร็วสูงจากไม่มีเป็นหลายหมื่นกิโลเมตร

ทางการสื่อสารก้าวกระโดดสู่สมาร์ตโฟน

การก่อสร้างจำนวนมาก เช่น เมืองใหม่ หลายแห่งเป็นเมืองร้าง มีผู้คนอยู่อาศัยน้อย ความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเองดังกล่าวก่อความมั่นใจให้แก่ผู้นำจีนว่า จีนยังมีเครื่องมือจำนวนมากในการต่อสู้สงครามการค้า

เป็นที่สังเกตว่าเมื่อเกิดสงครามการค้า จีนก็ใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนปี 2008 มีผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเกินคาดในไตรมาสแรกของปี 2019 แม้ว่าต้องเผชิญพายุสงครามการค้าจากสหรัฐ

นักวิเคราะห์ตะวันตกกำลังตรึกตรองดูว่า ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนถึงจุดสูงสุดหรือยัง

แต่ฝ่ายนำจีนมีความมั่นใจว่าจีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 6 ไว้ได้อย่างมั่นคง

2) กรณีป๋อซีไหล (เดือนมีนาคม 2012 ถึงกันยายน 2013)

เป็นความขัดแย้งในด้านแนวทางนโยบายภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนขนาดย่อม ระหว่างป๋อซีไหลที่เป็นแนวทางสีแดง และผู้นำพรรคอื่นที่มีสีจิ้นผิงเป็นผู้นำ เป็นแนวทางปฏิรูป

ป๋อซีไหลขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่งสมาชิกคณะกรมการเมืองและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นครฉงชิง ระหว่างปี 2007-2012 เป็นดาวรุ่งทางการเมืองคู่ชิงตำแหน่งกับสีจิ้นผิง

เขาเสนอแนวทางวัฒนธรรมสีแดง นโยบายลัทธิเฉลี่ยทางเศรษฐกิจ และการเติบโตที่นำโดยรัฐ

เขาได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนสองประการได้แก่ การสร้างอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน และการกวาดล้างอาชญากรรม

ขัดแย้งกับแนวการปฏิรูปและเปิดกว้าง

ความขัดแย้งนี้ระเบิดสู่สาธารณะเมื่อมีการโต้เถียงเรื่องตัวแบบการพัฒนาเรียกว่า “ทฤษฎีขนมเค้ก” ขึ้นระหว่างนายหวัง หยาง เลขาธิการพรรคมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ชายทะเล กับป๋อซีไหลเลขาธิการพรรคนครฉงชิงที่อยู่ลึกเข้าไปในตะวันตก

โดยนายหวังเห็นว่าจีนจำเป็นต้องปฏิรูปขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เหมือนกับอบขนมเค้กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถแบ่งเค้กก้อนใหญ่ขึ้นในหมู่ประชาชน หรือมีช่องทางในการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางรายได้ง่ายขึ้น

ส่วนป๋อซีไหลชี้ว่า ความคิดที่จะทำเค้กให้ก้อนใหญ่ขึ้น แล้วจึงมาแบ่งกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะหากแบ่งเค้กไม่ยุติธรรมแล้ว ผู้คนหรือประชาชน ผู้อบเค้ก ก็จะขาดแรงบันดาลใจที่จะอบมัน

การโต้เถียงนี้ยากที่สาธารณชนจะตัดสินได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และควรเป็นแบบใด เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็มีความต้องการคล้ายคลึงกัน เพียงแต่จัดลำดับความสำคัญต่างกัน และต่างก็มีข้อเท็จจริงและตัวแบบสนันสนุน

แต่สำหรับระดับสูงภายในพรรคที่ยังกังวลความวุ่นวาย สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของประธานเหมา มีความโน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับตัวแบบกวางตุ้ง

และแล้วเหมือนชะตากรรมบันดาล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 หวังลี่จวิน นายตำรวจคนสนิทของป๋อซีไหลมาช้านาน ลี้ภัยเข้าไปในสถานกงสุลสหรัฐเมืองเฉิงตู เปิดโปงอาชญากรรมของป๋อซีไหล รวมทั้งเรื่องการสังหารนายเนล เฮย์วูด นักธุรกิจชาวอังกฤษ

จากนั้นรัศมีของป๋อซีไหลได้ดับลง เขาถูกนายเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีขณะนั้นตำหนิหลายประการ รวมทั้งการอวดว่าเศรษฐกิจนครฉงชิงรุ่งเรืองเป็นเพราะเขาคนเดียว ถูกขับออกจากพรรค ถูกดำเนินคดีในข้อหารับสินบน ยักยอกเงินและใช้อำนาจในทางที่ผิด และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เปิดทางให้สีจิ้นผิงขึ้นกุมอำนาจในพรรค โดยไม่มีคู่แข่งเป็นเสี้ยนหนาม

กรณีป๋อซีไหลนี้ นักวิชาการของสำนักคิดสหรัฐบางแห่งเห็นว่า เป็นการแสดงถึงความเป็นเอกภาพภายในพรรคจีน มากกว่าความแตกแยก และเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นการขจัดมลพิษทางการเมืองของจีน นำประเทศจีนไปสู่การปฏิรูปการเปิดเสรีและการปกครองโดยกฎหมาย ใช้หลักนิติธรรมต่อเนื่องไป (ดูบทความ Cheng Li แห่งสถาบัน บรูกิง ชื่อ The Trial of Bo Xilai and what it means for the rule of law in China ใน eastasiaforum.org 04/11/2012)

สีจิ้นผิงได้ทำความสะอาดในพรรคและรัฐ การปราบคอร์รัปชั่นดำเนินไปอย่างเป็น “ขบวนการหักเขี้ยวเสือ เด็ดปีกแมลงหวี่แมลงวัน” วิเคราะห์กันว่าสีจิ้นผิงมีอุปนิสัยรังเกียจผู้มีอำนาจที่วางโต ข่มเหงรังแกราษฎร รับสินบน ยักยอกเงิน ทำให้ทั้งพรรคและรัฐชราภาพอ่อนแอ ไม่สามารถนำพาประเทศและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป

กรณีป๋อซีไหลชี้ว่าภายในพรรคจีนมีความหลากหลายและการต่อสู้ทางความคิดแนวทางนโยบายอยู่ตลอด

ส่วนสำคัญเกิดจากการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจีนและของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แม้ดูว่าสีจิ้นผิงมีอำนาจเด็ดขาด แต่เขาก็มิได้ผูกขาดอำนาจแต่ผู้เดียว

3) การก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปี 2010 และไล่กวดติดสหรัฐ

พิจารณาจากการที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่องหลายสิบปี สามารถขยายจีดีพีของตนเป็นสองเท่าภายในเวลาเพียง 12 ปี ก็เห็นได้ว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนจะโตกว่าสหรัฐในเวลาไม่นานนัก ความรุ่งเรืองของจีนจึงปิดไม่มิด ไม่ว่าจะหมอบต่ำอย่างไร ก็เห็นได้และเป็นที่หวั่นเกรงไปทั่วโลก ท่าทีและนโยบายที่เหมาะสมก็คือการยอมรับความเป็นจริงนี้ โดยจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลก เพราะว่าเวทีโลกตอนนี้ก็สับสนอลหม่าน นอกจากมีประเทศมหาอำนาจเดิมแล้ว ยังมีประเทศตลาดเกิดใหม่ขึ้นมา โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมก็มีปัญหารุนแรงที่ต้องร่วมกันแก้ไข

4) นโยบายปิดล้อมจีนที่เรียกว่า “ปักหลักเอเชีย” (2011) ของสหรัฐ

เสาหลักของนโยบายนี้ คือการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกโดยประธานาธิบดีโอบามาและนางฮิลลารี คลินตัน รมต.กระทรวงต่างประเทศ ขณะนั้นลงแรงอย่างหนัก สร้างเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดขึ้น

โดยที่จีนไม่ได้เข้าร่วม

เหล่านี้บีบให้จีนต้องสร้างโครงการของตนเป็นเฉพาะ ได้แก่ ดำริโครงการแถบและทางเป็นการตอบโต้และเทียบเคียง

อย่างไรก็ตาม ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจนี้ไม่ได้บังคับใช้เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวออกมา และใช้มาตรการที่ฉับพลัน รุนแรงกว่าคือการทำสงครามการค้ากับจีนแทน ซึ่งยิ่งเป็นการบีบบังคับแก่จีนมากยิ่งขึ้น

ในการทำสงครามการค้าของจีนนั้น วิเคราะห์กันในสื่อตะวันตกบางแห่งว่า แม้ทั่วทั้งพรรคจีนจะเป็นเอกภาพกันในเรื่องการปฏิรูปและการเปิดกว้าง แต่ก็ยังแบ่งเป็นสองสาย ได้แก่ สายเหยี่ยวและสายพิราบ

สีจิ้นผิงอยู่สายพิราบ ต้องการที่จะหาทางออกจากความขัดแย้งที่ไม่เป็นผลดีต่อใครนี้ เท่าที่จะยอมได้

แต่ก็ยังมีสายเหยี่ยวที่ต้องการสั่งสอนสหรัฐให้รู้สำนึกเสียบ้างว่า การมาตอแยกับจีนนั้นเป็นความผิดพลาดที่จะส่งผลร้ายต่อผู้กระทำเช่นนั้นอย่างทันตาเห็น

การดำรงอยู่ของฝ่ายแข็งกร้าวดังกล่าวทำให้จีนไม่สามาถ “เสียหน้า” และยอมถอยให้แก่สหรัฐได้มากนัก ขณะที่สหรัฐก็ต้องการให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 คาดหมายว่าในการพบปะนอกรอบระหว่างสีจิ้นผิงและทรัมป์ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ที่นครโอซากาประเทศญี่ปุ่นในปลายเดือนมิถุนายน 2019 คงจะไม่สามารถเลิกราสงครามไปได้ อย่างมากเป็นเพียงการสงบศึกอีกครั้ง คือต่างฝ่ายไม่เก็บหรือเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีกเป็นการชั่วคราว รอการรบพุ่งหนักในคราวต่อไป

5) การลุกขึ้นมาต่อต้านการครองความเป็นใหญ่สหรัฐของผู้นำรัสเซีย

รัสเซียเป็นประเทศใหญ่แต่มีประชากรน้อย ไม่ถึง 150 ล้านคน แต่ก็ยังมากกว่าของญี่ปุ่นและเยอรมนี ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่เป็นมหาอำนาจทางทหารและพลังงาน ที่จีนต้องการพึ่งพา

การลุกขึ้นของรัสเซียมีผลสะเทือนไปทั่วโลก

สำหรับจีนแล้วก่อให้เกิดความอุ่นใจว่า หากต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐแล้ว จีนสามารถสร้างแกนจีน-รัสเซียที่สามารถรับมือกับสหรัฐได้ง่าย

นอกจากนี้ เป้าหมายการต่อสู้ของรัสเซียก็ไม่ใช่เพื่อการหักโค่นทำลายสหรัฐลงไป เพียงแต่ต้องการสร้างโลกหลายขั้วอำนาจที่รัสเซียมีบทบาทอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจีนก็ต้องการเช่นนั้น ท้ายสุดรัสเซียต้องการทำลายการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ

และการที่สหรัฐใช้เงินดอลลาร์และการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ เพื่อกดดันประเทศต่างๆ ให้คล้อยตามแนวทางนโนบายของสหรัฐ

นี่ก็เป็นความปรารถนาของจีนเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อถูกสหรัฐเปิดฉากทำสงครามการค้า จึงเห็นว่าพันธมิตรระหว่างจีน-รัสเซีย ไม่ได้เกิดจากสถานการณ์พาไปอย่างเดียว

ที่สำคัญมีความตรงกันทางแนวทางนโยบาย

ดังนั้น จึงมีความลึกซึ้ง ยากที่จะกัดกร่อนก่อความแตกแยก และทั้งสองประเทศก็ใช้เวลาดูใจกันพอสมควร ไม่ใช่รักแรกพบ

การเป็นอิสระ 4 ประการของจีน

จีนที่ได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก ต้องการความเป็นอิสระในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของตนอย่างชัดแจ้ง และต้องการเป็นพลังขับเคลื่อนหนึ่งในการนำพาโลก กล่าวอย่างจำแนก ท่ามกลางสงครามการค้า จีนต้องการประกาศและกระทำให้ความเป็นอิสระนี้เป็นจริงใน 4 ประการด้วยกัน

1) การเป็นอิสระทางการเงินการค้า กล่าวในทางสงครามการค้า หมายถึงการเป็นอิสระอย่างสัมพัทธ์จากเงินดอลลาร์และตลาดสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจของจีนไม่ตั้งอยู่บนฐานเงินดอลลาร์ หากตั้งอยู่บนฐานเงินหยวน และสกุลเงินอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ดังนั้น สงครามการค้าย่อมไม่ยุติไปง่ายๆ

2) การเป็นอิสระทางเทคโนโลยีและการทหาร จีนมียุทธศาสตร์ที่เป็นอิสระทางเทคโนโลยีขั้นสูงในปี 2025 สามารถผลิตอุปกรณ์ใช้เองในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ จากการที่ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ การเป็นอิสระทางเทคโนโลยีนี้ จะยกระดับการผลิตทางอุตสาหกรรมสู่ขั้นสูง ไม่ถูกชี้หน้าประณามว่าขโมยเทคโนโลยีผู้อื่นอีกต่อไป เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ไม่ได้ใช้เพียงการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่ยังใช้สำหรับการทหาร เป็นหัวใจของความมั่งคั่ง และความมั่งคงแห่งชาติ แต่ความเป็นอิสระนี้ถูกคุกคามอย่างหนักในสงครามการค้าโดยสหรัฐโหมปฏิบัติการอย่างหนัก เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่คาดว่าคงไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตด้านนี้ของจีนได้ อย่างมากเพียงชะลอเวลาออกไปเท่านั้น

3) การเป็นอิสระในการดำริโครงการพัฒนา ขณะนี้ที่เป็นหลักได้แก่ ดำริโครงการแถบและทาง ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นโครงการแห่งศตวรรษ และสหรัฐต่อต้านอย่างเปิดเผย ในการประชุมแถบและทางครั้งที่สอง ณ นครปักกิ่ง ปลายเดือนเมษายน 2019 สหรัฐก็ไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม ทั้งที่สหรัฐเป็นชาติที่ต้องการสร้างและทะนุบำรุงโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก ในด้านนี้จีนมีความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด

4) ความเป็นอิสระหรือการเป็นผู้นำในการสร้างประชาคมโลกใหม่ เป็นการต่อสู้ในระยะยาวว่าจีนหรือสหรัฐเหมาะที่จะเป็นผู้นำโลก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเดินทัพทางไกลใหม่ของจีน และการสร้างระบบการค้าโลกใหม่